Parents One

เตรียมรับมือ!! 4 โรคสำคัญ ป้องกันก่อนลูกรักเข้าเรียน ด้วยวัคซีนรวม คอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน-โปลิโอ

การดูแลสุขภาพร่างกายของเด็กๆ ไม่ให้เป็นโรค เป็นสิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ ยิ่งเปิดเทอมกันแล้ว เด็ก ในช่วงอายุ 4-6 ขวบที่เข้าโรงเรียน  ยิ่งจำเป็นต้องได้รับการปกป้อง ด้วยการสร้างภูมิคุ้มกันให้พร้อมรับมือ ซึ่งการฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิเพื่อป้องกันโรคต่างๆ เป็นหนึ่งในการเตรียมความพร้อมที่สำคัญ เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่า ในโรงเรียนที่มีเด็กอยู่รวมตัวกันเยอะๆ อาจมีโอกาสทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้ง่ายกว่าอยู่ที่บ้าน ซึ่งหากเด็กมีการติดเชื้อแล้ว อาจส่งผลกระทบทั้งสุขภาพ และการเรียนรู้ของเด็กได้โดยตรง

ทั้งสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่เพิ่งค่อยๆ ทุเลาลง ส่วนเด็กๆ ก็กำลังไปโรงเรียนกันแล้ว คุณพ่อคุณแม่อย่างเราจึงจำเป็นต้องพาลูกไปกระตุ้นภูมิคุ้มกันด้วยการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกัน 4 โรคสำคัญ  ซึ่งจะมีโรคอะไรบ้างที่เด็กมักจะเป็นในวัยเริ่มเข้าโรงเรียน เราไปหาคำตอบ และเตรียมรับมือกันได้เลยค่ะ

โรคบาดทะยัก ล้มนิดเดียว ก็อาจติดเชื้อได้

บาดแผลจากการเล่นเกิดขึ้นได้กับเด็กทุกวัย ไม่เว้นแม้แต่ผู้ใหญ่

เป็นเรื่องปกติที่ผู้ใหญ่มักจะบอกกับเด็กๆ ว่าอย่าวิ่ง!! ค่อยๆ เดิน เดี๋ยวล้มแล้วจะกลายเป็นบาดทะยักเอานะนั่นก็คงเพราะโรคบาดทะยักมันน่ากลัว และทำให้เราเจ็บปวด โดยเฉพาะตรงกล้ามเนื้อน่ะสิ พวกเขาถึงบอกให้เราระวัง อย่าให้ตัวเองหกล้มหรือมีแผลเลือดออก

ที่จริงแล้วบาดทะยักก็คือโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียร้ายแรงที่สามารถแพร่เข้าสู่ร่างกายทางบาดแผลได้ซึ่ง อาจมีอันตรายถึงชีวิต หากไม่ได้รับการรักษาบาดแผลอย่างถูกวิธี

อาการของการติดเชื้อบาดทะยัก โดยเฉลี่ยมักมีอาการภายใน 10-14 วัน ดังนั้น การรักษาแผลเบื้องต้นเมื่อลูกหกล้ม จึงควรรีบล้างแผล ฟอกสบู่แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด จากนั้นจึงเช็ดด้วยยาฆ่าเชื้อ เช่น แอลกอฮอล์หรือทิงเจอร์ใส่แผลสด แล้วรีบพาลูกไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก

โรคโปลิโอไม่มียารักษาเฉพาะ แต่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน!

โปลิโอ เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโปลิโอ  ซึ่งสามารถติดต่อจากคนสู่คนผ่านทางอุจจาระสู่ทางปาก สามารถแพร่ไปสู่ผู้อื่นผ่านการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อจากอุจจาระของผู้ป่วย ซึ่งเกิดจากการขับถ่ายที่ไม่ถูกสุขลักษณะและไม่ล้างมือก่อนทานอาหาร หรือเด็กอาจหยิบจับสิ่งของที่มีการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสโปลิโอเข้าปาก โรคนี้จึงมักพบในประเทศที่ด้อยพัฒนาและกำลังพัฒนาที่ขาดการดูแลเรื่องสุขอนามัยที่ดี

ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะเป็นเด็ก และมักไม่แสดงอาการ หรืออาจมีอาการเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อย แต่มีส่วนน้อยของผู้ติดเชื้อที่อาจมีอาการรุนแรง เช่น สมองอักเสบ อาการอัมพาตของแขนขาแบบเฉียบพลัน ส่งผลให้กล้ามเนื้อแขนขาลีบอ่อนแรง และอาจเกิดอัมพาตของระบบทางเดินหายใจ ทำให้หายใจไม่ออก และเสียชีวิตได้

 

โรคคอตีบ แค่ไอ จาม สัมผัส ก็ติดกันได้ง่ายๆ

เป็นโรคติดต่อร้ายแรงที่เกิดจากติดเชื้อระบบทางเดินหายใจจากเชื้อแบคทีเรีย ผ่านทางการไอ จาม สัมผัส หรือใช้สิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อร่วมกัน เช่น ขวดนม รวมทั้งข้าวของเครื่องใช้นั่นเอง

อาการของโรคคอตีบจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังจากเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายแล้วประมาณ 2-5 วัน เด็กจะมีอาการอักเสบในระบบทางเดินหายใจ มีไข้ เจ็บบริเวณในลำคอ และจมูก อวัยวะในลำคอบวม ส่งผลให้เด็กหายใจลำบากมากขึ้น ปวดศีรษะ น้ำมูกไหล อ่อนเพลีย ถ้าเป็นคอตีบของกล่องเสียง จะมีอาการบวมมาก จนทำให้หายใจไม่ออก ทำให้เด็กเล็กๆ เสียชีวิตได้ง่าย

โรคคอตีบ พบมากในเด็กก่อนวัยเรียน โดยเฉลี่ยคือช่วงอายุ 2 – 5 ปี หรือพบในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี ซึ่งเด็กกลุ่มนี้มักจะยังไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีน หรือฉีดวัคซีนไม่ครบ นอกจากนี้ ผู้ใหญ่ที่ไม่เคยได้รับภูมิคุ้มกันก็อาจป่วยเป็นโรคคอตีบได้ 

 

โรคไอกรน เด็กไอแรงจนหยุดหายใจ!!

โรคไอกรนเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับทุกวัย แต่จะมีความรุนแรงและอันตรายมากขึ้นหากเกิดในเด็ก ทั้งยังมีอาการคล้ายกับโรคหวัดทั่วไป ทำให้พ่อแม่หลายคนเกิดความเข้าใจผิด จึงไม่ทันได้ระวังกับโรคนี้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อตัวเด็กได้หากได้รับการรักษาไม่ทัน

โรคไอกรน เกิดจากการติดเชื้อของแบคทีเรีย ทำให้มีการอักเสบของเยื่อบุทางเดินหายใจ และเกิดอาการไออย่างรุนแรง หรือไอติดๆ กันเป็นจำนวนหลายครั้ง จนอาจทำให้เด็กหายใจไม่ทัน และมีอาการหายใจเข้าลึกๆ เป็นเสียงวู๊ปสลับกันไปกับการไอเป็นชุดๆ ในเด็กบางรายอาจจะเป็นเรื้อรังนานเป็นเวลา 2-3 เดือน

นอกจากนี้ โรคไอกรนอาจจะยังทำให้เกิดการชักในเด็กโต และในผู้ใหญ่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนทางสมองและเสียชีวิตได้ 

 

ทำไมพ่อแม่ถึงควรพาลูกรักมารับวัคซีนเข็มกระตุ้น

คุณพ่อคุณแม่เห็นไหมล่ะคะว่า ข้างนอกมีโรคที่อันตรายสำหรับเด็กๆ เยอะแยะเต็มไปหมดเลย ถ้าไม่อยากให้ลูกไปโรงเรียนแล้วติดเชื้อกลับมาที่บ้าน คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปฉีดวัคซีนคอตีบบาดทะยักไอกรน-โปลิโอ โดยมีวัคซีนรวม 4 โรค เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่สามารถฉีดกระตุ้นได้ในช่วงอายุ 4-6 ขวบ (แนะนำโดย ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (CDC) และสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กเเห่งประเทศไทย) เพื่อสร้างภูมิต้านทานที่ดี ให้ลูกมีสุขภาพแข็งแรง และที่สำคัญ คือ ช่วยส่งเสริมให้เกิดประสิทธิภาพในการเรียนแบบสมวัยได้อย่างเต็มที่อีกด้วย ซึ่งประโยชน์ของวัคซีนรวม 4 โรค คือ

นอกจากลูกจะได้รับวัคซีนครอบคลุมทั้งคอตีบบาดทะยักไอกรน-โปลิโอ ตามที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังทำให้เด็กๆ เกิดความกลัวการฉีดวัคซีนที่โรงพยาบาลน้อยลง แถมลูกไม่ต้องฉีด หรือเจ็บตัวหลายครั้งด้วยค่ะ ที่สำคัญ คือ ประสิทธิภาพไม่แตกต่างจากวัคซีนชนิดแยกเข็มเลยนะ และเนื่องจากวัคซีนไอกรนที่อยู่ในวัคซีนรวมโรค ได้พัฒนาเป็นชนิดไร้เซลล์ ทำให้โอกาสมีไข้น้อยลง

สามารถช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายโดยรวมให้คุณพ่อคุณแม่ได้ค่ะ เช่น ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปรับวัคซีนหลายครั้ง แล้วยังประหยัดเวลาในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย

นอกจาก 4 โรคสำคัญข้างต้นที่กล่าวมาแล้ว ยังมีโรคไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในช่วงนี้ด้วย ดังนั้นเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่จึงเป็นตัวช่วยที่ดี ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นประจำปีละ 1 ครั้ง ยิ่งในช่วงการระบาดของโรค หรือจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ที่ผ่านมา วัคซีนไข้หวัดใหญ่ก็จัดเป็นวัคซีนแนะนำสำหรับเด็กที่ควรฉีด เพราะมีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ทุกปีนั่นเอง แม้ว่าวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่จะไม่ได้ป้องกัน COVID-19 แต่สามารถช่วยแยกผู้ป่วยที่มีอาการต่างๆ คล้ายคลึงกับการติดเชื้อ COVID-19 ได้บางส่วน ทำให้ช่วยแยกโรค และช่วยลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ในสถานการณ์เช่นนี้ได้อีกด้วย

จะเห็นได้ว่า การป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน โปลิโอ โดยการฉีดวัคซีนรวม เป็นสิ่งสำคัญสำหรับเด็กๆ ในวัยก่อนเข้าเรียนอย่างมาก คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปรับการฉีดวัคซีนตามกำหนด หากจำเป็นต้องเลื่อนนัดจริงๆ ควรนัดให้ลูกมาฉีดวัคซีนอีกครั้งอย่างเร็วที่สุด

นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ต้องกังวลใจในการพาลูกไปรับวัคซีน เพราะที่โรงพยาบาลหลายๆ แห่ง ได้มีการให้บริการวัคซีนแบบปลอดภัยหรือ Vaccine Safe Zone เพื่อเตรียมบริการฉีดวัคซีน ซึ่งมีมาตรการให้บริการวัคซีนแบบปลอดภัย แยกจากการตรวจคนป่วยชัดเจน ทำให้มั่นใจได้ว่าลูกๆ จะได้รับการฉีดวัคซีนอย่างปลอดภัยแน่นอนค่ะ

#วัคซีนรวม4โรค #วัคซีนรวมพร้อมฉีด #ลูกฉันต้องมีภูมิ #VaccineSafeZone #วัคซีนไข้หวัดใหญ่

อ้างอิง

  1. สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย. ตารางการให้วัคซีนในเด็กไทย แนะนำโดย สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย 2563 [อินเทอร์เน็ต]. 2563 [เข้าถึงเมื่อ 1 เม..2563]. เข้าถึงได้จาก: https://pidst.or.th/A826.html.
  2. คำแนะนำการให้บริการวัคซีนในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19).เข้าถึงได้จาก https://www.pidst.or.th/A885.html.[ค้นคว้าเมื่อ 19 พฤษภาคม  2563]

 

MAT-TH-2000067 (06/2020)