Parents One

5 ปัญหาสุขภาพสุดฮิต ที่ต้องระวังในทารกแรกเกิด

ทารกวัยแรกเกิดเป็นช่วงที่คุณพ่อคุณแม่ต้องใช้ความละเอียดอ่อนในการเลี้ยงดูอย่างมาก เพราะเป็นช่วงที่ร่างกายของเด็กยังพัฒนาไม่สมบูรณ์นัก ดังนั้นเราจึงต้องเรียนรู้ถึงความผิดปกติและอาการต่างๆ ที่อาจเกิดกับลูกของเรา เพื่อหาทางรับมือได้ถูกต้องหากเราต้องเจอกับปัญหาสุขภาพต่างๆ เพื่อจะรักษาโรคได้ทันท่วงที ไปดูกันว่า 5 ปัญหาสุขภาพยอดฮิตในเด็กทารกแรกเกิดมีอะไรบ้าง และจะมีวิธีดูแลรักษาอย่างไร

1. ภาวะตัวเหลืองในทารก

อาการ

โดยปกติเด็กแรกเกิดทุกคนจะมีอาการตัวเหลือง อาจจะมากบ้างหรือน้อยบ้าง โดยมักจะพบว่ามีอาการตัวเหลืองมากที่สุดระยะ 3–4 วัน หลังเกิด ซึ่งคุณแม่จะต้องหมั่นสังเกตว่าลูกมีอาการตัวเหลืองมากจนถึงกับต้องไปพบแพทย์ เพื่อตรวจร่างกายและวินิจฉัยว่าไม่เป็นอันตรายต่อทารกหรือไม่

สาเหตุ

เด็กแรกเกิดที่มีภาวะตัวเหลืองจะเกิดจากปัจจัยเสี่ยงอันได้แก่ ทารกที่คลอดก่อนกำหนด ทารกที่มีกรุ๊ปเลือดไม่ตรงกับคุณแม่ ทารกที่เจ็บป่วยเป็นโรคหรือภาวะที่ทำให้เม็ดเลือดแดงแตกง่าย โดยเฉพาะภาวะพร่องจี 6 พีดี (G-6PD deficiency) ทารกได้รับน้ำนมแม่ไม่เพียงพอแล้วมีน้ำหนักตัวลดลง รวมถึงคุณแม่ที่เคยมีประวัติเกี่ยวกับบุตรที่ต้องได้รับการส่องไฟ เพื่อรักษาภาวะตัวเหลืองในทารกมาก่อน

การรักษา

หากพบทารกมีภาวะตัวเหลืองตั้งแต่แรกคลอด คุณหมอจะทำการรักษาตามวิธีมาตรฐานอยู่แล้วและอาจจะมีการนัดตรวจติดตาม บทบาทของคุณพ่อคุณแม่มือใหม่เพียงแค่พาลูกน้อยมาตรวจตามที่คุณหมอนัด สังเกตสีของอุจจาระหรือปัสสาวะของทารก หากพบว่ามีอาการผิดปกติ เช่น อุจจาระมีสีซีด หรือ ปัสสาวะมีน้ำตาลเข้ม หรือความผิดปกติอื่น ๆ เช่น มีไข้ ซึม ไม่ดูดนม หรือท้องอืด ควรพาลูกน้อยมาพบแพทย์ทันที

2. โรคร้องโคลิก

อาการ

โรคร้องโคลิก คือการที่เด็กทารกในช่วงอายุ 3 เดือนแรกมีอาการร้องไห้รุนแรงและร้องเป็นเวลานาน ร้องเสียงดังนานต่อเนื่อง 2-3 ชั่วโมง แต่อาการจะค่อยๆ ดีขึ้นช่วงอายุ 3-4 เดือน

สาเหตุ

อาการเหล่านี้ยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจน แต่เชื่อว่าน่าจะมีสาเหตุหลายๆ อย่างร่วมกันของระบบทางเดินอาหาร จิตวิทยาระบบประสาทและพัฒนาการในทารก

การรักษา

ข้อแนะนำในการดูแลทารกที่มีอาการ ได้แก่ การสร้างบรรยากาศในการเลี้ยงดูให้สงบ อุ้มทารกเมื่อมีอาการ โดยพยายามสังเกตว่ามีอะไรที่ทำให้ทารกไม่สบายตัว เช่น ผ้าอ้อมเปียก อากาศที่ร้อนหรือเย็นเกินไป ให้อาหารไม่มากหรือน้อยเกินไปหรือไม่ และถ้ามีอาการท้องอืดอาจให้ยาขับลมร่วมด้วย

3. อาการแหวะนม

อาการ

ลูกแหวะนม เป็นอาการที่พบได้ทั่วไป ซึ่งสังเกตได้จากที่ลูกนอนบิดตัวไปมาเหมือนอึดอัดไม่สบายท้อง ร้องกวนโยเยหลังจากทานนมเสร็จ หรือมีเสียงที่เกิดจากนมล้นขึ้นมาที่คอเป็นลักษณะครืดคราดคล้ายเสมหะ บางครั้งแหวะนมออกมาทั้งทางจมูกและปาก

สาเหตุ

อาการแหวะนมเป็นภาวะปกติที่พบได้บ่อยเกิดเนื่องจากหูรูดกระเพาะอาหารยังไม่แข็งแรง ทำให้นมไหลย้อนขึ้นมา

การรักษา

อาการแหวะนมในทารก แก้ไขได้ด้วยการจัดให้นอนศีรษะสูงประมาณ 30 องศาหลังทานนมนาน 15-30 นาที หรือให้ทานนมครั้งละน้อยๆ อาการจะค่อยๆ ดีขึ้นเรื่อยๆ ภายในขวบปีแรก หลังแหวะนมถ้าลูกยังสามารถดูดนมใหม่ได้ตามปกติ อารมณ์ดี ก็ถือว่าไม่น่าเป็นห่วง แต่ถ้ามีอาการอาเจียนพุ่ง มีน้ำดีหรือเลือดปน น้ำหนักไม่ขึ้น ควรรีบพาไปพบแพทย์

4. ภาวะติดเชื้อในเด็กแรกเกิด

อาการ

เมื่อเด็กทารกที่คลอดออกมาแล้ว อาจมีการแสดงของการอาการติดเชื้อได้หลายอย่างเช่น กินนมน้อย ซึม หายใจผิดปกติ ตัวซีดหรือบางรายอาจมีอาการชักเกร็ง ดังนั้นหากพ่อแม่เห็นว่าทารกมีอาการผิดปกติดังกล่าว ควรรีบพาทารกมาพบแพทย์อย่างรวดเร็ว

สาเหตุ

นับเป็นสิ่งที่ต้องระวังเป็นอย่างมาก เนื่องจากเด็กแรกเกิดนั้นยังมีภูมิต้านทานไม่มากพอจึงทำให้เกิดการติดเชื้อได้ โดยมากแล้วปัจจัยที่จะทำให้เด็กติดเชื้อส่วนใหญ่เชื้อจะมาจากแม่โดยเฉพาะแม่ที่มาภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนคลอดนานๆ เพราะเชื้อจากช่องคลอดจะเข้าไปในถุงน้ำคร่ำก่อให้เกิดการอักเสบและติดเชื้อและเข้าสู่ร่างกายของลูกได้

การรักษา

หากคุณแม่ตั้งครรภ์หากปวดท้องหรือมีน้ำเดินก็ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ ให้รีบมาพบแพทย์เลยทันทีเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะติดเชื้อในลูกที่เกิดมา

5. โรคทางเดินหายใจ

อาการ

โรคทางเดินหายใจในทารกเป็นหนึ่งในอาการป่วยที่พบได้บ่อยที่สุดในเด็ก เนื่องจากอากาศหรือปัจจัยภายนอก แม้ไม่ใช่การป่วยที่ร้ายแรงแต่อาจทำให้รู้สึกไม่สบาย หายใจลำบาก เบื่ออาหาร และมีปัญหาสุขภาพ โรคทางเดินหายใจ เช่น จมูก ปอด

สาเหตุ

เนื่องจากเด็กแรกเกิดที่เพิ่งออกมาจากครรภ์มารดาเป็นช่วงที่เปลี่ยนผ่านจากการอาศัยการดำรงชีวิตด้วยแม่มาเป็นตัวของตัวเอง ดังนั้นการทำงานของปอด หรือระบบหายใจอาจจะไม่เต็มที่นัก เรื่องของทางเดินหายใจจึงเป็นสิ่งที่แพทย์ต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ สำหรับเด็กคลอดปกติและอายุครรภ์ครบปัญหาเรื่องการหายใจจะไม่ค่อยน่ากังวลเท่าไหร่ แต่หากเป็นเด็กที่คลอดก่อนกำหนดหรืออายุครรภ์ไม่ถึง 36 สัปดาห์ก็จะต้องเฝ้าระวังเรื่องการทำงานของปอดเป็นพิเศษ

การรักษา

รักษาโดยต้องแยกลูกออกไปจากแหล่งที่ทำให้เกิดการติดเชื้อ จำกัดการสัมผัสโดยตรงกับคนที่ป่วย อีกทั้งต้องรักษาความสะอาดจมูกและช่องคอลูกเป็นประจำ ด้วยการพ่นน้ำเกลือที่ใช้ในทางการแพทย์ให้กับลูกทุกวัน ที่สำคัญการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จนอายุครบ 6 เดือน จะทำให้ลูกรักได้รับภูมิคุ้มกันจากแม่ เป็นการสร้างพื้นฐานสำหรับระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงให้กับลูกได้เป็นอย่างดีค่ะ

ที่มา – honestdocssi.mahidolpaolohospital