Parents One

5 กลยุทธ์รับมือกับคนพูดไม่ดีให้เด็กฟัง

ไม่ว่าจากคนรอบข้าง ญาติพี่น้อง เพื่อนๆ ของพ่อแม่ หรือแม่แต่เพื่อนของลูกที่หวังดีทั้งหลาย บางครั้งเราจะเจอกับคำพูดบางคำที่อาจทำให้ลูกรู้สึกไม่ดี ทั้งๆ ที่บางทีคนพูดอาจจะพูดโดยไม่ทันคิดหรือพูดไปโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่กลับกลายว่าทำให้เด็กเก็บเอาไปคิดและกังวลจนทำให้เกิดผลเสียต่างๆ ตามมา วันนี้เรามีวิธีรับมือกับคนพูดจาไม่ดีให้ลูกฟัง จะมีวิธีอะไรบ้างไปติดตามกันค่ะ

1. สอนให้ลูกรู้จักแยกแยะคำพูดของคนอื่น

สอนลูกให้รู้จักแยกแยะคำพูดให้เป็น เช่น คำพูดไหนที่จริงเป็นคำพูดเตือนสติ ก็สอนให้ลูกนำมาปรับปรุง พัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น คำพูดไหนที่คนอื่นพูดแล้วไม่จริง พูดเรื่องที่ไร้เป็นประโยชน์ เราก็ไม่ต้องนำมาใส่ใจ

2. เป็นตัวอย่างให้ลูกเรื่องการจัดการกับความรู้สึก

สอนลูกว่าพ่อแม่ก็คือคนธรรมดาทั่วไปที่มีอารมณ์ความรู้สึกเหมือนกันเวลาใครมาพูดไม่ดีหรือว่าเรา อยู่ที่ว่าเราจะนำมาใส่ใจหรือตอบโต้แบบไหน บอกลูกว่าสามารถรู้สึกโกรธ โมโหได้ แต่ควรแสดงออกในลักษณะที่เหมาะสม ไม่ตอบโต้ด้วยวาจารุนแรง หรือท่าทางที่ไม่สุภาพ

3. เข้าควบคุมสถานการณ์ เมื่อคุณพ่อคุณแม่อยู่กับลูกด้วย

เมื่อคนอื่นสั่งสอนหรือพูดจาไม่ดีกับลูก ในขณะที่คุณพ่อคุณแม่ก็อยู่ที่นั่นด้วย ให้เราลองรับฟังและตอบโต้ตามสมควรโดยไม่ใช้วาจาที่รุนแรง หรือทำท่าทางโมโห เพื่อให้ลูกเห็นเราเป็นตัวอย่างที่ดี เช่น ถ้าลูกทำผิดแล้วคนอื่นมาว่า เราก็บอกเค้าไปว่าขอโทษแทนลูก แล้วให้ลูกขอโทษด้วย หลังจากนั้นก็บอกลูกว่าอย่าทำอีกนะคะ แบบนี้ไม่น่ารัก แม่อยากให้หนูน่ารักกับทั้งแม่และคนอื่นๆ

4. สอนลูกว่าความรู้สึกต่างๆ มีได้แต่ไม่ได้อยู่กับเราตลอดไป

สอนให้ลูกรู้ว่าความรู้สึกต่างๆ ไม่ว่าโกรธ โมโห เกลียด มีได้แต่ไม่ได้อยู่กับเราตลอดไป สามารถหายไปได้ถ้ารู้จักวิธีจัดการกับมัน เช่น เมื่อเจอคนพูดไม่ดีแล้วลูกโมโหก็บอกลูกว่าใจเย็นๆ หายใจเข้าลึกๆ หรือเวลาลูกรู้สึกกดดันและเสียใจ ให้จับมือลูกไว้ และปลอบใจลูก เค้าจะได้รู้สึกว่าคุณพ่อคุณแม่อยู่เคียงข้าง เป็นกำลังใจให้เค้าเสมอ

 

5. ถ้าทำได้ให้กำหนดขอบเขตของคนพูด

หากคุณรู้สึกไม่สบายใจที่มีคนอื่นมาสั่งสอนลูก เพราะอาจเป็นคนในครอบครัว เพื่อนของคุณ คนที่ทำงาน หรือเป็นคนที่คุณมีความสัมพันธ์ที่ดีด้วย แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ควรกำหนดขอบเขตการที่คนอื่น สั่งสอน ทำโทษลูกของคุณ วิธี
นี้จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้

บางครั้งคุณพ่อคุณแม่ต้องกำหนดขอบเขตของคนที่จะพูดด้วย โดยการพูดคุยให้ไปในแนวทางที่เราอยากให้เป็น เพื่อให้มีการเว้นระยะระหว่างกันและกัน ที่สำคัญ คือ เพื่อป้องกันการถาม – ตอบคำถามแบบกำกวมให้ลูกรู้สึกไม่ดีนั่นเองค่ะ

การพูดจาไม่ดีที่พบบ่อยคือที่โรงเรียน โดยเฉพาะการพูดล้อเลียน หรือพ่อแม่ของเพื่อนลูกพูดจาเปรียบเทียบ ซึ่งการทำแบบนี้บ่อยๆ โดยไม่สอนให้ลูกรู้จักวิธีรับมือจะทำให้เด็กรู้สึกว่าสิ่งนั้นเป็นปมด้อยของเขา หรือทำให้เขามีอารมณ์โกรธโดยไม่จำเป็น กลายเป็นคนโกรธง่าย หรือขี้โมโหเพราะมีคนไปกระเช้าเย้าแหย่เขามากจนเกินไป

คำพูดไม่ดีไม่มีใครต้องการ ดังนั้น ให้เราสอนลูกเสมอว่า หากเราอยากให้ใครพูดอะไรอย่างไร ทำอะไรให้เรา เราต้องให้อย่างนั้นกับคนอื่น ถ้าเราไม่ชอบก็อย่าไปทำแบบนั้นกับใคร หรือถ้ามีใครมาพูดไม่ดีลูกก็จะรับรู้ว่าเป็นคำพูดที่ไม่ต้องนำมาใส่ใจ ทำให้ลูกมีภูมิคุ้มกัน ไม่อ่อนไหวต่อคำพูดไม่ดีของคนอื่นค่ะ