Parents One

7 สาเหตุที่ทำให้เจ้าตัวเล็กไม่ยอมไปเข้าห้องน้ำจนท้องผูก

ท้องผูกเป็นภาวะที่ลูกอึน้อยครั้งหรืออึไม่ออก ซึ่งอึจะมีลักษณะเป็นเม็ดเล็กๆ แห้งและแข็งมาก จึงต้องใช้แรงเบ่งมากจนรู้สึกเจ็บ โดยท้องผูกนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุไม่ว่าจะเป็น ไม่ยอมทานผัก หรือดื่มน้ำน้อย แต่หลายครั้งที่การท้องผูกของลูกเกิดขึ้นจากการที่เขาปวดอึแต่ไม่ยอมไปเข้าห้องน้ำ เรามาดูกันดีกว่าว่ามีเหตุผลอะไรบ้างที่ทำให้เขากลั้นอึ จนเป็นสาเหตุให้ลูกท้องผูกค่ะ

โดนหลอกด้วยเรื่องน่ากลัว

เด็กๆ มักจะโดนหลอกจากพ่อแม่หรือคนที่โตกว่าเกี่ยวกับเรื่องน่ากลัวๆ ในห้องน้ำ เช่น ในห้องน้ำจะมีสัตว์ประหลาดอาศัยอยู่ในท่อ ใต้ฝ้า หรือในชักโครก รวมไปถึงสิ่งที่มองไม่เห็นต่างๆ ทำให้เด็กๆ ไม่กล้าที่จะเข้าห้องน้ำ และยอมกลั้นอึนั่นเอง

วิธีการแก้ไข : อย่าหลอกให้ลูกกลัวเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องสนุก ความกลัวของเด็กอาจจะฝังใจเขาไปจนโตเลยก็ได้ โดยในช่วงแรกคุณพ่อคุณแม่อาจจะเข้าห้องน้ำไปพร้อมกับลูก เพื่อให้เขารู้สึกสบายใจ และรู้สึกว่าห้องน้ำไม่น่ากลัวเหมือนที่คนอื่นๆ เล่ามา

 

แขยงการเข้าห้องน้ำ

คุณพ่อคุณแม่อาจจะสงสัยว่าแขยงการเข้าห้องน้ำคืออะไร เคยสังเกตไหมคะว่าเด็กบางคนชอบเขย่งเท้าเวลาเดินไปเข้าห้องน้ำ หรือเวลานั่งโถส้วมก็นั่งแบบกระมิดกระเมี้ยน ไม่ยอมนั่งให้เต็มก้นทั้งที่เป็นห้องน้ำที่บ้าน นั่นคืออาการแขยงห้องน้ำนั่นเอง และเมื่อเด็กรู้สึกแขยงจนไม่อยากเข้าห้องน้ำ เวลาที่เขาปวดอึก็มักจะกลั้นเอาไว้ รอจนไม่ไหวจริงๆ จึงจะยอมไปเข้าห้องน้ำ

วิธีการแก้ไข : อาจจะหารองเท้าให้ลูกใส่ในห้องน้ำ พยายามล้างห้องน้ำที่บ้านให้สะอาดอยู่เสมอ ถ้าต้องไปเข้าห้องน้ำข้างนอกก็พกทิชชู่เปียกเอาไว้เช็ดทำความสะอาด ก็จะช่วยให้ลูกรู้สึกแขยงห้องน้ำได้น้อยลง

 

กลัวความมืด

ความมืดเป็นสิ่งที่เราไม่รู้ว่ามีอะไรรออยู่ข้างหน้า ยิ่งกับเด็กแล้วเขาก็ยิ่งรู้สึกกลัวมากขึ้นกว่าปกติ และเมื่อได้ยินคำบอกเล่าของผู้ใหญ่ว่าในความมืดนั้นน่ากลัว มีบางสิ่งบางอย่างอยู่ เวลาที่ลูกปวดอึอยากเข้าห้องน้ำ ก็จะไม่กล้าเข้า โดยเฉพาะในเวลากลางคืน ห้องน้ำจะกลายเป็นสถานที่ที่เด็กๆ ไม่ชอบไปเลย

วิธีการแก้ไข : เริ่มต้นจากการอย่าหลอกลูกว่าในความมืดมีสิ่งน่ากลัวรออยู่ และคุณพ่อคุณแม่อาจเปิดไฟห้องน้ำไว้เพื่อให้มีแสงสว่างเวลาที่ลูกไปเข้าห้องน้ำ 

 

กลัวโดนเพื่อนล้อ

หากยังจำกันได้ ตอนเด็กๆ เวลาที่เราหรือมีเพื่อนไปเข้าห้องน้ำนานๆ มักจะมีการล้อว่า “ว้าย ไปอึมาหรอ” “เหม็นๆ” “ไอ้คนอึแตก” ในวัยของลูกที่ไปโรงเรียนก็เช่นเดียวกัน แน่นอนว่าต้องมีการล้อกันเกิดขึ้นซึ่งทำให้เวลาอยู่ที่โรงเรียน เด็กๆ มักจะไม่ชอบเข้าห้องน้ำนานๆ หากปวดอึก็จะกลั้นไว้ อดทนเพื่อกลับมาอึที่บ้านเพราะกลัวโดนเพื่อนล้อนั่นเองค่ะ

วิธีการแก้ไข : พูดให้ลูกเข้าใจว่าการไปเข้าห้องน้ำเพื่อขับถ่ายเป็นเรื่องธรรมชาติ ใครๆ ก็อึทั้งนั้น นี่ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ หนูไม่จำเป็นต้องอาย

 

มีเหตุการณ์ฝังใจในห้องน้ำ

การที่ลูกไม่ยอมไปเข้าห้องน้ำอาจมีสาเหตุมาจากเขามีเหตุการณ์ฝังใจที่เกิดขึ้นในห้องน้ำก็ได้ค่ะ เช่น เคยลื่นล้มในห้องน้ำ นั่งโถส้วมแล้วหงายท้อง ก้นจุ่มลงไปในชักโครก เห็นจิ้งจก แมลงสาป หรือสัตว์ที่เขากลัววิ่งอยู่ในห้องน้ำ เลยมีภาพจำว่าถ้าเข้าห้องน้ำอาจจะเกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาอีก ถ้าเขาปวดฉี่ก็อาจจะยอมเข้าเพราะใช้เวลาไม่นานในการทำธุระ แต่ถ้าปวดอึเขาก็อาจจะกลั้นไว้เพราะไม่อยากใช้เวลาอยู่ในห้องน้ำนานๆ ก็เป็นได้ค่ะ

วิธีการแก้ไข : สอนให้ลูกรู้จักระมัดระวัง ว่าในห้องน้ำนั้นลื่น เวลาเดินหรือนั่งโถส้วมก็ต้องค่อยๆ ไม่ต้องรีบเพื่อทำให้เขามั่นใจว่าเหตุการณ์เหล่านั้นจะไม่เกิดขึ้นอีก

 

ทำกิจกรรมเพลินเกินไป

การทำกิจกรรมอย่างเพลิดเพลินก็เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ลูกไม่ยอมไปเข้าห้องน้ำได้ค่ะ เพราะในขณะที่เขากำลังทำสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกำลังดูการ์ตูน เล่นของเล่น เล่นกับเพื่อน ก็เป็นช่วงเวลาที่เขากำลังจดจ่อ ไม่อยากให้มีอะไรมาขัดจังหวะ ดังนั้นถ้าเขาเกิดปวดอึขึ้นมา จึงเป็นเรื่องธรรมดามากๆ ที่เขาจะยอมกลั้นอึ แล้วรอให้เล่นหรือทำกิจกรรมต่างๆ เสร็จก่อนแล้วค่อยไปอึนั่นเอง แต่เมื่อถึงเวลานั้นอาการปวดอึอาจจะหายไป เขาเลยไม่ได้เข้าห้องน้ำ พอทำแบบนี้นานเข้าก็อาจทำให้ลูกท้องผูกได้

วิธีการแก้ไข : สอนให้ลูกรู้จักทำอะไรด้วยความพอดี และรู้จักแบ่งเวลาในการทำสิ่งต่างๆ 

 

ลูกเจ็บก้นเวลาถ่าย

หลายครั้งที่เด็กๆ มักจะชอบกลั้นอึเพราะเขาเจ็บก้นเวลาถ่าย โดยเขาอาจเคยมีประสบการณ์ที่ไม่ดีมาก่อนทำให้กลัวการถ่าย ไม่อยากเบ่ง ถ้าเบ่งแล้วเจ็บ เด็กจึงกลั้นไว้ ในช่วงแรกลูกอาจจะไม่ได้มีอาการท้องผูก เพียงแต่ว่าอึค่อนข้างแข็ง เพราะดื่มน้ำน้อย ไม่ยอมทานผัก แต่เมื่ออึแข็งแล้วไม่อยากแบ่ง ไม่ยอมถ่ายนานๆ เข้า ก็ยิ่งทำให้มีอาการท้องผูกเรื้อรัง 

วิธีการแก้ไข : เริ่มต้นตั้งแต่การปรับพฤติกรรมของลูกเพื่อให้อึนิ่ม คือพยายามให้ดื่มเปล่าเยอะๆ ทานผักและผลไม้ และดูแลลำไส้ของลูกให้ดีอยู่เสมอด้วยการให้ลูกทานอาหารหรือการเสริมด้วยนมที่มีจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์อย่างจุลินทรีย์แล็กโทบาซิลลัส รียูเทอรี หรือที่เรียกว่า แอล รียูเทอรี

เมื่อลูกท้องผูกแล้ว คุณพ่อคุณแม่อย่างเราก็ต้องมีวิธีการดูแลเจ้าตัวเล็กอย่างถูกต้องและเหมาะสม คือเริ่มตั้งแต่ปรับความคิดของลูกที่เกี่ยวข้องกับเรื่องกลั้นอึ คือ ต้องคอยสอนลูกว่าเมื่อปวดอึก็ต้องอึ อย่าอั้นไว้ เพราะจะส่งผลเสียต่อสุขภาพและเวลาที่หนูอึไม่ออกก็จะทรมานอีกด้วย

หลังจากนั้นก็ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเขาด้วยการฝึกให้ลูกขับถ่ายอย่างเป็นเวลา อาจหาหนังสือนิทานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องอึ หรือเรื่องของการขับถ่ายมาอ่านให้ลูกฟัง ออกกำลังกายและขยับร่างกาย ควรให้ลูกดื่มน้ำเยอะๆ และเลือกอาหารที่มีประโยชน์ต่อการขับถ่ายอย่างผัก ผลไม้ รวมไปถึงจุลินทรีย์แล็กโทบาซิลลัส รียูเทอรีหรือแอล รียูเทอรี ที่พบได้ในนมแม่

จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์แอล รียูเทอรีคืออะไร 

จุลินทรีย์แอล รียูเทอรี เป็นจุลินทรีย์ที่ช่วยกระตุ้นการขับถ่าย โดยจะช่วยเพิ่มจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อระบบทางเดินอาหารและลำไส้ อีกทั้งยังช่วยยับยั้งจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคด้วยการแย่งพื้นที่ในลำไส้และแย่งอาหารที่จุลินทรีย์ตัวร้ายชอบ เพื่อสร้างความสมดุลให้จุลินทรีย์ในลำไส้ ซึ่งจะช่วยให้ลูกขับถ่ายคล่องนั่นเอง

นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาท้องผูกแล้ว ยังมีการศึกษาจากทางการแพทย์ที่พบว่า จุลินทรีย์แอล รียูเทอรี นั้นช่วยลดการปวดท้อง ลดการแหวะนม และลดภาวะโคลิกในเด็ก ที่สำคัญจุลินทรีย์ชนิดนี้ยังได้รับการรับรองความปลอดภัยโดยองค์กรความปลอดภัยด้านอาหารระดับสากลอีกด้วย

เป็นยังไงบ้างคะกับสาเหตุที่ทำให้ลูกน้อยมีอาการท้องผูก ซึ่งอาการเหล่านี้คุณพ่อคุณแม่อาจจะใช้เวลาแก้ไขและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกสักหน่อย เพื่อให้ลูกไม่กลั้นอึจนเกิดการท้องผูกตามมา และหากมีลูกมีอาการท้องผูกก็ควรรีบแก้ไข เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสุขภาพขึ้นในอนาคตค่ะ

#จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในเด็ก #แอลรียูเทอรี #ท้องแฮปปี้  #ลูกน้อยเติบโตแฮปปี้ทุกวัน

อ้างอิง