Parents One

“สังคมก้มหน้า!” ไม่อยากให้ลูกติด Smartphone แก้ด้วย 6 วิธีชวนลูกมาเรียนรู้การเข้าสังคมแทนการนั่งจ้องหน้าจอ

ปฏิเสธไม่ได้เลยค่ะ ว่าในยุคสมัยนี้ พ่อแม่ส่วนใหญ่มักคิดว่าเครื่องมือที่ช่วยให้เด็กเรียนรู้สิ่งต่างๆ แบบไร้ขอบเขต นั่นก็คือโทรศัพท์มือถือ (Smartphone) ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดไปซะทีเดียว แต่เจ้าโทรศัพท์มือถือตัวร้ายก็อาจจะส่งผลกระทบต่อลูกมากกว่านั้น เช่น ลูกอาจจะอยู่คนเดียวจนชินกับหน้าจอ ทำให้เข้าสังคมจริงไม่เป็น

จะดีกว่าไหม? ถ้าให้ลูกได้เล่น พร้อมทั้งเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ในชีวิตจริง เราจึงขอแนะนำ 6 วิธีชวนลูกมาเรียนรู้การเข้าสังคมแทนการนั่งจ้องหน้าจอมือถือ ไปดูกันเลยค่ะ

วิธีที่ 1 : สอนให้ลูกรู้วิธีทำความรู้จักกับคนอื่นก่อน

การทำความรู้จักกับผู้อื่นก่อนไม่ใช่เรื่องผิด หรือเรื่องน่าอายอะไร หากเราจะเป็นผู้เริ่มต้น กล้าทักทาย พูดคุย และมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นก่อน มองคนด้วยความเสมอภาค และความเท่าเทียมกัน โดยที่ยังไม่ต้องรู้จักกัน วิธีนี้จะช่วยให้ลูกได้เพื่อนที่เขาสามารถไว้ใจได้เพิ่มขึ้นเยอะเลยค่ะ การรู้จักสื่อสารในสิ่งที่ไม่คุ้นเคย และปรับตัวได้เร็วกับสิ่งแวดล้อมนอก Comford Zone จะทำให้ลูกนั้นได้เปรียบในการใช้ชีวิตทุกด้าน ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากเมื่อลูกโตขึ้น

คุณพ่อคุณแม่จึงควรปลูกฝัง และส่งเสริมทักษะให้ลูกสานสัมพันธ์กับผู้อื่นก่อน รู้วิธีการเข้าหาผู้อื่นโดยใช้การสื่อสารที่ไม่อึดอัดจนเกินไป เมื่อลูกเติบโตขึ้น เขาจะรู้จักทำความรู้จักกับสิ่งที่แตกต่าง และกล้ามีสังคมใหม่ๆ ไม่ยึดติดกับสิ่งเดิมๆ นั่นเอง

 

วิธีที่ 2 : พาลูกไปพบปะเพื่อนใหม่และเจอสังคมใหม่ๆ

คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปเปิดโลกหาประสบการณ์ที่แปลกใหม่ เจอเพื่อน และสังคมใหม่ๆ ที่รัก และชอบในสิ่งเดียวกัน ซึ่งการพบปะเพื่อนใหม่ในช่วงวัยเดียวกันที่หลากหลายในสังคมใหม่ๆ จะช่วยให้ลูกรู้จักเรียนรู้ที่จะปรับตัวเพื่อให้เข้ากับสังคม และสิ่งแวดล้อมนั้นๆ อีกทั้งยังทำให้สังคมลูกเปิดกว้างมากขึ้นนั่นเองค่ะ

การที่จะพาลูกไปเจอเพื่อนใหม่ก็มีช่องทางที่หลากหลายทีเดียวค่ะ หากคุณพ่อคุณแม่ไม่อยากให้ลูกเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ในวันหยุด เราขอแนะนำให้คุณลองถามลูกว่า วันเสาร์ – อาทิตย์ที่จะถึงนี้ ลูกอยากทำกิจกรรมอะไรไหม? พ่อกับแม่จะพาไป เช่น พาไปค่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นค่ายเพื่อสังคมหรือค่ายเกี่ยวกับธรรมชาติล้วนเสริมสร้างพัฒนาการและทักษะการเข้าสังคม และยังทำให้เด็กๆ เป็นคนที่รู้จักที่จะทำเพื่อสังคมอีกด้วย

วิธีนี้จะช่วยให้เขาเจอสังคมใหม่ๆ ที่สำคัญ คือ ไม่ต้องมานั่งจับโทรศัพท์มือถือทั้งวัน ให้เขาได้กล้าแสดงออกทางความคิด และพาเขาไปลงมือปฏิบัติจริง เช่น พาลูกไปปั้นเครื่องปั้นดินเผา, เข้าคลาสเต้น หรือจะพาไป Workshop กิจกรรมหรือดูงานศิลปะต่างๆ ตามที่ลูกอยากจะทำค่ะ

 

วิธีที่ 3 : ฝึกลูกให้เข้าสังคมด้วยบทบาทสมมติ

การที่คุณพ่อคุณแม่สวมบทบาทสมมติจะช่วยให้ลูกสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้ง่ายยิ่งขึ้น อาจเริ่มจากเรื่องง่ายๆ อย่างเช่น เลือกนิทานมาสักเรื่องหนึ่งแล้วสวมบทบาทเป็นตัวละครนั้นๆ หรือลองเป็นคนแปลกหน้าพูดคุยกับลูก เพื่อสร้างความคุ้นเคยในการเข้าสังคม เช่น ลองสวมบทบาทเป็นคนขายของ เพื่อให้ลูกรู้จักถามราคา ถามหาความต้องการของตัวเอง รวมไปถึงรู้จักขอบคุณหรือขอโทษ หากสวมบทบาทเป็นคนที่กระทำผิด

การเล่นบทบาทสมมติเป็นการช่วยฝึกการเข้าสังคม อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างจินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งมีความสำคัญมากสำหรับเด็กในวัยปฐมวัย และช่วยส่งเสริมทักษะด้านต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ในช่วงแรกลูกอาจจะยังทำได้ไม่ดีนัก เพราะเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับลูกๆ อาจให้ลองสมมติตัวเองเป็นคนแปลกหน้าแล้วสร้างสถานการณ์ใกล้ตัว เช่น สวมบทบาทเป็นคนหลงทางแล้วมาถามทาง ลูกจะได้สนุกกับการฝึก และไม่เคร่งเครียดเกินไป

ข้อดีของการเล่นบทบาทสมมติ นอกจากจะช่วยให้ลูกผูกมิตรกับเพื่อนคนอื่นๆ ที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนแล้ว ยังช่วยให้ลูกเอาตัวรอดได้ในสถานการณ์ต่างๆ เช่น สามารถร้องขอให้ผู้อื่นช่วยในสิ่งที่ตัวเองทำไม่ได้ หรือเมื่อหลงกับคุณแม่ ก็สามารถเดินไปขอความช่วยเหลือจากคนที่อยู่รอบๆ ได้ค่ะ

 

วิธีที่ 4 : ชวนลูกไปกระชับสัมพันธ์กับเพื่อนให้มากกว่าเดิม

การที่ให้ลูกไปหาเพื่อน หรือไปเล่นกับเพื่อนในสมัยนี้เป็นเรื่องยาก เพราะเด็กๆ มักจะจมอยู่กับหน้าจอโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานาน เล่นจนเพลิน ไม่ลุกไปไหน ทำให้ส่งผลเสียต่อลูกน้อยเป็นอย่างมาก เช่น เป็นโรคสมาธิสั้น ซึ่งต้องใช้เวลา และค่ารักษาในการรักษาที่ยาวนานกว่าจะหายขาด

แต่ ‘เพื่อน’ เป็นความสัมพันธ์รูปแบบหนึ่งที่จะช่วยให้ลูกสนใจโทรศัพท์มือถือน้อยลงได้ โดยเฉพาะเมื่อได้เจอหน้ากัน ได้เล่นและได้พูดคุยกัน ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยให้ลูกระชับความสัมพันธ์กับเพื่อนให้มากขึ้นกว่าเดิมได้ด้วยการให้ลูกชวนเพื่อนมาเล่นที่บ้าน หรือชวนไปเที่ยวด้วยกันทั้ง 2 ครอบครัว อย่างไปทะเล หรือไปตั้งแคมป์ในป่า เพราะเมื่อมีเพื่อนๆ มาเล่นหรือไปเที่ยวด้วยจะช่วยคลายความเหงาแล้ว ยังทำให้เด็กๆ ได้ใช้เวลาอยู่ด้วยกัน และทำให้การเล่นหรือไปเที่ยวในครั้งนั้นสนุกขึ้น

นอกจากนี้เมื่อลูกได้อยู่ร่วมกันกับคนในวัยเดียวกันก็จะมีข้อดีในการช่วยลูกฝึกควบคุมอารมณ์ การแบ่งปัน และเรียนรู้การอยู่ร่วมกันระหว่างเพื่อน รวมไปถึงเป็นการทำให้ลูกได้รู้จักคำว่ามิตรภาพมากขึ้นอีกด้วย

 

วิธีที่ 5 : เล่นกับลูกเพื่อค้นหาตัวตน ส่งเสริมศักยภาพที่แท้จริง

การดึงลูกออกมาจากการเล่นเกมหรือเล่นโทรศัพท์มือถือ มาสู่การเล่นในโลกแห่งความเป็นจริงมีข้อดีมากมายที่คุณพ่อคุณแม่คาดไม่ถึงเลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูก สร้างความสุข นอกจากนี้การเล่นกับลูกมีข้อดีมากกว่าแค่ความสนุก เพราะเด็กจะแสดงตัวตนของเขาผ่านการเล่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความคิด ทัศนคติหรือความสนใจที่เขากำลังสนใจอยู่ในขณะนั้น ทำให้พ่อแม่สามารถมองเห็นตัวตนของลูกได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

สำหรับกิจกรรมที่พ่อแม่สามารถเล่นกับลูกได้ เช่น เล่านิทานให้ฟัง แต่เป็นนิทานในเวอร์ชันที่ช่วยกันแต่งเติม สร้างสรรค์จินตนาการลงไป เพื่อให้ลูกกล้าแสดงออกและกล้าแสดงความคิดเห็น หรือจะเป็นการเล่นของเล่นที่เกี่ยวข้องกับพวกตรรกะต่างๆ เช่น หมากรุก เพื่อเป็นการฝึกทักษะสมอง ช่วยให้ลูกคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหาอย่างมีเหตุมีผล และรู้จักการวางแผน หรือจะเป็นของเล่นง่ายๆ อย่างตัวต่อเลโก้ ก็เป็นของเล่นที่ทำให้เราสังเกตลูกได้เช่นกัน ว่าเขาหยิบจับเลโก้มาต่อเป็นอะไร มีความสนใจด้านไหนอยู่

การที่เรารู้ว่าลูกกำลังสนใจสิ่งใดจะทำให้เราเข้าถึงลูกได้มากขึ้น สามารถค้นหาตัวตนของลูกว่าเขากำลังคิดหรือรู้สึกอย่างไรอยู่ เพื่อที่จะได้ผลักดันเขาไปในทางที่เหมาะสมและส่งเสริมศักยภาพที่แท้จริงของลูก และทำให้ลูกมีเป้าหมายในการดำเนินชีวิตที่ชัดเจนมากขึ้น

 

วิธีที่ 6 : สอนให้ลูกรู้ถึงผลเสียของการอยู่กับหน้าจอที่มากเกินไป

แน่นอนว่าเหรียญย่อมมี 2 ด้าน ปฏิเสธไม่ได้ว่าสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลมากๆ กับผู้คนในยุคนี้ เพราะเต็มไปด้วยข่าวสารที่หลากหลาย ทำให้การติดต่อสื่อสารระหว่างกันเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว กับผู้ใหญ่ยังติดโทรศัพท์ นับประสาอะไรกับเด็กตัวเล็กๆ ที่พร้อมจะรับรู้ทุกเรื่องราว ในเด็กเล็กเราเลือกได้ที่จะไม่หยิบยื่นโทรศัพท์มือถือให้ลูกก่อน แต่ในเด็กโต การห้ามไม่ให้ลูกเล่นโทรศัพท์คงจะเป็นเรื่องยาก ดังนั้นจึงต้องมีการตกลงร่วมกันระหว่างพ่อแม่และลูกในการใช้โทรศัพท์มือถือ

คุณพ่อคุณแม่ควรที่จะสอนให้ลูกรู้ถึงผลเสียของการอยู่แต่หน้าจอว่าจะส่งผลอย่างไรต่อตัวของลูกเองบ้าง ทั้งในปัญหาของเรื่องสุขภาพ สายตา รวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวและสังคม ที่สำคัญคือการคุยกันด้วยเหตุผล อย่าใช้อารมณ์หรือการขู่ให้ลูกเลิกเล่นโทรศัพท์ เช่น อาจจะบอกลูกว่า “หนูรู้ไหมว่าการอยู่แต่หน้าจอนานๆ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคทางสายตา ตาอาจจะแห้งได้ หนูมีดวงตามีคู่เดียว ก็ควรที่จะรักษาและดูแลให้ดีนะลูก”

หรือจะเป็นเรื่องของการกระทบความสัมพันธ์ระหว่างคนรอบตัว ว่าการอยู่แต่หน้าจอจะทำให้คนที่อยู่ใกล้ตัวรู้สึกห่างกันไปเรื่อยๆ คุณพ่อคุณแม่ควรพูดหรือใช้การถามให้ลูกสะท้อนความคิดของตัวเองออกมา เช่น “หนูรู้สึกไม่ดีใช่ไหมถ้าพ่อกับแม่สนใจแต่โทรศัพท์ ไม่สนใจหนู การทำแบบนั้นยิ่งทำให้เราห่างกัน ไม่ได้พูดคุยกันเลยเนอะ หนูคิดว่าเราควรจะทำยังไงดี? … งั้นเราเลิกจับโทรศัพท์แล้วหันมาจับมือคุยกันดีกว่านะลูก” ซึ่งการทำแบบนี้จะทำให้ลูกตระหนักถึงผลเสียและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยตนเองค่ะ

 

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ สำหรับ 6 วิธีชวนลูกมาเรียนรู้การเข้าสังคมแทนการนั่งจ้องหน้าจอมือถือ ที่เรานำมาฝากให้คุณพ่อคุณแม่ได้ลองนำไปปฏิบัติตามกัน เพื่อลดพฤติกรรมการติดโทรศัพท์มือถือของเด็กในสมัยนี้ โทรทัศน์มือถือมีประโยชน์เยอะก็จริง แต่ก็มีโทษที่ร้ายแรงเช่นกัน หากใช้ไม่ถูกวิธีหรือใช้ไม่เป็นเวลาค่ะ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรหมั่นดูแล ให้เวลา และใกล้ชิดกับลูกเยอะๆ นะคะ เพื่อให้ลูกมีชีวิตที่มีอนาคตสดใส และดีขึ้นนั่นเองค่ะ

#สังคมอยู่นอกจอ