Parents One

7 สาเหตุที่ทำให้ลูกกินน้อย

คุณพ่อคุณแม่หลายๆ คน คงกำลังกังวลว่าทำไมลูกของเราถึงกินข้าวได้น้อยหรือไม่ยอมกินข้าวเลย กลัวว่าลูกจะขาดสารอาหาร ที่พัฒนาร่างกายและสมองกลัวลูกจะไม่มีแรงไปทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งบางทีที่ลูกกินข้าวได้น้อย หรือไม่ยอมกินข้าว สาเหตุอาจจะมาจากตัวคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองเอง วันนี้จะมาไขข้อข้องใจให้คุณพ่อคุณแม่คลายกังวลว่าทำไมลูกถึงกินข้าวได้น้อยกันค่ะ

1. ให้ลูกกินมากเกินไป

พ่อแม่ให้ลูกกินมากเกินไป เพราะกลัวลูกไม่อิ่ม จริงๆ กระเพาะของเด็กและผู้ใหญ่นั้นแตกต่างกันมาก กระเพาะอาหารของเด็กในช่วงปฐมวัยนี้จะมีขนาดเล็ก เด็กจะวิ่งเล่นและเผาผลาญพลังงานไปมาก จึงอาจจะมีการหิวระหว่างมื้อบ่อย พ่อแม่หลายคนจึงกลัวลูกจะหิวหรือกินไม่อิ่ม เลยให้ลูกกินทั้งข้าว ทั้งนม เมื่อถึงมื้ออาหารถัดไปก็ยังบังคับให้ลูกกินอีก (ทั้งๆ ที่ยังอิ่มอยู่) ถ้าเด็กไม่กินก็บังคับสารพัดทั้งคำพูด จับป้อน ฯลฯ ทำให้ลูกรู้สึกทรมาน (อึดอัด) เวลาต้องกินอาหารจึงกินได้น้อย หรือไม่อยากกินเลย

2. ลูกกินขนมหรือนมจนอิ่ม

บ่อยครั้งที่ระหว่างมื้ออาหาร เด็กในช่วงปฐมวัยจะมักหิว (เพราะไปเล่นมาจนเหนื่อย) พ่อแม่บางคนก็ให้ลูกกินขนม รวมถึงกินนม (บางครอบครัวให้ลูกกินนมเยอะแทบจะแทนน้ำ) ทำให้เวลาถึงมื้ออาหารจริงๆ ลูกไม่ได้อยากทานอาหาร เพราะยังไม่หิวมากนั่นเอง

3. เมนูอาหารซ้ำๆ เดิมๆ

การกินอาหารซ้ำๆ แบบเดิมๆ ขนาดผู้ใหญ่ยังเบื่อเลยค่ะ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ลูกกินได้น้อย หรือไม่ยอมกินเลย คุณพ่อคุณแม่ควรที่จะเปลี่ยนเมนูอาหารให้ลูกเรื่อยๆ อย่าซ้ำเดิมมากเกินไป และเพิ่มความหลากหลายของอาหาร อาจจะมีทั้งเมนูอาหารแบบไทย จีน ฝรั่ง บ้างสลับกันไป รวมถึงการหั่นส่วนผสมให้พอดีคำ ไม่เล็กไปหรือใหญ่เกินไปสำหรับเด็ก เพราะหากเด็กต้องเคี้ยวมากเกินไปเด็กก็จะเบื่อการเคี้ยวอาหารได้เหมือนกัน

4. อาหารไม่น่ารับประทาน

คุณพ่อคุณแม่บางคนกลัวลูกจะกินลำบาก ก็ทำอาหารให้ลูกย่อยง่ายๆ จนมันดูเละๆ ไม่น่ากิน นอกจากหน้าตาอาหารแล้วสีสันของอาหารก็สำคัญ ถ้าสีเขียวของผักมากไปจนน่ากลัว เด็กบางคนก็อาจจะไม่ยอมกิน

5. ลูกรักกำลังไม่สบาย

หากลูกไม่สบาย หรือปวดฟัน ความอยากอาหารจะลดน้อยลง ซึ่งพ่อแม่ต้องเข้าใจด้วยว่าเป็นธรรมชาติของเด็กที่ไม่สบายก็มักจะไม่อยากอาหารใดๆ

6. เล่นสนุกจนเหนื่อย ลืมหิว

เด็กๆ ส่วนใหญ่เวลาเล่นก็จะเล่นเพลินลืมหิว จนบางครั้งพ่อแม่ก็กังวลว่า เดี๋ยวลูกจะหิวก็รีบบังคับให้ลูกกิน ณ เวลานั้นทันที ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อลูกเลย เพราะเป็นช่วงที่ลูกเหนื่อยมากอยู่ ควรให้พักก่อนแล้วค่อยให้มากินอาหารจะทำให้ลูกกินได้มากกว่าและไม่ทำให้ลูกจุกด้วยค่ะ

7. พ่อแม่บังคับมากเกินไป

การบังคับให้ลูกกินมากเกินไป หรือการให้ลูกกินอาหารที่ไม่ชอบ จะยิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้ลูกไม่อยากกินมากกว่าเดิมและยิ่งถ้าพูดหรือลงโทษด้วยวิธีรุนแรงแล้วเด็กจะฝังใจ อาจจะทำให้ไม่อยากกินอาหารนั้นๆ ไปเลยก็ได้

คุณพ่อคุณแม่สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาลูกกินได้น้อยโดยการจัดอาหารให้พอดีกับความต้องการลูก ลูกจะได้มีกำลังใจในการกิน เลือกอาหารที่มีประโยชน์และลูกชอบ ผลัดเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ให้ลูกไม่เบื่อ นอกจากนี้ สร้างนิสัยการกินที่ถูกต้องร่วมกัน และทำให้ลูกเห็นว่ากินอาหารร่วมกัน อร่อยและมีความสุขแค่ไหนค่ะ

ที่มา – babytrick