Parents One

7 เทคนิคการปั๊ม เก็บ ป้อนน้ำนมให้ลูก สำหรับแม่ทำงาน

สำหรับคุณแม่ยุคใหม่ที่ถึงเวลาต้องกลับไปทำงาน แล้วไม่มีสต๊อคน้ำนมแม่ในช่วงลาคลอดเลย ซึ่งต้องใช้วิธีเก็บน้ำนมแม่แบบวันต่อวัน อาจทำให้ไม่สะดวกและยุ่งยากเมื่อต้องปั๊มนมในที่ทำงาน วันนี้เรามีเทคนิคการเก็บและปั๊มน้ำนม เมื่อคุณแม่ต้องกลับไปทำงาน มาฝากค่ะ

1. เตรียมของใช้ให้พร้อมตั้งแต่ก่อนเข้านอน

จัดอุปกรณ์สำหรับปั๊ม และเก็บน้ำนมใส่กระเป๋า พร้อมทั้งเลือกชุดใส่ไปทำงานให้เหมาะและสะดวกกับการปั๊มนม และไม่ลืมที่จะล้างทำความสะอาดอุปกรณ์ไว้ให้เรียบร้อยก่อนค่ะ

2. สำรวจพื้นที่เพื่อปั๊มนม

ที่ทำงานบางแห่งจัดให้มีที่ปั๊มนมสำหรับแม่ให้นมลูกโดยเฉพาะ ถ้าคุณแม่ทำงานบริษัทใหญ่ที่มีผู้หญิงวัยกำลังมีลูกเล็กอยู่เยอะ ก็อาจจะเป็นไปได้ที่จะขอให้บริษัทสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยจัดห้องปั๊มนมให้ และให้มีปั๊มไฟฟ้าแบบที่ใช้กันตามโรงพยาบาลและตู้แช่เก็บนมเตรียมเอาไว้ให้ใช้กันในห้อง แต่ถ้าไม่มีห้องสำหรับเด็กอ่อนหรือห้องปั๊มนม ให้คุณแม่ลองมองหาพื้นที่ใต้โต๊ะ ในห้องน้ำ ที่โล่ง สะอาด มีพื้นที่ว่างหน้ากระจก หรือมีห้องไหนว่างและส่วนตัวพอจะใช้เป็นที่ปั๊มได้ก็อาจใช้เป็นที่สำหรับปั๊มนมให้ลุกค่ะ

3. ใช้ชุดนอนของแม่ห่อขวดนมลูก

ใช้เสื้อชุดนอนของคุณแม่ห่อขวดนมที่ใส่นมแม่ไว้ให้ลูกดูดเพราะอย่างน้อยไม่ได้ดูดนมจากอ้อมกอดแม่ ก็ยังได้รับกลิ่นจากเสื้อของคุณแม่ ซึ่งเป็นเคล็ดลับที่ทำให้ลูกยอมดูดนมจากขวด และยอมให้พี่เลี้ยงป้อนนม ในเวลาที่แม่ไม่สามารถให้ลูกดูดจากเต้าได้

4. ปั้มนมให้เป็นเวลา

โดยกะเวลา 3-4 ชม. ปั้มนม 1 ครั้ง เช่น ปั้มนมจากบ้าน 6 โมงเช้า ปั้มที่ทำงานเวลา 10 โมงเช้า บ่าย 2 โมง และกลับไปปั้มนมที่บ้าน ตอน 6 โมงเย็น หรือจะให้ลูกดูดก็ได้ โดยใช้เครื่องปั๊มนมแบบปั้มคู่ เพราะจะประหยัดเวลาในการปั้มนมได้มาก ใช้เวลาปั้มครั้งละประมาณ 30 นาที ตรวจสอบเต้านมโดยการจับๆ ดูว่ายังมีน้ำหนักอยู่หรือไม่ ถ้ามีก็จะปั้มต่อไป เพราะจะได้นมส่วนหลัง ถ้านมเกลี้ยง นมจะเบาและไม่หนักแล้ว

5. เก็บน้ำนมที่ปั๊มได้ในตู้เย็น

เมื่อปั้มน้ำนมได้ให้นำไปแช่ตู้เย็นไว้ใต้ช่องแช่แข็ง พอถึงเวลากลับบ้านก็ใส่ในกระติกน้ำแข็งเล็กๆ หรือกระเป๋าเก็บความเย็นเป็นสต็อคน้ำนมให้กับลูกได้ในวันถัดไป

6. ซ้อมป้อนน้ำนมก่อนกลับไปทำงาน

ก่อนกลับมาทำงานประมาณ 2 สัปดาห์ ควรมีการซ้อมป้อนน้ำนมในเวลาที่ลูกจะไม่ได้ดูดจากเต้าแม่เพื่อให้ลูกคุ้นเคยและไม่ลำบากกับพี่เลี้ยงที่ป้อนนมแม่ ซึ่งต้องเตรียมน้ำนมแม่ ขวดนม และจุกนมแบบฐานกว้าง หรืออาจใช้จุกนมขนาดธรรมดาก็ได้ แต่ควรใช้ขนาดรูเล็กสุดคือ S และบิดเกลียวแน่นๆ เพื่อให้ดูดยากๆ เข้าไว้ เวลาป้อนจะอยู่ห่างลูกพอสมควร จะไม่ให้ลูกเห็น ได้ยินเสียง หรือแม้แต่ได้กลิ่นเพื่อให้ลูกยอมร่วมมือกินนมกับพี่เลี้ยงที่ดูแล

 

7. ให้ลูกดูดนมแม่อย่างเดียวเวลาไม่ได้ไปทำงาน 

คุณแม่ควรให้ลูกดูดนมบ่อยๆ พยายามให้ลูกดูดนมขวดเฉพาะเวลาที่คุณไปทำงานหรือไปข้างนอก วิธีนี้จะช่วยรักษาปริมาณน้ำนมของคุณแม่ไว้ และยังจะทำให้คุณแม่และลูกรู้สึกผูกพันเพราะการปั๊มนมไม่สามารถกระตุ้นให้ร่างกายผลิตน้ำนมได้ดีเท่ากับการให้ลูกดูดนมจากเต้า ซึ่งแม่ส่วนใหญ่ที่ทำงานสัปดาห์ละห้าวันตั้งแต่จันทร์ถึงศุกร์พบว่าปริมาณที่ปั๊มได้จะลดลงเรื่อย ๆ จากต้นถึงปลายสัปดาห์ และกลับมารู้สึกว่าเต้านมตึงและปั๊มได้มากขึ้นในวันจันทร์หลังจากให้ลูกดูดเต็มที่ช่วงสุดสัปดาห์ค่ะ

 

สำหรับคุณแม่มือใหม่ ที่ไม่คุ้นเคยกับการต้องปั๊มนมลูกบ่อยๆ ต้องปรับตัวให้เข้ากับตารางชีวิตใหม่ ถ้าเป็นไปได้เลือกกลับไปทำงานวันแรกในวันพุธหรือไม่ก็พฤหัส จะได้ไม่เหนื่อยมากนักเมื่อถึงปลายสัปดาห์ และจะได้มีเวลาพักเหนื่อยอีกสองวันก่อนที่จะเริ่มงานอีกครั้ง มีคุณแม่หลายท่านเลือกทำงานสัปดาห์ละสามหรือสี่วันช่วงที่ลูกยังเล็ก หรืออาจขอแรงสนับสนุนจากเจ้านายและเพื่อนร่วมงาน บอกให้ทราบเกี่ยวกับเรื่องการปั๊มนม เรื่องนมที่แช่อยู่ในตู้เย็น หรือเรื่องเวลาที่คุณให้กับลูก เพื่อให้การออกไปทำงานและกลับถึงบ้านมีแต่ความสุขค่ะ

ที่มา – ประสบการณ์แม่ทำงาน กับการให้นมแม่ โดย พญ.ศิริพัฒนา ศิริธนารัตนกุล