Parents One

7 เคล็ดลับฉบับคุณแม่ฟูลไทม์ ลัคกี้ทั้งงานและครอบครัว

เชื่อว่าคุณแม่ทุกๆ คนก็ต้องการเลี้ยงลูกด้วยตัวเอง แต่งานประจำก็ยังต้องทำอยู่ สิ่งสำคัญคือ คุณแม่ควรมีการวางแผนและเตรียมการแต่เนิ่นๆ เพื่อให้คุณแม่ มีเวลาลำดับความคิด จัดลำดับความสำคัญสิ่งที่ต้องทำ เพื่อให้จัดการงานและดูแลลูกๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไปดูกันว่าจะมีเคล็ดลับอะไร ที่ช่วยทำให้คุณแม่ฟูลไทม์ บาลานซ์ชีวิต ให้ลัคกี้ทั้งงานและชีวิตครอบครัว

เคล็ดลับที่ 1 : สร้างปฏิทินครอบครัว

ให้คุณแม่ลองจัดตารางครอบครัวลงในปฏิทินเล่มใหญ่ ที่สามารถมองเห็นและดูกันได้ทั้งครอบครัว จัดตารางวันและเวลาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมโรงเรียนของลูกในแต่ละวัน กิจกรรมครอบครัว วันเกิด นอกจากนี้ยังสามารถลงตารางหน้าที่ งานบ้าน กำหนดชำระบิลค่าใช้จ่ายต่างๆ ลงไปในปฏิทินด้วย เพื่อเตือนให้แต่ละคนในครอบครัว จำหน้าที่รับผิดชอบของตนเองได้ นอกจากการจดลงบนปฏิทินแล้วยังสามารถใช้ Google Calendar เพื่อง่ายต่อการแชร์บนสมาร์ทโฟน ง่ายต่อการลำดับความสำคัญ การแจ้งเตือนเหตุการณ์ที่กำลังจะมาถึง ซึ่งการที่คุณแม่ได้ตระเตรียม กำหนดแผนต่างๆ ไว้ล่วงหน้าจะช่วยให้คุณแม่จัดการชีวิตครอบครัวได้ง่ายขึ้น ป้องกันการลืมและความผิดพลาด อีกทั้งยังประหยัดเวลาในการคิดกิจกรรมต่างๆ เมื่อวันหยุดมาถึงได้มากเลยทีเดียว

เคล็ดลับที่ 2 : ทำความเข้าใจกับเจ้านาย

คุยกับนายเรื่องแผนของคุณก่อน และขอความสนับสนุนหรือให้เขาช่วยหาทางออกให้ในปัญหาบางเรื่อง ถึงจะวางแผนล่วงหน้าเอาไว้แล้ว แต่คุณก็ควรจะยืดหยุ่นพอจะปรับเปลี่ยนแผนบ้างในบางครั้ง ที่สำคัญคุณแม่ควรจัดตารางเวลาการทำงาน ทางเลือกต่างๆ ที่สามารถทำงานในแต่ละชิ้นรวมถึงระยะเวลาการทำงาน เตรียมเอกสาร การประชุมต่างๆ ให้เป็นไปตามกำหนด การเตรียมไว้ล่วงหน้า เพื่อกันความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้

เคล็ดลับที่ 3 : คุยกับลูกในเวลาที่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน

ติดต่อกับลูกในเวลาที่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน แม้คุณแม่จะออกไปทำงาน แต่ถ้ามีเวลาควรหาเวลาโทรหาลูก วิดิโอคอลหรืออาจจะบันทึกเสียง อัดคลิปวิดิโอไว้ให้ลูกไว้ดูระหว่างวันในเวลาที่คุณแม่ไม่อยู่ เพื่อให้ลูกน้อยรู้สึกอุ่นใจ รู้ว่าคุณไม่ได้ทิ้งไปไหน แล้วถ้าคุณแม่ต้องพลาดหรือไปนัดของลูกช้า ควรเขียนโน้ตทิ้งไว้ให้ลูกรู้หรือทำบางอย่างที่พิเศษให้ลูกในตอนเช้า บอกให้ลูกเข้าใจ และอีกเคล็ดลับ ก็คือบอกลูกว่าถ้าแม่กลับมาจะมีอะไร หรือทำอะไรพิเศษให้ ก็เป็นอีกวิธีที่จะรักษาความสัมพันธ์ระหว่างคุณแม่ทำงานฟูลไทม์ที่ไม่ค่อยมีเวลากับลูกน้อยไว้ได้อย่างดีค่ะ

เคล็ดลับที่ 4 : ขอแรงสนับสนุนจากเพื่อนร่วมงาน

ถ้าคุณแม่อยู่ในช่วงที่เป็นแม่ลูกอ่อน เพิ่งกลับมาทำงาน อาจมีเพื่อนร่วมงานของคุณบางคนบ่นเรื่องที่คุณไปปั๊มนมบ่อยๆ บางคนอาจจะอยากออกความเห็นเรื่องปั๊มของคุณ เรื่องนมที่แช่อยู่ในตู้เย็น หรือเรื่องเวลาที่คุณให้กับลูก คำพูดพวกนี้คงทำให้คุณรู้สึกไม่สบายใจนัก และอาจกลายเป็นเรื่องหมางใจกันระหว่างเพื่อนร่วมงานได้ คุณแม่อาจจะใช้อารมณ์ขันเวลามีคนพูดแหย่เรื่องนี้ และไม่ลืมที่จะขอบคุณเพื่อนร่วมงานที่เค้าทำงานแทนคุณในตอนที่คุณไม่อยู่ อีกทั้งบอกเพื่อนร่วมงานให้เข้าใจว่าลูกของคุณจำเป็นต้องได้รับนมแม่เนื่องจากเหตุผลทางการแพทย์ เพื่อให้เค้าเข้าใจคุณมากขึ้นค่ะ

เคล็ดลับที่ 5 : สรรหากิจกรรมครอบครัว

หากิจกรรมพิเศษทำร่วมกันในครอบครัวในช่วงวันหยุด ไม่ว่าจะเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์ หรือวันหยุดยาวในเทศกาลต่างๆ ออกไปเที่ยว ทำกิจกรรมนอกบ้าน หรือถ้าครอบครัวไหนอยากพักผ่อนอยู่ที่บ้าน อาจจะทานอาหารเช้ามื้อพิเศษหรือดินเนอร์ร่วมกัน พร้อมพูดคุยกับลูกและคุณสามี ถึงเรื่องต่างๆ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ถามลูกเรื่องการเรียน เพื่อนของลูก กิจกรรมที่โรงเรียน ความสนใจของลูกและคนในครอบครัว เพื่อกระชับความสัมพันธ์และทำให้เข้าใจกันมากขึ้น

เคล็ดลับที่ 6 : ไม่ลืมใช้เวลาร่วมกับคุณสามี

ธรรมชาติของคู่รักหรือคู่ชีวิต ก็ต้องอยากให้เราเป็นคนสำคัญ เห็นความสำคัญในตัวเค้า เรามีวิธีค่ะ คือให้คุณแม่ลองหาเวลาออกไปเดทกับคุณสามีบ้าง จะเป็นช่วงสุดสัปดาห์ หรือช่วงเริ่มต้นเดือนใหม่ การออกไปใช้เวลาร่วมกันสองต่อสอง โดยไม่มีงานหรือลูกมาให้ปวดหัวบ้าง ก็ทำให้ชีวิตรักชุ่มชื้นดีไม่น้อย

เคล็ดลับที่ 7 : ให้เวลาเพื่อดูแลตัวเอง

ไหนจะงานไหนจะลูก คุณอาจจะรู้สึกว่านอกจากสองเรื่องนี้แล้วคงแทบไม่มีทางจะทำอะไรอย่างอื่น ให้คุณแม่ลองออกไปทำกิจกรรมหรืองานอดิเรกที่ชอบดูบ้าง หยุดพักสักเดี๋ยวดูแลตัวเอง ออกกำลังกาย เล่นโยคะ พบปะเพื่อนฝูง ทำสปา การหยุดพักและดูแลตัวเองเป็นการชาร์ตพลังให้ตัวคุณแม่เองได้เป็นอย่างดี พร้อมที่จะลุยงานและลูกๆ แสนซนได้อีกครั้ง

วิธีเลี้ยงดูให้มีความสุข รู้สึกภาคภูมิใจ มีกำลังใจในการพัฒนาตนเอง พ่อแม่ควรให้ความสำคัญกับรับฟังเรื่องราวที่เด็กกำลังบอกเล่าหรือต้องการความช่วยเหลือ สิ่งสำคัญคือ พ่อแม่ต้องเป็นที่พึ่งทางใจให้ลูก ร่วมทำกิจกรรมต่างๆ กับลูกให้ลูกอุ่นใจว่าเราไม่ได้ทิ้งไปไหน และไม่ลืมดูแลคุณสามีและตัวคุณแม่เอง เพื่อให้มีความสุขทั้งชีวิตงานและชีวิตครอบครัวค่ะ

ที่มา :