Parents One

8 กลยุทธ์สอนพ่อแม่เล่านิทานให้ลูกฟังแบบมืออาชีพ เล่าสนุกจนลูกต้องขออีกรอบ

การเล่านิทานให้ลูกฟังนอกจากเป็นการส่งเสริมพัฒนาการให้กับลูกแล้ว ยังเป็นการสานสัมพันธ์พ่อแม่ลูกได้เป็นอย่างดีอีกด้วยค่ะ แล้วจะมีกลยุทธ์ใดบ้างที่จะทำให้พ่อแม่เล่านิทานให้ลูกฟังได้อย่างมืออาชีพบ้าง มาดูกันเลยค่ะ

ให้ลูกคุ้นเคยกับหนังสือ

ก่อนที่จะเล่านิทานให้ลูกฟัง ถ้าลูกรู้สึกคุ้นเคยกับหนังสือจะทำให้ลูกรู้สึกดีกับหนังสือและอินกับนิทานที่คุณพ่อคุณแม่เล่ามากขึ้นก็เป็นได้ค่ะ อาจจะลองให้ลูกหยิบจับตั้งแต่ยังเป็นทารก อย่างไรก็ตามอย่าลืมว่าหนังสือที่ลองให้ลูกหยิบนั้นจะต้องดูปลอดภัยสำหรับเด็กด้วยนะคะ

สร้างบรรยากาศที่ดี

การเล่าในบรรยากาศที่เหมาะสมถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ลูกมีสมาธิกับนิทานที่เล่าและสนุกไปด้วยได้ ทั้งนี้ควรเล่านิทานในสถานที่ที่ไม่วุ่นวายจนเกินไปเพื่อให้ลูกเกิดจินตนาการตามเนื้อเรื่อง หรือไม่ก็อาจจะจัดสถานที่เพื่อให้ดูเหมือนกับสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในหนังสือนิทานก็ถือว่าสร้างสีสันได้อีกแบบเลยทีเดียวค่ะ

อ่านอย่างชัดถ้อยชัดคำ

ในตอนแรกที่เริ่มอ่านนิทานนั้น คุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มต้นง่ายๆ ได้โดยการอ่านชื่อเรื่อง อ่านชื่อผู้แต่ง ชื่อผู้วาดบนหน้าปกของหนังสืออย่างชัดถ้อยชัดคำ เพื่อฝึกให้เด็กเกิดความเคยชินและเป็นการเรียนรู้ภาษาภายในตัวอีกด้วยนะคะ

เปิดหนังสืออย่างเป็นธรรมชาติ

การเปิดหนังสืออย่างเป็นธรรมชาติเวลาเล่านิทานให้ลูกน้อยฟังจะทำให้ลูกเพลิดเพลินขึ้นมาได้ ทั้งนี้เวลาอ่านควรถือหนังสือให้มั่นคง แต่สามารถเคลื่อนไหวหนังสือได้อย่างอิสระ เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกน้อยได้ดูภาพเต็มตาค่ะ

ทำอุปกรณ์ประกอบการเล่า

คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้อุปกรณ์ต่างๆ ที่อยู่ใกล้ตัวนำมาสร้างสรรค์เพื่อช่วยให้ลูกรู้สึกสนุกเมื่อฟังนิทาน เช่น การใช้หุ่นมือที่มีรูปแบบต่างๆ ที่สอดคล้องไปกับนิทานที่เล่าหรืออาจจะใช้ฉากหลังเป็นภาพที่อยู่ในหนังสือนิทานเปิดประกอบไปด้วยก็ได้ค่ะ

อ่านอย่างมีจังหวะ ออกเสียง ตามอารมณ์

การอ่านนิทานที่ดีควรอ่านอย่างมีจังหวะ ออกเสียง ตามอารมณ์ของถ้อยคำ ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่ไม่จำเป็นต้องดัดเสียงมากจนเกินไป การดัดเสียงทำให้ลูกสนุกก็จริง แต่จะทำให้ลูกจดจ่ออยู่ที่ปาก โดยไม่สนใจตัวหนังสือหรือภาพในหนังสือ ทำให้ขาดโอกาสในการอ่านภาพ หรือทำความคุ้นเคยกับตัวอักษรได้ค่ะ

มีลีลาการเล่าที่น่าสนใจ

ในการเล่านิทานคุณแม่สามารถใช้ลีลาทั้งน้ำเสียงที่พอฟังแล้วรู้สึกทำให้ลูกเกิดอารมณ์ร่วมไปกับตัวละครนั้นๆ เช่น ใช้เสียงเบา เสียงหนัก การพูดเร็ว พูดช้า เป็นต้น หรือท่าทางประกอบตามตัวละครในนิทาน ก็เป็นส่วนที่ทำให้นิทานนั้นดูมีชีวิตชีวาขึ้นมาได้ค่ะ

เคลื่อนไหวหนังสือให้ธรรมชาติ

การเคลื่อนไหวหนังสือได้อย่างเป็นธรรมชาติก็จะยิ่งทำให้ลูกรู้สึกสนุกมากยิ่งขึ้น คุณพ่อคุณแม่สามารถขยับหนังสือโยกไปมาเบาๆ ให้ดูสอดคล้องกับเนื้อเรื่อง เช่น เหมือนกับเรือกำลังลอยในทะเล หรือเปิด-ปิดหน้าหนังสือ แทนการเปิด-ปิดประตูตามเนื้อเรื่องที่อ่าน ก็ทำให้ลูกๆ สนุกได้มากขึ้นค่ะ

เมื่อรู้เทคนิคในการเล่านิทานให้ลูกฟังอย่างสนุกแล้ว คืนนี้คุณพ่อคุณแม่ลองนำเทคนิคเหล่านี้มาปรับใช้ในการเล่านิทานให้ลูกกันนะคะ

ที่มา