Parents One

ความในใจของเด็กพิเศษ(ออทิสติก) ที่อยากให้คนอื่นเข้าใจ ตอน 1

กลุ่มโรคออทิสติก (Autistic spectrum disorder) เป็นกลุ่มของโรคที่มีสาเหตุจากความผิดปกติของสมอง ทำให้มีความบกพร่องของพัฒนาการหลายด้าน ทั้งด้านภาษาและสังคมที่ล่าช้า มีพฤติกรรมที่ต่างจากคนทั่วไปหลายอย่าง ทำให้หลายๆ คนอาจไม่เข้าใจ ลองมาดูกันค่ะ ว่าพฤติกรรมของเด็กพิเศษหรือเด็กออทิสติกกันเค้ารู้สึกอย่างไร

1. ผอมๆ อย่างฉันก็กินจุมากๆ เลย

เด็กออทิสติกไม่ว่าจะอ้วนหรือผอม ส่วนใหญ่ถ้าเป็นของชอบแล้วจะกินได้ทีละมากๆ เช่น กินไก่ทอด 40 น่อง ข้าว 4-5 จาน หรือขนมเป็น 10 ห่อก็ยังไม่อิ่ม พ่อแม่หลายคนคิดว่าลูกตัวเองกินได้เยอะ แต่ความจริงแล้วในใจเค้าก็อยากจะหยุด แต่สมองสั่งให้กินไปเรื่อยๆ โดยที่ท้องจะไม่เตือนเลยว่าอิ่มแล้ว หลายคนกินจนอาเจียนเพราะกระเพาะรับไม่ไหว บางคนก็กินแบบไม่เคี้ยวไม่กลืนเลยทีเดียว ถ้าเห็นอาหารคือหิวสุดๆ แต่ถ้าไม่เห็นอาหารก็คือไม่หิวเลย

ข้อแนะนำในเรื่องนี้

เวลาจะทำอาหารให้เด็กออทิสติกทาน สิ่งสำคัญคือ เรื่องของปริมาณ เพราะการที่เค้ากินมากมาจากการทำตามกลไกสมองที่สั่งว่าให้กินของที่ชอบ ก็กินไปอย่างที่ไม่รู้จักอิ่ม มันจะมีปัญหาเรื่องของกระเพาะ ทำให้ปวดท้องได้ เด็กออทิสติกที่ไม่สามารถแสดงความรู้สึกได้ ทำให้เกิดอารมณ์ที่เปลี่ยนไป หรือแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมมากขึ้นนั่นเอง

2. ฉันจะดูพัดลม มันมีอะไรน่าสนใจกันแน่

พ่อแม่หลายคนสงสัยมาว่า ทำไมเด็กออทิสติกจึงชอบของหมุนๆ เช่น จ้องมองพัดลม มันเป็นคำถามที่พ่อแม่หลายคนสงสัยกันมาก ทำไมต้องมองพัดลม หรือของหมุนๆ ที่ชอบของแบบนี้ก็เพราะ มันมีอะไรที่น่าสนใจ ไม่ได้ชอบของหมุน แต่ชอบของที่มันเคลื่อนที่ได้ในลักษณะไม่รู้จบหรือนานๆ ที่เป็นอย่างนี้เพราะ มันเป็นการกระตุ้นให้สมองของเด็กจับจุดสนใจไปที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งถ้าได้เห็นภาพที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ สมองจะไม่สามารถเพ่งจุดสนใจได้ สมองก็เลยตอบสนองการทำงานที่จะจ้องหาจุดสนใจให้ได้ เวลาที่นั่งรถไกลๆ เด็กจะไม่รู้สึกเบื่อเลย จะนั่งจ้องหน้าต่างเพื่อดูวิวที่เปลี่ยนไปตลอด จนกระทั้งกลายเป็นสิ่งที่เด็กออทิสติกชอบกัน และกระตุ้นความรู้สึกต้องหาจุดสนใจ พ่อแม่หลายคนก็พยายามที่จะดึงเด็กออออกจากพัดลม เด็กก็จะอาละวาดลั่นบ้าน เพราะสิ่งเร้าลักษณะนี้ขาดไปนั่นเอง

ข้อแนะนำสำหรับเรื่อง

พ่อแม่อาจจะต้องลองเปลี่ยนกิจกรรมให้ลูก ทำกิจกรรมเคลี่ยนไหวที่ไม่รู้จบ เช่น ปั่นจักรยาน ารมองภาพที่เคลื่อนไหวต่างๆ เด็กออทิสติกมีมุมมองที่พ่อแม่ควรรู้คือ เด็กจะมีมุมมองที่แคบแต่ลึก ประมาณเหมือนเข็มจิ้มลงดินน้ำมันนั้นแหละ อาจจะต้องพาเดินทางบ่อยๆ จะช่วยทำให้เด็กออทิสติกมีการเรียนรู้ที่ดีขึ้นนะค่ะ

3. ชีวิตฉันก็เหมือนวงกลม วนซำ้ๆ ทุกวัน

เด็กออทิสติกชอบทำอะไรซ้ำๆ วนไปวนมา ทุกวัน หลายคนมีกิจวัตรที่ซ้ำจนแบบว่าเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไม่ได้เลย เช่น วันนี้จะต้องเปิดตู้เสื้อผ้าตอนเช้าก่อนอาบน้ำ หรือ กินข้าวโดยใช้ช้อนส้อมเท่านั้น หากว่าไม่ได้ทำตามสิ่งที่เคยทำ หรือเปลี่ยนวิธีใหม่ จะโมโห อาละวาด เหมือนจะขาดใจให้ได้ เหมือนกับว่าสมองสั่งว่า มันขาดๆ อยู่ในหัวตลอดเวลา ที่มีพฤติกรรมซ้ำๆ เพราะคิดแบบอื่นไม่ได้ คิดได้แค่แบบเดียว อย่างวิธีการเล่น ก็จะเล่นอย่างนั้นเรื่อยๆ ซ้ำๆ ความรู้สึกก็คือ มันสนุกดี เอาอีกและก็สนุกดี เอาอีกและก็สนุกดี คล้ายๆ การกระตุ้นความรู้สึกตนเองให้มันมีขึ้นมา กับความรู้สึกที่ชอบ กับความรู้สึกที่ไม่อยากสูญเสียไป สรุปง่ายๆ คือการทำอะไรซ้ำๆ เพราะไม่ต้องการสูญเสียความรู้สึกเดิมๆ ที่ตัวเองเคยมีอยู่ไปนั่นเองค่ะ

ข้อแนะนำสำหรับเรื่องนี้

ถ้าพ่อแม่หลายคนเห็นพฤติกรรมซ้ำของลูกก็รู้สึกว่าอยากเปลี่ยน วิธีการที่จะช่วยคือ เพิ่มเติมให้เค้าได้รับสิ่งใหม่มากขึ้น เด็กออทิสติกจะมีอย่างหนึ่ง คือการที่สมองพยายามหาสิ่งเร้ากระตุ้นที่สูงขึ้นไปอีกเรื่อยๆ ลองหาอะไรใหม่ๆ ดู แรกๆ เด็กจะไม่สนใจ เพราะสิ่งเดิมมันดีอยู่แล้ว พ่อแม่ต้องพยายามแทรกความสนใจให้เค้า อาจจะช่วยทำให้เค้าเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมซ้ำได้ค่ะ

4. ทุกอย่างของฉันคือภาพ

เด็กออทิสติกที่สามารถเรียนได้ จะเห็นว่าสามารถอ่านหนังสือออก แต่ทำไมเขียนยากมากเลย การจดงานบนกระดาน เป็นอะไรที่ยากมากสำหรับเด็กออทิสติก เพราะเด็กออทิสติกจะจดเป็นภาพ ไม่สามารถจดเป็นการสะกดคำได้หรือถ้าได้ก็คงช้ามากๆ ยกตัวอย่างเช่น เวลาที่จดงานบนกระดานดำตัว อย่างประโยค เช่น ในการเสียกรุงศรีอยุธยาเกิดขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ 2310 เด็กปกติจะเขียนว่า ในการเสียกรุงศรีอยุธยา(จด)/เกิดขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ 2310(จด) ตามนี้ แต่ถ้าเป็นเด็กออทิสติกก็เป็นลักษณะคือ ใน(จด)การ(จด) เสีย(จด)กรุง(จด)….. ซึ่งจะมองกระดานบ่อยมาก ทำให้ไม่ทัน แล้วจะเห็นตัวอักษรเป็นภาพๆ หนึ่ง ซึ่งถ้าครูเขียนหวัด เด็กจะประมวลผลไม่ได้ว่า มันเป็นตัวอักษรอะไร และยิ่งถ้าเป็นการจดตามที่ครูพูด เด็กจะมีปัญหามาก คือ สมองจะต้องรับคำพูดจากครูที่เป็นประโยค จากนั้นก็สะกดออกมาที่ละคำ และต้องเขียนคำที่สะกดได้ลงไป ซึ่งถ้าบางคนจำได้แต่ภาพ เจอคำใหม่จะเขียนไม่ได้เลย หรือเขียนช้ามาก เพราะนึกไม่ออกว่า มันสะกดอย่างไร

ข้อแนะนำสำหรับเรื่องนี้

พ่อแม่ไม่ควรบังคับลูกให้รีบเขียนให้เร็วมากเกินไป เพราะเด็กประมวลผลไม่ทัน ไหนจะต้องรับคำสั่งจากพ่อแม่ ไหนจะต้องเขียน ซึ่งทำให้สมาธิมันหายไปหมดส่วนเรื่องจดตามที่ครูพูด ถ้าไม่จำเป็นอย่าให้เด็กจดงานแบบนั้น ควรที่จะพูดคุยกับครูว่า ให้เปลี่ยนเป็นลอกงานจากเพื่อนแทนหลังครูบอกเสร็จ และให้เวลาทำแบบฝึกหัดมากหน่อย เรื่องนี้เป็นเรื่องของความบกพร่องในการประมวลคำสั่งในสมองของเด็ก ที่ทำงานและตอบสนองช้าค่ะ

5. เวลาตอบคำถาม ฉันเลือกที่จะทวนคำถาม

เด็กหลายคนในกลุ่มเด็กออทิสติก เค้ามีปัญหาในการสื่อสารอย่างมาก พ่อแม่หลายคนสงสัยว่า ทำไมนะลูกของตัวเองชอบทวนคำถามอยู่เรื่อย ชอบพูดตามเวลาที่ถามคำถาม บางคนชอบทวนคำถามหรือบางทีก็ไม่ตอบ ทั้งที่คำตอบก็ง่ายๆ แต่ก็ยังตอบไม่ได้ สาเหตุเพราะ เวลาที่เด็กถูกถามคำถามจากปาก ในสมองเหมือนกำลังจะพยายามที่จะฟังคำถามต่างๆ ที่เข้ามาในสมอง และสมองจะต้องประมวลจากภาษามาเป็นความเข้าใจอีก ซึ่งการประมวลผลของสมองอันนี้ ทำให้เริ่มคิดไม่ได้ว่าโดนถามว่าอะไร จึงจะต้องมีการพูดประโยคที่ถามอีกครั้งเพื่อให้สมองของตนเองสามารถที่จะประมวลผลออกมาในรูปแบบความเข้าใจให้ได้ อย่างเช่น วันนี้ไปกินข้าวกับใคร เด็กปกติก็จะเริ่มคิดทันทีเลยหลังจากที่ฟังแล้ว แต่ในเด็กออทิสติกบางคน ต้องใช้เวลาในการแปลงภาษาไปสู่ภาพต่างๆ เพื่อตอบคำถาม หรือบางคนจะเกิดกรณีที่ว่าได้ยินคนอื่นพูดแต่ไม่รู้เรื่องที่ถาม เพราะว่าแปลงภาษาเป็นภาพที่ตัวเองเข้าใจไม่ได้ ยิ่งถ้ามีเรื่องอารมณ์มาเกี่ยวข้องด้วยเด็กจะสนใจที่อารมณ์แทนคำถาม เหมือนกับว่า เลือกสนใจไม่ตรงจุด

ข้อแนะนำสำหรับเรื่องนี้

พ่อแม่ควรที่จะถามลูกอย่างใจเย็น ไม่ใช้อารมณ์กับลูก เพราะบางทีเค้าเองก็มีความยากลำบากในการแปลงความเข้าใจให้เป็นภาษา ซึ่งมันค่อนข้างที่จะยากสำหรับเด็ก ให้เค้าได้มีเวลาซักพักนึงและเลือกใช้ศัพท์ที่ลูกเข้าใจง่าย เพราะบางทีใช้คำศัพท์หรือการเรียงประโยคแปลกๆ เค้าจะไม่เข้าใจ เช่น หนูกินข้าวกับใคร เด็กจะแปลตรงตัวอักษร หนู(หมายถึงหนูที่เป็นสัตว์จริงๆ) หรือเรื่องหาของ เด็กจะหาของไม่ค่อยเจอถ้าตำแหน่งที่เคยวางเปลี่ยนไปค่ะ เป็นเรื่องจำเป็นที่พ่อแม่จะต้องเข้าใจและคิดคำพูดที่เข้าใจได้ง่ายเพื่อให้เด็กเข้าใจได้มากที่สุดค่ะ

 

อาการของเด็กออทิสติกจะเกิดก่อนอายุ 3 ขวบ ซึ่งมีความรุนแรงของแต่ละโรคในกลุ่มแตกต่างกัน ทั้งนี้ ความบกพร่องยังคงมีต่อเนื่องตลอดชีวิต โดยเฉพาะทักษะด้านสังคม มีเพียง 1- 2% ที่สามารถดำเนินชีวิตได้เหมือนคนปกติ อย่างไรก็ตาม การวินิจฉัยและการรักษาตั้งแต่อายุยังน้อย จะทำให้เด็กมีโอกาสพัฒนาได้มากกว่าการรักษาเมื่ออายุมากขึ้น หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้เข้าใจเด็กพิเศษมากขึ้นนะคะ

ขอบคุณเรื่องราวจาก น้องเชาว์