Parents One

NEWS: กรมการแพทย์เตือน การเขย่าให้ทารกหยุดร้องไห้ อาจทำให้ลูกน้อยเสียชีวิต

การเขย่าตัวลูกไม่ว่าจะเพราะเล่น หรือโมโหที่ลูกร้องไห้ อาจทำให้เกิดกลุ่มอาการทารกถูกเขย่า (Shaken baby syndrome) ที่ส่งผลกระทบกระเทือนถึงสมอง มีเด็กทารกตายจากสาเหตุดังกล่าวมีถึง 1 ใน 3 และอีกร้อยละ 30-40 ที่ไม่สามารถรักษาหายเป็นปกติ

นายแพทย์สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี  กล่าวว่า การเขย่าเด็กแรงๆ ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม มีความเสี่ยงที่จะทำให้เด็ก โดยเฉพาะทารกอายุ 3-8 เดือน ได้รับบาดเจ็บทางสมองจนถึงขั้นเสียชีวิต หรือทำให้เด็กพิการตลอดชีวิต เช่น ปัญหาทางสายตา ลมชัก การเรียนรู้ และสติปัญญา

เนื่องจาก กล้ามเนื้อคอของทารกยังไม่แข็งแรง เมื่อคอและศีรษะถูกเหวี่ยงไปมา โดยการเขย่าจะทำให้เส้นเลือดบริเวณเยื่อหุ้มสมองฉีกขาด เกิดเลือดออกในสมอง การเคลื่อนไหวและกระตุกอย่างรวดเร็ว ทำให้เนื้อสมองได้รับอันตราย และอาจลุกลามไปจนถึงทำให้เส้นเลือดในจอตาขาดได้อีกด้วย

ซึ่งกลุ่มอาการทารกถูกเขย่า ทำให้ได้รับบาดเจ็บ เป็นภาวะใกล้ตัวที่เกิดขึ้นได้ทุกครัวเรือน โดยเฉพาะครอบครัวที่มีบุตรหลานวัยต่ำกว่า 2 ปี หากพ่อแม่ผู้เลี้ยงดู รู้เท่าไม่ถึงการณ์เขย่าตัวลูก ไม่ว่าจะเพราะเล่น หรือโมโหที่ลูกร้องไห้ จนแพทย์ต้องทำการผ่าตัดเปิดกระโหลก ก็อาจทำให้ทารกได้รับบาดเจ็บจนถึงแก่ชีวิตได้

นายแพทย์ ธนินทร์ เวชชาภินันท์ กุมารแพทย์ระบบประสาท สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า สาเหตุของการเขย่าทารกส่วนใหญ่ มักเกิดจากการที่พ่อแม่ไม่รู้ว่าต้องรับมือกับปัญหาลูกร้องไห้ไม่หยุดอย่างไร โดยเฉพาะในทารก 3 เดือนแรก ซึ่งการที่ลูกร้องไห้ไม่หยุดอาจทำให้พ่อแม่รู้สึกเครียดหรือโมโห จึงอาจเผลอเขย่าตัวลูกแรงๆ เพราะอยากให้หยุดร้อง

สิ่งที่พ่อแม่ควรทำคือ ต้องทำความเข้าใจว่าเด็กวัยนี้ยังพูดกับเราไม่ได้ และการร้องไห้คือหนทางเดียวที่เขาจะสื่อสารกับเรา ดังนั้นหากลูกร้องไห้ไม่หยุดไม่รู้จะทำอย่างไร และเริ่มรู้สึกเครียดหรือโมโหลูก ให้สูดหายใจลึกๆ อยู่นิ่งๆ สักพัก แล้วค่อยเริ่มใหม่ เตือนตัวเองเสมอว่าหากเขย่าตัวลูกรุนแรง ลูกอาจพิการหรือเสียชีวิตได้ ซึ่งไม่คุ้มกันอย่างแน่นอน หากลูกไม่ได้ร้องไห้เพราะหิวหรือรู้สึกไม่สบายตัว เดี๋ยวสักพักเขาก็จะหยุดเองค่ะ

นอกจากการเขย่าตัวเพื่อให้ลูกหยุดร้องไห้แล้ว บางครั้งการเล่นกับเด็กอย่างรุนแรงเกินไป เช่น จับลูกวัยยังไม่ถึงขวบปี โยนขึ้นไปกลางอากาศแล้วรับ ถึงแม้เด็กอาจหัวเราะชอบใจ แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะทำให้สมองได้รับความบาดเจ็บได้เช่นกัน

อ้างอิงจาก

bangkokbiznews.com/