Parents One

ทำไงดี! ลูกชอบคายอาหาร

ถ้าคุณแม่ที่กำลังเผชิญปัญหาลูกรักไม่ค่อยยอมกินข้าว อมข้าว คายข้าว หรือกินไปเล่นไป ต้องไล่ป้อนข้าวนานเป็นชั่วโมง ซึ่งเป็นปัญหาที่พบบ่อยในเด็กเล็ก ทำให้คุณพ่อคุณแม่หลายคนปวดหัวไปตามๆ กัน และเนื่องจากช่วง 2 ขวบปีแรกเป็นช่วงที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการเจริญโตเติบ ต้องใช้พลังงานเพื่อพัฒนาทั้งร่างกายและสมอง ดังนั้นการทานอาหารที่ดีและเพียงพอจึงมีความสำคัญอย่างมาก จะมีวิธีไหนช่วยกำจัดปัญหาลูกคายอาหารทิ้งได้บ้างไปดูกันค่ะ

1. ใช้ช้อนเล็กๆ

สำหรับทารกอายุ 5-6 เดือนซึ่งเพิ่งเริ่มให้อาหารมักจะใช้ลิ้นดุนอาหารออกมา เนื่องจากทารกยังตวัดลิ้นเอาอาหารลงไปด้านหลัง อาหารจึงลงไปในคอให้เด็กสามารถกลืนลงไปได้ วิธีการแก้ไขให้ใช้ช้อนเล็กๆ แบบตักอาการกึ่งเหลวป้ายไปที่เพดานปาก เพื่อให้อาหารเข้าไปด้านหลังจึงกลืนลงคอได้

2. เตรียมอาหารที่เคี้ยวง่าย

อาหารที่คุณแม่เตรียม ควรเตรียมให้เป็นอาหารนิ่มๆ เคี้ยวได้ง่าย เช่น ข้าว ไข่ต้ม เลือกเนื้อสัตว์ที่ลูกไม่แพ้ เช่น ปลา เนื้อไก่ เนื้อหมู และผัก เช่น ฟักทอง หรือแครอท แตงกวา เป็นต้น หั่นอาหารเป็นชิ้นเล็กๆ ขนาดเท่ากับครึ่งหนึ่งของเล็บนิ้วก้อยของลูก จัดใส่จานสักช้อนสองช้อนก่อน เพราะถ้าใส่มากเกินไปเด็กจะไม่ยอมทานค่ะ

3. ให้นมตามเวลาที่เหมาะสม

ให้นมลูกตามเวลาที่เหมาะสมเท่านั้น การจะให้ลูกกินข้าวได้ ลองงดให้นมมื้อเช้ามืด หรือให้เฉพาะเวลาที่เหมาะสม พอลูกตื่นขึ้นมากระเพาะจะได้ว่าง เมื่อลูกรู้สึกหิว จะได้ทานอาหารได้นั่นเองค่ะ

4. หน้าตาของอาหารช่วยได้

แต่งอาหารมีสีสันแต่งรูปร่างอาหารในจานให้มีหน้าตาน่ากินและเข้ากับจินตนาการของเด็ก เช่น รูปดาว รูปดวงอาทิตย์ รูปการ์ตูนที่ลูกชอบ ซึ่งอาจปรับเปลี่ยนรูปร่างของอาหาร เพื่อให้ลูกใช้มือหยิบกินหรือใช้ช้อนตักกินได้ถนัด

5. จัดบรรยากาศการกิน

จัดบรรยากาศในห้องอาหารให้สงบ ปิดโทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ เครื่องเล่นต่างๆ และงดการเล่นไว้ก่อน วางอาหารบนโต๊ะอาหาร กินอาหารร่วมโต๊ะอาหารพร้อมครอบครัว

6. จำกัดเวลาทานอาหาร

ชักชวนให้เด็กทานอาหาร โดยไม่แสดงความกังวลหรือติเตียน จำกัดเวลาในการรับประทานอาหารแต่ละมื้อ ให้เวลาลูกกินอาหาร 20 นาที ไม่กินเก็บ และจะให้กินอีกเมื่อถึงเวลาอาหารมื้อต่อไปหรือเมื่อลูกแสดงอาการหิว มื้อเช้าเป็นมื้ออาหารที่สำคัญ หากได้อาหารโปรตีน เช่น ไข่สักฟอง ปลาทูครึ่ง-1ตัว ได้จะดีมากค่ะ

7. ลูกมีส่วนร่วมในการทำอาหาร

ลองเลือกอาหารที่ลูกต้องมีส่วนร่วมในการทำก่อนกิน เช่น อาหารที่ต้องจิ้มดิป ต้องทาแยมก่อน ฯลฯ เด็กๆ จะสนุกเหมือนได้เล่นไปด้วยในเวลาเดียวกัน

สิ่งสำคัญคือ เราควรปล่อยให้ลูกกินตามปกติไม่ว่าจะเร็วหรือช้าแค่ไหนและอย่าพยายามเร่งให้ลูกกินอาหารหมดจานเร็วๆ เพราะจะเป็นการสร้างแรงกดดัน และสร้างอคติให้กับลูกทำให้ไม่อยากกินอาหารอีกนั่นเองค่ะ

ที่มา :