Parents One

NEWS: นักวิชาการชี้ เด็กสอบเข้าป.1 ส่งผลต่อพัฒนาการเด็กในแง่ลบหลายด้าน

เป็นที่ถกเถียงในสังคมกันมาสักพักกับประเด็นที่ว่า จำเป็นแค่ไหนที่ต้องให้เด็กสอบเข้าป.1 นั้น ทางคณะครุศาสตร์ ม.สวนดุสิต ร่วมกับสวนดุสิตโพลจึงได้เผยผลการวิจัยเรื่องเด็กสอบเข้าป.1 ว่า นักวิชาการไม่เห็นด้วย 100% ในการสอบเข้า เพราะเห็นว่าจะส่งผลถึงพัฒนาการของเด็กในแง่ลบหลายด้าน แนะให้ใช้วิธีที่หลากหลายในการคัดเด็กเข้าเรียน

ผศ.ดร.ชนะศึก นิชานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาการศึกษา ม.สวนดุสิตกล่าวว่า สถาบันการวิจัยและพัฒนา สาขาการศึกษาปฐมวัย คณะครุศาสตร์ และสวนดุสิตโพล ได้ศึกษาวิจัยเรื่องดังกล่าว โดยการสัมภาษณ์และแบบสอบถามในเชิงลึกและเชิงกว้าง กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วยนักวิชการ  ผู้บริหารโรงเรียน  ครู ผู้ปกครองและเด็ก ผลวิจัยพบว่านักการศึกษาและผู้เชี่ยวชาญไม่เห็นด้วย 100 % กับการให้เด็กสอบเข้าป.1 ผู้บริหารโรงเรียน ไม่เห็นด้วย 75 % เห็นด้วย 25% ครูอนุบาลไม่เห็นด้วย 58 % เห็นด้วย 42 %  และผู้ปกครองไม่เห็นด้วย 48.23 %  เห็นด้วย 51.11%

สำหรับผู้ที่เห็นด้วยได้ให้เหตุผลไว้ว่า เด็กได้ฝึกทักษะทางวิชาการ เพื่อเตรียมตัวสอบ การสอบทำให้โรงเรียนประถมศึกษาสามารถจัดเด็กที่มีความสามารถใกล้เคียงกันไว้ห้องเดียวกัน เด็กทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกันในการศึกษาต่อโรงเรียนที่มีชื่อเสียงและสามารถตรวจสอบได้ 

ส่วนเหตุผลที่ไม่เห็นด้วยกับการสอบคือ การสอบไม่สามารถประเมินความสามารถของเด็กได้ครอบคลุมทุกด้าน การสอบไม่สอดคล้องกับหลักการทางการศึกษาปฐมวัย และการประเมินพัฒนาการของเด็กปฐมวัย เด็กเกิดความกดดันและความเครียด และไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะสมตามวัย

โดยระบบการสอบคัดเลือกเพื่อเข้าศึกษาต่อป.1 มีผลต่อตัวเด็ก 4 ด้านคือ 

1.ด้านร่างกาย : การสอบทำให้เด็กขาดโอกาสในการพัฒนาทางด้านร่างกาย ที่น่าตกใจคือโรงเรียนหลายแห่งไม่ให้เด็กนอนกลางวันแล้ว เพราะเอาเวลานอนไปติวให้แก่เด็กเพื่อสอบเข้า

2.ด้านอารมณ์ : เด็กเกิดความกดดัน  เครียดสะสมบางคนถึงอาเจียน ทำให้ความสุขของเด็กลดลง ถ้าเด็กสอบไม่ได้ก็จะรู้สึกเสียใจที่ทำให้พ่อแม่ผิดหวัง นำไปสู่การทำลายความมั่นใจของเด็ก

3.ด้านสังคม-จิตใจ : ในส่วนนี้มีผลที่เป็นเชิงบวกอยู่บ้าง คือ การเรียนพิเศษทำให้เด็กๆ ได้เจอเพื่อนใหม่ ถือว่าใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ได้ แต่ในผลเชิงลบพบว่า เด็กขาดโอกาสในการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน เพราะมุ่งเน้นฝึกทำข้อสอบ ปลูกฝังลักษณะนิสัยชอบเอาชนะ

4.ด้านสติปัญญา : เด็กเรียนรู้แต่การท่องจำและฝึกทักษะทางวิชาการ ทำให้สมองของเด็กไม่ได้รับการพัฒนาอย่างถูกต้อง และเหมาะสมกับวัยของเด็ก

นอกจากนี้การสอบเข้ายังส่งผลกระทบต่อครอบครัวด้วย คือ การใช้เวลาร่วมกันของครอบครัวลดลง ครอบครัวต้องเสียเงินเป็นจำนวนมากจ่ายค่าเรียนพิเศษ หรือการกวดวิชา บางครอบครัวเสียค่ากวดวิชา เพื่อเตรียมสอบเข้าเกิน 100,000 บาท ต่อปี

ผศ.ดร.ชนะศึก กล่าวเพิ่มเติมถึงข้อเสนอแนะในการคัดเลือกเด็กเข้าป.1 ว่า ควรมีความหลากหลายมากกว่าแค่การสอบ เช่น การประเมินพัฒนาการและสมรรถนะของเด็กตามวัย การรับเด็กในเขตพื้นที่บริการ/ใกล้บ้าน การจับฉลาก การสัมภาษณ์เด็ก การทดสอบ การสัมภาษณ์พ่อแม่ แต่อย่างไรก็ตามไม่มีวิธีไหนดีที่สุด โรงเรียนควรใช้วิธีที่หลากหลายในการคัดเลือกเด็กเข้าศึกษาต่อ และการใช้วิธีการทดสอบควรอยู่ในมาตรฐาน หรือเกณฑ์การพัฒนาตามความพร้อมในแต่ละช่วงวัย

อ้างอิงจาก

dailynews.co.th/