Parents One

NEWS: การรังแกกันในโรงเรียนของเด็กไทยรุนแรงติดอันดับ 2 ของโลก

หากลูกไม่อยากไปโรงเรียน ลองถามสาเหตุจากลูกดูนะคะว่าถูกแกล้งมารึเปล่า ไม่ว่าจะเป็นการแกล้งเรื่องเล็กๆ หรือการแกล้งกันที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในโลกออนไลน์ (Cyber bully) หรือในชีวิตจริงก็ตาม มันจะส่งผลกระทบระยะยาวและนำไปสู่พฤติกรรมรุนแรงในอนาคตได้

นาวาอากาศตรี นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงสถานการณ์การรังแกกันในโรงเรียนมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น ไม่ได้เป็นเพียงแค่เรื่องเล็กๆ อย่างที่ผู้ใหญ่เข้าใจกัน โดยเด็กที่รังแกกันมีตั้งแต่อนุบาล ซึ่งการรังแกหรือหยอกล้อกันในโรงเรียน เป็นจุดเริ่มต้นในการปลูกฝังเด็กเรื่องความรุนแรง ที่มีผลกระทบต่อทั้งผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ

เด็กที่ถูกรังแกส่วนใหญ่จะเป็นเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการล่าช้า เด็กพิการ และเด็กเพศทางเลือก ซึ่งเด็กที่ถูกรังแกจะเครียดและมีแนวโน้มเป็นโรคซึมเศร้า ไม่อยากไปโรงเรียน ซึ่งจะส่งผลกระทบในเรื่องการเข้าสังคม หรือที่เลวร้ายไปกว่านั้นคือเปลี่ยนพฤติกรรมมาเป็นผู้รังแกคนอื่นเองเพื่อเป็นการแก้แค้น อาจทำร้ายตัวเองจนถึงขั้นฆ่าตัวตายได้

ส่วนเด็กที่รังแกคนอื่น พบว่าเป็นเด็กกลุ่มที่ครอบครัวมีการใช้ความรุนแรง หรือเด็กที่ป่วยโรคทางจิตเวช เมื่อรังแกคนอื่นบ่อยเข้าก็จะกลายเป็นนิสัยที่เคยชิน มีบุคลิกภาพแบบใช้ความก้าวร้าว ความรุนแรงต่อผู้อื่น มีความรู้สึกผิดน้อย และมักใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา อาจส่งผลให้เป็นอันธพาลหรือเป็นอาชญากรได้

ทั้งนี้ ข้อมูลผลการสำรวจในโครงการติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชนรายจังหวัด พบว่ามีเด็กถูกรังแกในสถานศึกษาปีละประมาณ 600,000 คน ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในอันดับ 2 ของโลก ที่มีสัดส่วนนักเรียนถูกรังแกจากเพื่อนนักเรียนด้วยกันสูงถึงร้อยละ 40 รองจากญี่ปุ่น ขณะที่ในปี 2553 การสำรวจนักเรียนนักศึกษาในสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ พบว่าร้อยละ 33 เคยรังแกผู้อื่นทางออนไลน์ อีกร้อยละ 43 บอกว่าเคยถูกคนอื่นรังแก

ด้าน พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ขณะนี้สถาบันฯ ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ อยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนาโปรแกรมป้องกันการรังแกกันในโรงเรียนที่สอดคล้องกับบริบทโรงเรียนไทย เน้นที่กลุ่มเด็กชั้นประถมศึกษา อายุ 6-13 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยของการเรียนรู้เรื่องเพื่อนการพัฒนาบุคลิกภาพ พัฒนาการด้านศีลธรรมและการอยู่ในสังคมที่สำคัญ คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ พร้อมใช้ทั่วประเทศในปีการศึกษาหน้านี้

อ้างอิงจาก

ขอบคุณภาพจาก