Parents One

5 โรคฮิตที่แม่ท้องควรระวัง!

สุขภาพดีเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ต้องยิ่งดูแลสุขภาพมากเป็นพิเศษ เพราะมีอีกหนึ่งชีวิตน้อยๆ ที่ต้องดูแล ทั้ง 5 โรคนี้ เป็นโรคที่พบบ่อย และมักเกิดกับคุณแม่ตั้งครรภ์ ซึ่งในระหว่างตั้งครรภ์นี้คุณแม่ควรระมัดระวังโรคพวกนี้อย่างมากเพราะจะส่งผลเสียถึงลูกในท้องได้ จะมีโรคอะไรบ้างไปดูกันเลยค่ะ

1. โรคซึมเศร้า

อาการ มีอาการที่หลากหลายคือ รู้สึกซึมเศร้าหดหู่ สะเทือนใจและร้องไห้ง่าย บางครั้งรู้สึกเบื่อหบ่ายกับสิ่งต่างๆ และจิตใจไม่สดชื่นเหมือนเดิม และมักมีอาการนอนไม่หลับร่วมด้วย

สาเหตุ เกิดจากความเครียดหรือความกดดันในชีวิตจากหลายสาเหตุ อาทิ ขาดการดูแลเอาใจใส่จากคนใกล้ชิด ปัญหา หรือความรุนแรงในครอบครัว มีโรคหรือภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ เคยมีประวัติแท้งบุตรมาก่อน ตั้งครรภ์ในช่วงที่แม่อายุน้อยเกินไปหรือยังไม่พร้อมที่จะตั้งครรภ์ ทำให้คิดหรือตัดสินใจได้ยากลำบากขึ้นและบางครั้งอาจทำให้เกิดความผิดพลาดได้ จนส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างแม่และทารกในครรภ์ และเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าหลีงคลอดตามมาด้วย

การป้องกัน เป็นอาการธรรมดาที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน แม้แต่คนที่อารมณ์ดีเสมอ ถ้ามีอาการควรทำกิจกรรมที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย เช่น การเดินออกกำลังกาย ทำสมาธิ การพูดคุยปรึกษาสิ่งที่กังวลใจกับคนรัก ครอบครัว และเพื่อนสนิท จะช่วยให้สามารถจัดการกับภาวะอารมณ์แปรปรวนและเปิดโอกาสให้คนอื่นได้รับรู้และเข้าใจความรู้สึกที่เปลี่ยนไปได้ดีขึ้น

2. โรคความดันโลหิตสูง

อาการ ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการแต่อย่างใด และมักจะตรวจพบโดยบังเอิญขณะไปให้แพทย์ตรวจรักษา ส่วนน้อยอาจมีอาการมึนท้ายทอย เวียนศีรษะ หรือหากเป็นมากอาจมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ใจสั่น นอนไม่หลับ มือเท้าชา ตามัวหรือมีเลือดกำเดาไหล

สาเหตุ ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่จะพบบ่อยในคุณแม่ตั้งครรภ์ที่อายุน้อยหรืออายุมาก และมักพบในการตั้งครรภ์แรก นอกจากนั้นสามารถพบได้ในตั้งครรภ์แฝดหรือมีประวัติสมาชิกในครอบครัวที่แม่เคยเป็นโรคนี้ขณะตั้งตั้งครรภ์

การป้องกัน ควรจะตั้งครรภ์ในอายุที่เหมาะสม ฝากครรภ์และปรึกษาแพทย์ เพื่อจะสามารถตรวจพบตั้งแต่แรกและให้การรักษาได้ทันท่วงที

3. โรคเบาหวาน

อาการ ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการบ่งบอกของโรคจะทราบก็ต่อเมื่อเข้ามารับการตรวจคัดกรอง โดยสูตินรีแพทย์จะเป็นผู้ประเมินความเสี่ยงและกำหนดเวลาที่ควรตรวจคัดกรองเบาหวาน

สาเหตุ ขณะตั้งครรภ์ รกสร้างฮอร์โมนหลายชนิดซึ่งเข้าไปในร่างกายคุณแม่ตั้งครรภ์ ทำให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน เป็นเหตุให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงจนกลายเป็นเบาหวานได้ หลังคลอดระดับน้ำตาลในเลือดคุณแม่มักจะกลับสู่ปกติ

การป้องกัน ถ้าเป็นกลุ่มเสี่ยงเวลาตั้งครรภ์ต้องรีบไปฝากครรภ์ ถ้าตรวจพบจะได้รักษาและปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ไม่เคยมีประวัติเป็นเบาหวานมาก่อน ควรไปรับการตรวจวัดน้ำตาลในเลือด เพื่อดูว่าเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์หรือไม่ ถ้าพบว่าเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ควรได้รับการดูแลจากสูตินรีแพทย์อย่างจริงจัง

4. ภาวะแพ้ท้องรุนแรง

อาการ คลื่นไส้และอาเจียนเป็นเวลานานและรุนแรง ซึ่งมีผู้หญิงบางคนรายงานว่าตัวเองมีอาการดังกล่าวมากถึง 50 ครั้งต่อวัน มีภาวะน้ำหนักลด ความดันโลหิตต่ำเมื่อยืน

สาเหตุ ยังไม่มีใครรู้ว่าอาการแพ้ท้องอย่างรุนแรงเกิดจากสาเหตุใด หรือทำไมผู้หญิงบางคนมีอาการดังกล่าวในขณะที่ผู้หญิงคนอื่นๆ ไม่มีอาการ อย่างไรก็ดี มีผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่ามันมีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายที่เกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ หากคุณมีอาการแพ้ท้องอย่างรุนแรงจากการตั้งครรภ์ครั้งก่อน คุณมีแนวโน้มที่จะมีอาการนี้อีกครั้งในการตั้งครรภ์ครั้งถัดไป

การป้องกัน มียาที่สามารถใช้รักษาภาวะแพ้ท้องอย่างรุนแรงในขณะตั้งครรภ์ ซึ่งหมายความรวมถึงช่วง 12 สัปดาห์แรก สำหรับตัวอย่างยาที่ใช้รักษา เช่น ยาลดอาเจียน วิตามิน บี6 วิตามิน บี12 หากคุณไม่สามารถควบคุมอาการคลื่นไส้และอาเจียน คุณแม่อาจต้องนอนรักษาตัวภายในโรงพยาบาลเพื่อที่แพทย์สามารถประเมินอาการและทำการรักษาดูแลสุขภาพของคุณแม่และลูกน้อยค่ะ

5. ภาวะติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ

อาการ รู้สึกปวดขัดหรือแสบร้อนเวลาถ่ายปัสสาวะ อาจมีอาการปวดที่ท้องน้อยร่วมด้วย ปัสสาวะอาจมีกลิ่นเหม็น สีหมักใส แต่บางรายอาจขุ่นหรือมีเลือดปน

สาเหตุ จากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย ระบบทางเดินปัสสาวะจะทำงานมากขึ้นกว่าเดิม ท่อไตจะเกิดการยืดขยายและเคลื่อนไหวได้ช้าลงกว่าเดิม กระเพาะปัสสาวะจะมีความจุน้อยลงจากการกดเบียดของมดลูกไปดันกระเพาะปัสสาวะ ทำให้กระเพาะปัสสาวะทำงานได้ไม่ดี มีคั่งค้างนาน หรืออั้นกั้นปัสสาวะนานๆ จึงเกิดการติดเชื้อได้ง่าย

การป้องกัน พยายามดื่มน้ำมากๆ และระวังตัวอย่าอั้นปัสสาวะ การอั้นปัสสาวะนานๆ ทำให้เชื้อโรคอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ และหลังถ่ายอุจจาระควรใช้กระดาษชำระเช็ดทำความสะอาดจากข้างหน้าไปข้างหลัง เพื่อป้องกันมิให้นำเชื้อโรคจากบริเวณทวารหนักเข้าสู่ท่อปัสสาวะ รวมทั้งการดูแลความสะอาดของกางเกงในและไม่รัดอึดอัด เพื่อให้ระบายอากาศได้ดี

ที่มา :