Parents One

NEWS: อย่าเดินเท้าเปล่า! ระวังตัวอ่อนพยาธิไชตามผิวหนัง

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณะสุข เตือนให้ระวังตัวอ่อนพยาธิไชเท้า เนื่องจากไม่ใส่รองเท้าเวลาเดิน ทั้งตามพื้นดินและพื้นทรายตามชายหาด รวมไปถึงเด็กที่นั่งเล่นตามพื้นดินและชาดหาดด้วย โดยพยาธิตัวอ่อนนั้นจะเคลื่อนที่ไปตามผิวหนังกำพร้าเท่านั้น ไม่ไชเข้าเส้นเลือด

นายแพทย์สุวรรณชัย  วัฒนายิ่งเจริญชัย  อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้ให้ข้อมูลว่า โรคตัวอ่อนพยาธิชอนไชผิวหนัง (Cutaneous larva migrans) เป็นโรคที่เกิดจากตัวอ่อนพยาธิปากขอของสัตว์ เช่น หมา แมว แพะ แกะ เป็นต้น ซึ่งจะไชเข้าไปทางผิวหนัง ผ่านทางรอยแผลหรือรูขุมขนในผิวหนังชั้นนอกหรือชั้นหนังกำพร้าเท่านั้น เกิดผื่นเส้นนูนแดงคดเคี้ยวใต้ผิวหนังตามทางที่ตัวอ่อนพยาธิไชผ่าน แต่จะไม่ทะลุเข้าไปในชั้นหนังแท้ เพราะคนไม่ใช่พาหะที่ตัวอ่อนจะเจริญเติบโตเต็มวัยได้ มันจะพยายามหาทางออกจึงชอนไชไปตามผิวหนัง และจะตายเองภายใน 2 สัปดาห์ – 1 เดือน

ซึ่งการเกิดโรคตัวอ่อนพยาธิชอนไชผิวหนังนั้นจะเกิดได้โดยบังเอิญ จากการที่ตัวอ่อนของพยาธิที่อาศัยตามพื้นดินหรือทรายที่เฉอะแฉะ แล้วไชเข้าผิวหนังของคนที่เดินเท้าเปล่า หรือเข้าตามผิวหนังของเด็กที่นั่งเล่นตามพื้นตินหรือทรายตามชายหาดและสามารถชอนไชผ่านเสื้อผ้าบางๆ ของเด็กได้

สำหรับอาการคือ 2-3 ชั่วโมงแรกหลังจากที่ถูกตัวอ่อนพยาธิไชผิวหนังจะอักเสบ และอีก 2-3 วันจะเคลื่อนที่ไปที่ใต้ชั้นหนังกำพร้า ผิวหนังจะอักเสบ บวมน้ำ จากนั้นจะเกิดผื่น โดยตอนแรกจะเป็นตุ่มเล็กๆ สีแดง เมื่อตัวอ่อนพยาธิไชเข้าไปจะเห็นรอยแผล เป็นผื่นเส้นนูนสีแดงกว้าง 2-3 มิลลิเมตร คดเคี้ยวไปมา ผื่นมักพบบริเวณผิวหนังที่สัมผัสกับดินโดยตรงคือ มือ เท้า ในเด็กเล็กอาจพบผื่นที่ก้นได้ อาการร่วมที่สำคัญคือมีอาการคันมาก อาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้ ดังนั้นหากเกิดโรคนี้ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจัยและรักษาอย่างถูกวิธี

กรมควบคุมโรค ขอแนะนำวิธีป้องกันโรคดังกล่าวโดยต้องหลีกเลี่ยงพื้นดินที่เฉอะแฉ และสวมร้องเท้าทุกครั้งที่ต้องเดินบนพื้นดินและให้รีบล้างเท้าทำความสะอาดหลังจากที่เดินชายหาด สวมถุงมือทุกครั้งที่ต้องสัมผัสกับดิน เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวอ่อนพยาธิไชเข้าสู้ร่างกาย นอกจากนี้ยังควรล้างมือบ่อยๆ ทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ อีกทั้งหากเลี้ยงหมาและแมว ก็ควรนำสัตว์เลี้ยงไปตรวจเพื่อดูว่ามีโรคหนอนพยาธิในสัตว์หรือไม่

หากมีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักโรคติดต่อทั่วไป โทร. 0-2590-3180  หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

อ้างอิงจาก