Parents One

วิธีรับมือเมื่อลูกติดเกมหนักมาก แบบฉบับไม่ให้ทะเลาะกัน

กระแสยุคสังคมดิจิทัลมีความรวดเร็วมาก โดยเฉพาะเกมออนไลน์ เกมต่างๆ ซึ่งมีการพัฒนาให้มีการแข่งขันมากขึ้นยิ่งดึงดูดให้เด็กติดเกมมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันเด็กไทยมีความเสี่ยงติดเกมกว่า 2 ล้านคน ส่งผลต่อสมองและพัฒนาการของเด็กอย่างต่อเนื่อง แล้วจะมีวิธีรับมืออย่างไรให้ลูกที่ติดเกมเล่นแต่พอดี ไม่ทำให้เสียการเรียน ครอบครัว และสังคม ในแบบที่ไม่กดดันหรือทะเลาะกับลูก ไปดูกันค่ะ

ลูกติดเกมพ่อแม่ช่วยได้

1. อธิบายให้ลูกเข้าใจระหว่างโลกความจริงกับโลกในเกมว่ามันแตกต่างกัน

ผู้ปกครองควรอธิบายอย่างใจเย็นให้เด็กเล็กฟังถึงความแตกต่างระหว่างโลกแห่งความเป็นจริงและโลกเสมือนจริงที่ถูกสร้างขึ้นมาในเกม เพราะเด็กอาจจะยังแยกไม่ออกระหว่างโลกทั้งสอง ทำให้ติดและอยากเข้าไปอยู่จนทำให้ติดเกมจนถอนตัวไม่ขึ้น หากไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรดี ลองอธิบายให้เข้าใจว่า ทำไมตัวการ์ตูนในเกมถึงฟื้นคืนชีพทั้งๆ ที่วิ่งตกเหวหลายรอบ แต่ในชีวิตจริงไม่เป็นอย่างนั้น หรือการทำพลาดในเกมบางอย่างไม่เป็นไร แต่ในชีวิตจริงไม่เหมือนกัน

2. เข้าไปรู้จักกับเกมที่ลูกเล่น 

การเข้าไปรู้จักกับเกมที่เด็กเล่น เพราะต้องยอมรับว่าเกมไม่ได้ส่งผลเสียต่อเด็กทุกเกม บางเกมสามารถส่งเสริมพัฒนาการได้ การเข้าไปทำความรู้จักกับเกมเพื่อหาโอกาสคุยกับลูกได้มากขึ้นซึ่งอาจเป็นการกระชับสัมพันธภาพ รู้จักในสิ่งที่ลูกชอบ เพื่อสามารถชวนมาทำกิจกรรมอื่นๆ ในลักษณะที่ลูกชอบร่วมกัน หรือแนะนำเกมที่เหมาะสมและส่งเสริมพัฒนาการของลูกได้

3. ตั้งกฎในการเล่นเกมใหม่

ควรกำหนดเวลาและสร้างเงื่อนไขในการเล่นเกมของลูก โดยให้ลูกเล่นเกมออนไลน์ได้ก็ต่อเมื่อเขารับผิดชอบงานของตนเองเสร็จเรียบร้อยแล้ว หรือหลังจากทำกิจกรรมในครอบครัวร่วมกันเสร็จ เช่น หลังออกกำลังกาย เล่นหลังทำการบ้านเสร็จ หรืออ่านหนังสือเสร็จแล้ว เป็นต้น และกำหนดเวลาไม่ให้อยู่กับหน้าจอเกมนานเกินไป เช่น เล่นได้ไม่เกินวันละ 1 ชั่วโมงในช่วงเปิดภาคเรียน และไม่เกิน 2 ชั่วโมงในช่วงปิดเทอม เป็นต้น เพื่อให้เด็กรู้จักการเล่นเกมอย่างพอเหมาะ ไม่ใช่ห้ามเล่นเลย ให้ลูกมีส่วนร่วมในการตั้งกฏกติกา และให้รางวัล ชมเชยเมื่อลูกสามารถทำได้ตามกฎที่ตั้งไว้

4. เบี่ยงเบนความสนใจและให้รางวัล

การเบี่ยงเบนความสนใจเด็กให้ไปทำกิจกรรมที่เขาสามารถทำร่วมกับพ่อแม่ได้ ให้ลูกมีส่วนร่วมในการเลือกกิจกรรมตั้งกฏกติกา และให้รางวัล ชมเชยเมื่อลูกสามารถทำกิจกรรมนั้นๆ ได้ เช่น เล่นกีฬาที่ลูกชอบ การออกกำลังกาย การอ่านหนังสือกับเขาก่อนเข้านอนหรือตอนตื่นเช้า ช่วยเพิ่มสมาธิให้กับเด็กได้เป็นอย่างดี ลองทำเป็นกิจวัตรกับเขาทุกๆ วัน ซึ่งจะเกิดมีผลดีในระยะยาว ทำให้เขาจับมือถือเพื่อเล่นเกมน้อยลง

5. ให้เวลากับลูก

ผู้ปกครองควรมองหาจุดดีของเด็ก ชม กอด หอม สัมผัส เพื่อดึงเด็กกลับมาในครอบครัว เมื่อความสัมพันธ์ดีขึ้นเด็กจะมีความเกรงใจและเชื่อฟังผู้ปกครองมากขึ้น และคำพูดของพ่อแม่ที่ว่า “ไม่รู้จะทำอะไร ไม่มีเวลา ไม่มีอะไรทำ” เป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กติดเกมได้ง่าย ฉะนั้นควรหลีกเลี่ยงและหากิจกรรมสร้างสรรค์ทำร่วมกันในครอบครัวค่ะ

6. เอาอุปกรณ์ในการเล่นเกมออกจากห้องนอนลูก

ควรเคลียร์ห้องนอนลูกให้เป็นพื้นที่สำหรับการนอนจริงๆ ไม่เอามือถือ คอมพิวเตอร์ ไอแพด หรืออุปกรณ์ใดๆ ที่ใช้ในการเล่นเกมเข้าไปด้วย เพราะจะทำให้เขาแอบเล่นเกมตอนกลางคืนจนไปงีบหลับในห้องเรียน รบกวนวงจรเวลานอนที่ดีของลูก อุปกรณ์ที่ใช้ในการเล่นเกมหากมีเป็นส่วนตัวโอกาสที่จะติดเกมก็เพิ่มขึ้น พ่อแม่อาจติดตั้งอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ไว้บริเวณห้องนั่งเล่น ห้องดูหนัง หรือพื้นที่ส่วนรวมของบ้านเพื่อตรวจสอบได้ง่าย

พ่อแม่สามารถแก้ปัญหาลูกติดเกมได้ด้วยตัวเอง สิ่งแรกพ่อแม่ต้องค้นพบให้ได้ว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกเข้าข่ายติดเกม โดย “การสังเกต” ให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในตัวลูกและทำความเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นกับเด็ก พ่อแม่ควรมองย้อนกลับไปหาต้นตอที่ทำให้ลูกติดเกมและแก้ไข หากอาการติดเกมเกิดกับลูกตัวน้อยของเราจนเขาเริ่มมีอาการตัดขาดจากโลกภายนอก คุณพ่อคุณแม่หาทางแก้ไขโดยด่วนค่ะ

ที่มา – dailyness , phyathai