Parents One

8 พฤติกรรมไม่ดีในวัยเด็กส่งผลต่อการเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต

วัยเด็กตอนต้น หรือวัยก่อนเรียน (ช่วง 2-6 ปี) วัยนี้จะเริ่มรู้จักบุคคล สิ่งแวดล้อม สิ่งของ สามารถใช้อวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายได้หลากหลาย เริ่มเข้าใจลักษณะการสื่อสาร และสามารถใช้ภาษาได้มากขึ้น มีอยากรู้อยากเห็น ช่างถาม เป็นตัวของตัวเอง เริ่มรู้จักพึ่งพาตนเอง รู้จักเรียนรู้วิธีแก้ไขปัญหา นอกจากนี้เด็กจะแสดงความรู้สึกนึกคิดของตนจากการพูดคุย การแสดงออก ความเฉลียวฉลาด ซึ่งจะเป็นเอกลักษณ์ของเด็กแต่ละคนด้วย ดังนั้นจึงพบว่าเด็กวัยนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงด้านบุคลิกภาพและมีพัฒนาการด้านจริยธรรมอย่างชัดเจน ดังนั้น พฤติกรรมเด็กในวัยนี้จะส่งผลต่อไปในอนาคต มาดูกันว่าพฤติกรรมต่างๆ ของเด็กจะส่งผลต่อตอนโตเป็นผู้ใหญ่อย่างไรบ้าง

1. ไม่มีระเบียบวินัย

เด็กๆ ทุกคนต่างก็มีนิสัยเสียไม่มากก็น้อย เช่น การไม่ตรงต่อเวลา ไปโรงเรียนสาย ไม่มีระเบียบวินัย ใส่เสื้อผ้าไม่เรียบร้อย หรือเก็บของเล่นไม่เป็นที่เป็นทาง ซึ่งความไม่เป็นระเบียบเหล่านี้ หากคุณพ่อคุณแม่ยังปล่อยปละละเลย จะทำให้ลูกเลิกนิสัยนั้นได้ยาก และจะส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้ชีวิตอย่างไม่เป็นระเบียบวินัยต่อไปในอนาคต

2. ชอบพูดปด

สำหรับการตัดสินว่า เด็กพูดปดหรือไม่นั้น ผู้ใหญ่มักใช้ความเข้าใจของตนเองเป็นหลัก ว่าเด็กต้องการผลประโยชน์ หรือหลบเลี่ยงสิ่งที่เด็กเองไม่ชอบ แต่หากพบในเด็กวัย 3 ถึง 5 ขวบ แล้ว อาจไม่เรียกว่า เป็นการพูดปดก็ได้เนื่องจากเด็กยังไม่มีพัฒนาการการเข้าใจ และใช้ภาษาอย่างสมบูรณ์พอ ความหมายของคำที่เด็กพูด อาจไม่ตรงกับที่ผู้ใหญ่เข้าใจหรือคิดว่าการพูดปดจะทำให้คนอื่นหันมาสนใจ คุณพ่อคุณแม่ควรตัดสินสิ่งที่เขากระทำอย่างยุติธรรมสม่ำเสมอ และสอนให้ลูกพูดความจริงไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ถูกหรือผิดก็ตาม

3. ใช้มือถือ แทปเล็ต มากเกินไป

อุปกรณ์เหล่านี้หากสอนลูกใช้ทางที่ถูกก็จะเกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้ แต่หากปล่อยให้ลูกใช้โดยลูกไปดูยูทูปที่ไม่เหมาะสำหรับเด็ก เล่นเกมที่ไม่เหมาะสมกับวัย สิ่งเหล่านี้ล้วนง่ายต่อการจดจำของเด็ก และชักจูงให้ลูกทำสิ่งที่ไม่ดีได้ ดังนั้นหากเหล่าหลีกเลี่ยงเมื่อลูกขอเล่นไม่ได้ คุณพ่อคุณแม่ควรควบคุมพฤติกรรมการใช้ เช่น การกำหนดเวลา และการนั่งเล่นหรือดูไปพร้อมกันเพื่ออธิบาย ก็จะได้รับประโยชน์ที่แท้จริงจากการใช้อินเตอร์เน็ตค่ะ

4. กินขนมหรืออาหารที่ไม่มีประโยชน์

กินขนมหรืออาหารที่ไม่มีประโยชน์มากเกินไป หรือบ่อยเกินไป ซึ่งผู้ใหญ่ทุกคนรับรู้ได้ว่าอาหารชนิดไหนมีคุณค่าและมีประโยชน์สำหรับเด็ก การปล่อยให้ลูกกินขนมไม่มีประโยชน์ ของทอด ของมันๆ เช่น มันฝรั่งทอด ช็อกโกแลต ไอศกรีม ขนมที่มีรสหวาน ในปริมาณที่มากเกินไป หรือเอาใจโดยการให้ลูกกินทุกวัน จะเป็นการทำร้ายสุขภาพร่างกายของลูกโดยไม่รู้ตัว และเป็นการสร้างนิสัยการกินที่ไม่ดีจนติดเป็นนิสัยจนโตได้

5. ชอบลักขโมย

ในเด็กวัยอนุบาล เราอาจใช้คำว่า “หยิบของคนอื่นโดยไม่ได้ขอ” ซึ่งให้ความรู้สึกนุ่มนวลกว่า การว่าเด็กขโมย เนื่องจาก เด็กยังไม่เข้าใจเรื่องของความเป็นเจ้าของ โดยเฉพาะหากโตมาในบ้านที่ทุกคนในบ้านต่างหยิบของของกันและกันใช้ได้เป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้เด็กเอาของไปคืนเจ้าของ แต่หากเป็นการกระทำเพื่อหวังประโยชน์ก็ควรไต่ถาม แก้ไข ตามสาเหตุ เช่น สร้างสัมพันธภาพกับเด็กให้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ควรให้เด็กมีส่วนรับผิดชอบชดใช้กับการขโมยของตนด้วยตามเหมาะสม

6. ข่มเหงรังแกผู้อื่น

ทั้งเด็กและผู้ใหญ่เราต่างมีโอกาสเกี่ยวพันกับสถานการณ์ที่มีการรังแกผู้อื่นได้ โดยเฉพาะในบ้านที่มีพี่น้อง เรียกว่าเป็นเรื่องปกติก็ว่าได้ พบได้บ่อยในเด็กช่วงอายุ 1-3 ขวบ เพราะส่วนใหญ่เมื่อคุณแม่กำลังวุ่นวายกับการดูแลน้องทำให้พี่คนโตรู้สึกตัวเองขาดความสำคัญ จนต้องรังแกน้องเพื่อเรียกร้องความสนใจ สิ่งสำคัญก็คือว่า พ่อแม่จะช่วยให้เขาเป็นพี่ที่น่ารักได้อย่างไรเพื่อให้ติดนิสัยชอบรังแกผู้อื่นเพื่อเรียกร้องความสนใจ และป้องกันการใช้ความรุนแรงซึ่งจะมีผลต่อการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต

7. ขี้อิจฉา

ถ้าพ่อแม่ปล่อยไว้ แน่นอนว่าจะพลอยทำให้บรรยากาศในบ้านตึงเครียด รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างคุณพ่อคุณแม่เองด้วย เด็กเองจะมีความรู้สึกอยู่ตลอดว่า น้องได้รับความรักมากกว่า พ่อแม่ให้เวลามากกว่า ซึ่งส่งผลให้พี่รู้สึกว่าตนเองไม่มีค่า ไม่มีใครรัก อาจทำให้ลูกกลายเป็นเด็กขี้น้อยใจและชอบเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่นได้ในอนาคต

8. ได้รางวัลง่ายเกินไป

อันนี้ถือเป็นพฤติกรรมของคุณพ่อคุณแม่ที่ส่งผลต่อลูก เมื่อลูกๆ สามารถทำอะไรบางสิ่งที่สำเร็จ พ่อแม่ก็จะมอบรางวัลให้กับลูกง่ายเกินไป พวกเขาจะเริ่มเรียนรู้ที่จะทำทุกวิถีทางเพื่อจะโกง และสร้างเรื่องหลอกลวง เพื่อหลบเลี่ยงความยากลำบาก หรือความเป็นจริง เพื่อให้ได้รับของรางวัลโดยที่ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อย

วัยเด็กตอนต้นหรือวัยก่อนเรียน เป็นวัยที่มีพัฒนาการและมีการเปลี่ยนแปลงในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านบุคลิกภาพซึ่งจะเด่นชัดที่สุด กล่าวคือเด็กวัยนี้จะมีความต้องการเป็นตัวของตัวเองสูง ชอบช่วยเหลือตนเองให้มากที่สุด ปฏิเสธความช่วยเหลือจากผู้อื่น ขณะเดียวกันเด็กวัยนี้จะเริ่มเรียนรู้ในการมีเหตุผล และมีความสามารถในการคิดทางด้านคุณธรรม จริยธรรม ดังนั้น การเลี้ยงดูที่เหมาะสมสำหรับเด็กวัยนี้จะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการและมีวุฒิภาวะที่เหมาะสมต่อไป

ที่มา :