Parents One

“เจ้าหนูจำไม” ตอบแบบไหนได้ประโยชน์สูงสุด

คุณแม่คะทำไมนกบินได้? คุณพ่อครับนี่คือตัวอะไร? เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่หลายคนคงเคยมีประสบการณ์หรือกำลังได้รับประสบการณ์การรับมือกับเจ้าหนู “จำไม” ที่สงสัยเรื่องราวต่างๆ รอบตัว โดยเฉพาะเด็กวัย 3-5 ปี เป็นวัยที่มีพัฒนาการทางภาษาที่ดีขึ้น รู้จักตั้งคำถามและสงสัยเรื่องราวต่างๆ แล้วคุณพ่อคุณแม่จะมีวิธีอตอบคำถามลูกอย่างไรให้ได้ประโยชน์สูงสุดไปดูกันเลยค่ะ

1. ตอบคำถามด้วยภาษาง่ายๆ

เวลาลูกสงสัยเรื่องอะไร เขาอาจจะมีคำตอบอยู่ในใจ แต่ยังพูดอธิบายเองไม่ถูก และถ้าคำตอบของเราไม่ตรงกับกับที่เขาคิดไว้ เขาก็มักจะถามย้ำอยู่เรื่อย ๆ จนบางครั้งอาจทำให้คุณพ่อคุณแม่รู้สึกรำคาญได้ค่ะ เช่น เขาอาจเข้าใจว่าผลไม้สีแดงเป็นมะเขือเทศ ทั้งๆ ที่มันคือแอปเปิ้ล ถ้าเราบอกว่านั่นคือแอปเปิ้ล ลูกก็อาจถามย้ำอยู่เรื่อยๆ หากเป็นอย่างนี้คุณพ่อคุณแม่ก็อาจถามเขากลับว่า “แล้วหนูคิดว่ามันเป็นอะไรคะลูก” เพื่อที่จะได้รู้ว่าลูกเข้าใจว่าอย่างไร หรือสิ่งที่ลูกอยากรู้จริงๆ คืออะไร (ลูกอาจจะรู้แล้วว่าผลไม้นั้นคือแอปเปิ้ล และอยากจะทาน แต่ไม่รู้ว่าจะพูดว่าอย่างไร) ซึ่งตรงนี้ก็เป็นโอกาสที่เราจะสอนเขาต่อด้วยการอธิบายอย่างง่ายๆ ได้ว่า “หนูเห็นมันเป็นสีแดงเหมือนกับที่เรากินที่บ้านใช่มั้ยคะ แต่มันไม่ใช่มะเขือเทศนะ หนูลองดูดีๆ สิคะ เห็นมั้ยคะว่าเปลือกมันแข็งกว่า กลิ่นก็หอมๆ ด้วย” ตรงจุดนี้ คุณพ่อคุณแม่สามารถสอนเจาะลงในเรื่องที่ลูกยังไม่เข้าใจได้ค่ะ

2. ตั้งคำถามกับลูกจากเรื่องใกล้ๆ ตัว

หากลูกขี้สงสัยแล้วไม่อยากหาคำตอบ เราเองต้องทำตัวเป็นคนขี้สงสัย เพื่อกระตุ้นให้ลูกอยากหาคำตอบ ซึ่งเริ่มจากเรื่องง่ายๆ หรือสิ่งที่ลูกรู้อยู่แล้ว เช่น ทำไมสุนัขต้องเห่านะ ทำไมดอกไม้มีสีสวยๆ ลูกอาจจะตอบในแบบที่เขาคิด เขาอาจคิดว่าดอกไม้มีสีสวย เพราะหนูชอบ ในมุมของเด็กที่เขาตอบแบบนี้ไม่ใช่เรื่องผิดค่ะ แต่การถามหรือกระตุ้นให้ลูกตอบแล้วต่อยอดไปเรื่อยๆ จะทำให้เรารู้ว่าเขายังไม่รู้ในจุดไหน และคุณพ่อคุณแม่ต้องเสริมเพิ่มเติมให้เขาเรื่องไหนบ้างค่ะ

3. สอนลูกผ่านเกมการเล่น

เด็กวัยนี้ยังเข้าใจความเป็นเหตุเป็นผลได้ไม่ดีนัก อาจยังสับสนว่าสิ่งใดเป็นต้นเหตุและสิ่งใดเป็นผลลัพธ์ หรือสิ่งใดเกิดก่อนสิ่งใดเกิดหลัง โดยเริ่มต้นสอนได้จากการเล่นค่ะ เพราะจริงๆ การเล่นเปรียบเหมือนการลองผิดลองถูก เมื่อมีอุปสรรคหรือความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างเล่น จะเป็นโอกาสที่จะสอนลูกเกี่ยวกับเหตุผล และแก้ปัญหาด้วยตนเองได้ ตัวอย่างเกม เช่น

เกมอะไร-ทำไม

คำถาม “ทำไม” เป็นสิ่งที่ลูกคุ้นเคยดีอยู่แล้วค่ะ อาจเล่นเกมคำถามกับลูก เช่น “ลูกจ๋าทำไมนกบินได้” จากนั้นก็รอฟังคำตอบ แต่ถ้าเขายังไม่ตอบ เราก็อาจจะกระตุ้นว่า “เป็นแบบนี้ได้มั้ยลูก นกบินได้เพราะมันมีปีกและขาสั้น เวลาเดินมันอาจจะเมื่อย ก็เลยบินดีกว่า” ซึ่งวิธีนี้อาจช่วยกระตุ้นให้เขามีคำตอบและมีแนวทางมากขึ้น

เกมคาดเดาเหตุการณ์

เวลาขับรถพาลูกไปข้างนอก เราก็อาจจะให้เขาลองคาดเดาเหตุการณ์จากสัญญาณไฟจราจร เช่น ถามว่า “ต่อจากไฟแดง จะเป็นไฟอะไรนะ แล้วถ้าไฟเขียวเราทำยังไง” วิธีนี้จะช่วยกระตุ้นให้ลูกได้คิดและเข้าใจความเป็นเหตุเป็นผลด้วย ที่สำคัญ คุณพ่อคุณแม่สามารถหยิบยกทุกอย่างรอบตัวทั้งในบ้านและนอกบ้านได้

เกมตั้งคำถามสร้างจินตนาการ

เกมตั้งคำถามจากธรรมชาติรอบตัว เช่น เดินๆ ไปเจอใบไม้ ก็ลองให้ลูกคิดต่อว่า ใบไม้ไปทำอะไรได้บ้าง เขาอาจจะตอบว่าเอาไปลอยน้ำ เป็นเรือ แค่นี้ก็ช่วยให้เขาได้ใช้จินตนาการแล้วค่ะ

เกมฝึกประสาทสัมผัส

เช่น การฝึกการได้ยิน โดยนำของเล่นที่ลูกคุ้นเคย เช่น เครื่องเขย่า รถ กีต้าร์ เปียโน จากนั้นก็ให้เปิดตา แล้วเขาทายว่านี่เสียงอะไร ลูกก็จะได้ให้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 เป็นต้น

การตั้งคำถามของเด็กเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการตั้งคำถามในเด็กเป็นวิธีหนึ่งในการเข้าใจโลกของพวกเขา นอกจากนี้พัฒนาการทางภาษาที่ได้รับการกระตุ้นแล้ว ยังพัฒนาด้านสมองของเด็กอีกด้วย ซึ่งสมองมีผลโดยตรงต่อความฉลาดในด้านต่างๆ การได้รับการกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมทำให้สมองพัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพมากขึ้น นับเป็นโอกาสที่พ่อแม่จะปลูกฝังให้ลูกเป็นเด็กช่างคิด ช่างสงสัย และค้นหาคำตอบ เพื่อให้ลูก รักการเรียนรู้ไปตลอดจนโตค่ะ

ที่มา – rukluke