Parents One

NEWS: เด็กยะลาเสียชีวิต 5 รายเพราะโรคหัดระบาด

โรคหัดเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน แต่ในบางพื้นที่เด็กก็ไม่ได้รับวัคซีนเนื่องจากพ่อแม่ไม่พาลูกไปฉีดเพราะความเข้าใจผิด ซึ่งนั่นทำให้เกิดการระบาดของโรคและเป็นเหตุให้เด็กเสียชีวิตที่จังหวัดยะลา

นพ.สงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุข จังหวัดยะลา กล่าวว่า พบการระบาดของโรคหัดในเด็ก ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดยะลาเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน ถึง 9 ตุลาคม 2561 พบมีผู้ป่วยจำนวน 341 ราย ผู้ป่วยสูงสุดคือ ยะหา 93 ราย รอง ลงมาบันนังสตา 54 ราย ธารโต 52 ราย กรงปินัง และกาบัง 39 ราย อำเภอเมืองยะลา 38 ราย รามัน 21 ราย และเบตง 5 ราย โดยพบมีผู้เสียชีวิตแล้ว 5 ราย แบ่งเป็นที่ กรงปินัง 3 ราย บันนังสตา 1 ราย และธารโต 1 ราย

อาการของโรคหัดจะมีไข้ออกผื่น ในช่วงแรกมีอาการเริ่มต้น คือ มีไข้ มีน้ำมูก ไอ ตาแดง ตาแฉะ และกลัวแสง อาการต่างๆ จะมากขึ้นพร้อมกับการมีไข้สูง และจะสูงขึ้นเต็มที่เมื่อมีผื่นขึ้นในวันที่ 4 ลักษณะผื่นนูนแดงติดกันเป็นปื้นแพร่กระจายไปทั่วตัว

โรคหัดพบได้ทุกวัย แต่พบได้บ่อยในเด็กเล็ก 1-6 ปี เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งพบได้ในจมูก และลำคอ ติดต่อจากการไอ จาม หรือพูดระยะใกล้ชิด เชื้อกระจายอยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย และเข้าสู่ร่างกายโดยทางการหายใจ โรคหัดอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนที่ทำให้ป่วยเสียชีวิตได้

โดยเด็กที่เสียชีวิต 5 รายในจังหวัดยะลา เป็นผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัดมาก่อน เพราะบางพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อต้านการฉีดวัคซีนในเด็กมุสลิม ซึ่งรศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการ และผู้ก่อตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ยืนยันว่า วัคซีนทุกชนิดสามารถฉีดให้กับคนมุสลิมได้ ความเชื่อที่ว่า วัคซีนบางชนิดใช้กับคนมุสลิมไม่ได้ เป็นความเข้าใจผิด

อ้างอิงจาก