Parents One

NEWS: สพฉ. เตรียมหลักสูตรการศึกษา เอาตัวรอดใน 7 สถานการณ์ฉุกเฉิน

หลังจากเหตุการณ์ถ้ำหลวง ที่ทีมหมูป่าเข้าไปติดนั้น ในที่สุดตอนนี้ทั้ง 13 คนก็ปลอดภัยทั้งร่างกายและจิตใจแล้ว เรื่องนี้ถือเป็นบทเรียนให้แก่ทุกๆ คน ดังนั้นทางสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติและกระทรวงศึกษาธิการจึงร่วมมือกันร่างหลักสูตรการเอาตัวรอดใน 7 เหตุฉุกเฉินออกมาแล้วค่ะ

นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ได้กล่าวว่า การสอนให้เด็กๆ เตรียมการรับมือกับการเจ็บป่วยฉุกเฉินต่าง ๆ รวมถึงการสอนให้เขารู้ถึงวิธีในการเอาตัวรอดในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นเป็นเรื่องที่จำเป็นที่เราควรมีการบรรจุเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนที่ชัดเจน เพราะอาจเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้นมาเมื่อไรก็ได้ ดังนั้นจึงได้มีการร่างคู่มือต้นแบบออกมา 7 เรื่องเพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้เนื้อหาและวิธีปฏิบัติจากการเจ็บป่วยฉุกเฉินและภัยพิบัติต่างๆ

โดยหลักสูตรทั้ง 7 เรื่องได้แก่

1. การเรียนรู้การเอาตัวรอดจากจากการเดินเท้าทั้งบนฟุตบาท ทางเดิน หรือแม้กระทั่งการข้ามถน

2. หลักสูตรที่จะให้เด็กๆ ได้เรียนรู้และรับมือกับโรคจิตเวชซึ่งก็คือการเตรียมการรับมือกับเรื่องของภาวะซึมเศร้าและภาวะเครียด

3. หลักสูตรเรื่องการเตรียมพร้อมในการรับมือกับภาวะโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน

4. เรียนรู้อาการของโรคภาวะหัวใจขาดเลือดและเรียนรู้เรื่องการแจ้งขอความช่วยเหลือผ่านสายด่วน 1669

5. เรียนรู้เรื่องการเอาตัวรอดในสถานการณ์ฉุกเฉินจากเหตุอัคคีภัยและเหตุอุทกภัย โดยจะได้เรียนรู้วิธีเอาตัวรอดและหลักการในการช่วยเหลือคนที่ถูกต้อง

6. หลักสูตรเรื่องการเรียนการสอบเกี่ยวกับการทำ CPR หรือการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นต้น

7. หลักสูตรเรื่องการเรียนรู้การใช้งานเครื่อง AED (เครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ) เบื้องต้น

โดยขณะนี้เนื้อหาทั้งหมดเราทำเกือบเสร็จแล้วเหลือแค่การออกแบบสื่อการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับเด็กๆ ในแต่ละวัยและแต่ละชั้นเรียน

และในส่วนของการท่องเที่ยวในแถบภูเขา ทะเล หรือป่าอุทยานจะต้องจัดให้มีองค์ความรู้เช่นกัน การเตรียมตัวล่วงหน้าและเตรียมรับมือเป็นสิ่งจำเป็นในแต่ละสถานการณ์ต่างๆ เช่น ถ้าไปเที่ยวทางน้ำ ก็ต้องเรียนรู้วิธีสวมเสื้อชูชีพ หรือถ้าไปปีนเขาหรือเที่ยวถ้ำ ก็ต้องรู้ว่าไฟฉาย (ให้แสง) นกหวีด (เกิดเสียง)  และเชือก เป็น 3 สิ่งสำคัญที่ต้องพกติดตัวไว้

อ้างอิงจาก