Parents One

NEWS: อยู่บ้านก็ต้องระวัง เด็กป่วยโรคมือ เท้า ปาก ปีนี้ป่วยแล้ว 14,559 ราย

โรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคยอดฮิตที่มักพบในหมู่เด็กเล็ก ส่วนมากมักพบว่าระบาดในโรงเรียน ถึงแม้ช่วงนี้จะยังอยู่ในช่วงปิดเทอม แต่ก็ไม่ควรชะล่าใจ เพราะในช่วงนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว หลายพื้นที่ของประเทศมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง อากาศเย็นลงและมีความชื้น ซึ่งเอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคมือ เท้า ปาก ที่มักพบบ่อยในช่วงนี้

โดยสถานการณ์ของโรคมือ เท้า ปาก ในปี 2564 นี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-10 พฤษภาคม 2564 มีรายงานผู้ป่วย 14,559 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด 3 อันดับ คือ แรกเกิด-4 ปี (ร้อยละ 86) รองลงมาคืออายุ 5 ปี และอายุ 6 ปี ตามลำดับ จะเห็นได้ว่าเป็นโรคที่พบบ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และพบมากในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว 

อาการของโรคจะเริ่มด้วยมีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย ต่อมา 1-2 วัน มีอาการเจ็บปาก ร่วมกับมีตุ่มพองเล็กๆ บริเวณฝ่ามือฝ่าเท้า ตุ่มแผลในปาก เพดานอ่อน กระพุ้งแก้ม ลิ้น ต่อมาจะแตกออกเป็นแผลหลุมตื้นๆ  หากอาการไม่ดีขึ้น เช่น มีไข้ขึ้นสูง ซึมลง เดินเซ ชัก เกร็ง หายใจหอบเหนื่อย อาเจียนมาก ต้องรีบไปพบแพทย์ทันทีเพราะอาจติดเชื้อโรคมือ เท้า ปากชนิดรุนแรง อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

ดังนั้นในช่วงนี้คุณพ่อคุณแม่ต้องสังเกตอาการลูกให้ดี สำหรับวิธีการดูแลไม่ให้ลูกป่วยโรค มือ เท้า ปาก มีดังนี้

1.ไม่นำมือที่สกปรกสัมผัสใบหน้า เพราะเชื้อโรคจะอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพองหรืออุจจาระของผู้ป่วย ซึ่งมักจะติดอยู่บนมือแล้วนำเข้าปากหรือจับของเล่น ของใช้ ทำให้เชื้อกระจายสู่ผู้อื่นได้

2.หมั่นทำความสะอาดของใช้และของเล่นของเด็กเป็นประจำ และเปิดประตูหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท

3.หมั่นให้เด็กล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ ทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหารหรือเข้าห้องน้ำ เพื่อลดเชื้อสะสมบนมือและลดการแพร่สู่ผู้อื่น 

4.หากลูกป่วย ให้เด็กสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย ไม่พาเด็กป่วยไปในสถานที่แออัด แยกของใช้ส่วนตัวและไม่ให้คลุกคลีกับคนอื่นๆ

อ้างอิงจาก

https://ddc.moph.go.th/brc/news.php?news=18586&deptcode=brc&news_views=2831