Parents One

ทำยังไง เมื่อลูกคิดว่าเราลำเอียง

 

เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่ต้องรักลูกทุกคนอยู่แล้ว แต่บางสถานการณ์อาจพลั้งทำอะไร หรือพูดอะไรที่ทำให้ลูกรู็สึกว่าคุณพ่อคุณแม่ลำเอียง ตัวอย่างเช่น พ่อแม่ส่วนใหญ่มักสอนให้พี่ยอมน้อง เพราะน้องตัวเล็กกว่าและดูแลตัวเองไม่ได้ การเปรียบเทียบระหว่างพี่น้อง ไม่ว่าจะเรื่องพัฒนาการเรียนรู้ หรือเรื่องรูปร่างหน้าตา เป็นต้น ถ้าปมในใจของเด็กไม่ได้ถูกคลี่คลาย ก็อาจจะนำไปสู่บุคลิกภาพและอารมณ์ทางด้านร้ายของเด็ก วันนี้มีวิธีคลายปมในใจลูกเมื่อลูกคิดว่าคุณพ่อคุณแม่ลำเอียงมาฝากกันค่ะ

1. ให้พี่เป็นเหมือนฮีโร่

พ่อแม่ส่วนใหญ่มักสอนให้พี่ยอมน้อง เพราะน้องตัวเล็กกว่าและดูแลตัวเองไม่ได้ วิธีที่จะช่วยให้ลูกคนโตเข้าใจและไม่รู้สึกว่าคุณพ่อคุณแม่ลำเอียงคือ ไม่สอนลูกให้ยอมน้องด้วยเหตุผลเพราะเขาเป็นน้อง แต่ควรมีคำพูดอื่นด้วยเช่น “น้องยังทำเองไม่เป็น ถ้าลูกช่วยน้อง อีกหน่อยน้องต้องทำเองเป็นค่ะ” ให้ลูกคนโตได้แสดงบทฮีโร่ดูแลน้องบ้าง และถ้าน้องทำผิดคุณพ่อคุณแม่ก็ต้องมีวิธีลงโทษน้องอย่างมีเหตุผลด้วยค่ะ

2. เพิ่มความมั่นคงทางอารมณ์ให้ลูก

เพิ่มความมั่นคงทางอารมณ์ให้ลูก ด้วยท่าทาง สัญลักษณ์ที่ทำให้รู้ว่าคุณยังรักแกอยู่ เช่น โอบกอด หอมแก้มก่อนนอน หรืออื่นๆ ที่คุณเคยทำเป็นประจำ และให้คำชมเชยเมื่อลูกทำอะไรได้เอง เพื่อป้องกันพฤติกรรมถดถอย การชมเชยลูกทำให้ลูกรู้สึกว่าคุณพ่อคุณแม่ยังเอาใจใส่ สังเกตและมองดูอยู่ตลอดเวลาไม่ได้ทิ้งไปไหน

3. ให้ความเข้าใจแก่ลูก

ลองหาภาพถ่ายสมัยลูกยังเด็ก เป็นขวัญใจประจำบ้านมาเป็นหลักฐาน พร้อมอธิบายว่า “เด็กเล็กแรกเกิด ต้องมีการรับขวัญเป็นธรรมดา ตอนหนูเกิด ทุกคนก็รับขวัญหนูเหมือนกันนะ”

4. เลี่ยงสถานการณ์ที่อาจทำให้ลูกรู้สึกถึงความลำเอียง

ปู่ย่าตายายและญาติผู้ใหญ่ มักเห่อลูกหลานแรกคลอด นัยว่าเป็นการรับขวัญเจ้าตัวน้อย แต่เจ้าวัยเตาะแตะแกไม่รู้ด้วยว่า หนูก็เคยถูกเห่อด้วยเหมือนกัน เพราะจำไม่ได้แล้ว วิธีแก้คือ หาทางบอกญาติผู้ใหญ่ตามตรงว่าอย่าเห่อหลานคนเล็กจนหลานคนแรกหงอย หรือให้โอกาสหลานอยู่ตามลำพังกับคุณปู่คุณย่า แล้วคุณก็พาเจ้าตัวเล็กชิ่งหลบไปก่อน เพื่อน้องหนูจะได้รู้ว่าคุณปู่คุณย่ายังรักแกอยู่

5. เปิดโอกาสให้ลูกระบายความในใจ

เปิดโอกาสให้ลูกได้ระบายความในใจบ้าง โดยไม่เอาเรื่องเหตุผลและความถูกต้องมาเป็นเครื่องปิดกั้น เช่น ถ้าลูกบอกเกลียดคุณปู่ ก็ถามว่าทำไมเกลียด หากแกใช้คำไม่สุภาพบ้างอย่าขัดจังหวะหรือบ่นในช่วงนี้ ลองฟังให้จบแล้วค่อยๆ สอนและปรับทัศนคติลูกค่ะ

7. ระวังเรื่องการให้ท้าย

ระวังเรื่องการให้ท้ายลูก เช่น พ่อดูเหมือนจะใส่ใจลูกคนเล็กมากกว่า แม่จึงให้ท้ายลูกคนโต ทั้งที่ลูกคนโตทำผิด ก็ไม่ได้นะคะ ควรทำความเข้าใจทั้งคุณพ่อคุณแม่และลูกๆ สิ่งไหนผิดก็ต้องตัดสินไปตามนั้น แต่ใช้วิธีการพูด สอนด้วยวิธีที่ถูกต้องไม่ใช้การลงโทษที่รุนแรง

ความเข้าใจของพ่อแม่จึงเป็นสิ่งสำคัญ คุณพ่อ คุณแม่ เอ็นดูลูกต่างกันได้ แต่ต้องรักลูกให้เท่ากัน พูดให้ลูกเข้าใจว่าทำไมคุณพ่อ คุณแม่ต้องใส่ใจลูกอีกคนมากกว่า และไม่แสดงความลำเอียงให้ลูกเห็น จนน้อยใจค่ะ

ที่มา –  www.rakluke.com