Parents One

เลี้ยงลูกแบบไหนให้พี่น้องรักกัน ไม่อิจฉากัน

หลายๆ ครอบครัวที่มีลูกหลายคน มักเกิดปัญหาลูกๆ ทะเลาะกัน มีการแย่งของเล่น ทำลายข้าวของหรือบางทีทำร้ายร่างกายกันบ้าง แล้วถ้าคุณพ่อคุณแม่ตีหรือกล่าวโทษลูกคนใดคนหนึ่ง ก็จะทำให้เด็กที่ถูกลงโทษเกิดความไม่พอใจส่งผลให้เกิดความอิจฉากันระหว่างพี่น้องขึ้นมาได้ แล้วจะมีวิธีอะไรบ้างที่เราสามารถเลี้ยงลูกทุกคนให้รักกัน โดยไม่ทะเลาะ ไม่อิจฉา สามารถอยู่ร่วมกันในครอบครัวได้อย่างอบอุ่นและมีความสุข ไปติดตามกันเลยค่ะ

1. เลิกเปรียบเทียบ

เป็นสาเหตุใหญ่มากที่สุดที่ทำให้เด็กที่มีพี่น้อง มีความรู้สึกไม่ดี กลายเป็นเด็กขี้อิจฉา อาจจะรักลูกคนโตมากกว่าลูกคนเล็ก โดยที่พ่อแม่มักจะเปรียบเทียบโดยพูดชมเชยหรือเปรียบเทียบให้เห็นว่ามีใครเก่งกว่าใคร ใครน่ารักกว่าใคร ใครดีกว่าใคร ซึ่งการกระทำเช่นนี้เป็นการบ่มเพาะความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจให้กับเด็กเป็นอย่างมาก ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องพยายามหลีกเลี่ยงในการพูดจาและการกระทำที่เปรียบเทียบเช่นนี้ เพราะจะส่งผลให้เด็กรู้สึกเสียใจและน้อยใจจนเกิดเป็นความรู้สึกฝังใจในทางลบซึ่งทำให้เด็กโตขึ้นเป็นคนที่มีปมด้อย เก็บกด ขาดความภาคภูมิใจในตนเอง และเป็นคนที่มีนิสัยอิจฉาริษยาชอบเอาชนะชิงดีชิงเด่นกับผู้อื่นอยู่เสมอ

2. เอาใจใส่ลูกทุกคน

อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กเป็นคนขี้อิจฉาก็เพราะเด็กไม่ได้รับความดูแลเอาใจใส่เท่าที่ควรจากพ่อแม่ โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ต้องการการดูแลใกล้ชิดจากพ่อแม่มากเป็นพิเศษโดยการสัมผัส กอด อุ้มและพูดคุยกับลูกอย่างสม่ำเสมอ หากเด็กไม่ได้รับความดูแลเอาใจใส่เท่าที่ควร จะทำให้เด็กรู้สึกว้าเหว่และขาดความรัก ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ก็จะทำให้เด็กโหยหาความสนใจจากคนอื่นอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้เมื่อเด็กโตขึ้นก็จะกลายเป็นคนที่ชอบเรียกร้องความสนใจ อยากให้คนมาสนใจตัวเองและถ้าเห็นใครได้รับความสนใจมากกว่างก็จะเกิดความอิจฉาและหาเรื่องกลั่นแกล้งคนคนนั้น ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องพยายามดูแลเอาใจใส่ลูกๆ เท่าเทียมกันทุกคนให้มากเท่าที่จะทำได้เพื่อที่เขาจะรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัยจนไม่รู้สึกน้อยใจหรือรู้สึกอิจฉาคนอื่น

3. สอนลูกให้รู้จักช่วยเหลือกัน

ในกรณีที่มีสมาชิกใหม่เกิดมาในครอบครัว แน่นอนว่าลูกคนโตอาจจะได้รับการดูแลเอาใจใส่จากพ่อแม่น้อยลง จึงเป็นสาเหตุที่ลูกคนโตของหลายๆครอบครัวจะมีความรู้สึกว่าน้องใหม่ที่เกิดมานั้นมาแย่งความรักและความสนใจจากที่เขาเคยได้รับไปเสียหมด ทำให้เด็กเกิดความรู้สึกอิจฉาได้ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรเปิดโอกาสให้พี่ได้เข้ามาช่วยเหลือดูแลน้องบ้าง เช่น ช่วยหยิบขวดนมให้น้อง ช่วยคุณแม่แต่งตัวให้น้อง ซึ่งการที่พี่ได้ช่วยน้องนั้น คุณแม่ควรจะถือโอกาสนี้พูดชมเชยว่า “ลูกน่ารักมากๆ เลยที่ช่วยแต่งตัวให้น้อง” “ลูกใจดีจริงๆ เลยที่ช่วยแม่ดูแลน้องด้วย” ซึ่งการทำเช่นนี้จะช่วยลดความน้อยใจจากพี่ไปได้อีกทั้งทำให้พี่รักและไม่อิจฉาน้องอีกด้วย

4. ให้ลูกทำกิจกรรมร่วมกัน

หากคุณพ่อคุณแม่มีลูกหลายคนก็ควรปลูกฝังให้ลูกๆ มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันและอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข โดยสนับสนุนให้ลูกได้ใช้เวลาทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน เช่นจะซื้อของเล่นหรือเกมก็ซื้อที่สามารถเล่นกันได้หลายคน เช่น จิ๊กซอว์ ตัวต่อ เลโก้ เพื่อที่ลูกจะได้แบ่งปันกัน แม้ว่าลูกจะมีการโต้เถียงหรือขัดใจกันบ้างก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่จากการที่ลูกได้ทำกิจกรรมร่วมกันจะทำให้ลูกมีความสนิทสนมและรักผูกพันกัน ซึ่งจะช่วยทำให้ลูกไม่รู้สึกอิจฉากันนั่นเอง

5. แสดงความรักอย่างเท่าเทียม

ในครอบครัวที่มีลูกหลายคน คุณแม่คุณพ่อคุณแม่ต้องระมัดระวังในการแสดงความรักกับลูกๆ ยกตัวอย่างเช่น เวลากอดลูกอีกคนก็ต้องกอดลูกคนอื่นๆพร้อมกันด้วย หรือถ้าคุยกับลูกอีกคนหนึ่งก็ต้องคุยกับลูกอีกคนหนึ่งด้วย หรือถ้าจะซื้อของให้ก็ควรจะซื้อให้ลูกทุกคนเหมือนๆ กัน คุณพ่อคุณแม่ต้องแสดงความรักต่อลูกทุกคนอย่างเท่าเทียมกันไม่ลำเอียง เพราะการกระทำเช่นนี้จะทำให้ลูกมีความรู้สึกมั่นคงจากความรักที่เท่าเทียมของพ่อแม่และไม่รู้สึกอิจฉาคิดเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่นอีก

หากคุณพ่อคุณแม่ให้ความรักความเอาใจใส่และความใกล้ชิดสนิทสนมกับลูกทุกคนอย่างเท่าเทียมและสม่ำเสมอ อีกทั้งเปิดโอกาสให้ลูกๆ ได้ช่วยเหลือและทำกิจกรรมร่วมกันก็จะทำให้ลูกมีความรู้สึกอบอุ่น ไม่เกิดความอิจฉา และเกิดความรักที่แน่นแฟ้นกันระหว่างพี่น้องอย่างแน่นอนค่ะ

ที่มา – mgr online โดย ดร.แพง ชินพงศ์