Parents One

วิธีช่วยเหลือเมื่อลูกติดอยู่ในรถ

เรามักได้ยินข่าวว่ามีเด็กติดอยู่ในรถอยู่บ่อยครั้ง ไม่รู้เลยว่าจะถึงคราวของลูกน้อยเมื่อไหร่ ผู้ใหญ่อย่างเราจึงควรรู้วิธีช่วยเหลือเมื่อลูกหรือเด็กติดอยู่ในรถกันสักหน่อย จะได้ไม่เกิดเรื่องน่าเศร้าเป็นรายต่อไปนะคะ

ก่อนหน้านี้ลองสอนวิธีเอาตัวรอดเบื้องต้น

ก่อนหน้านี้ควรสอนบุตรหลาน เพื่อเอาตัวรอดจากเหตุการณ์แบบนี้ เช่น สอนวิธีการบีบแตรขอความช่วยเหลือ สอนวิธีการปลดล็อกรถ สอนวิธีการทุบกระจกรถเพื่อหนีออกมา และบอกอันตรายถึงการเล่นซุกซน และถ้าเด็กโตขึ้นในระดับนึงแล้ว ควรสอนให้เด็กๆ ให้รู้ถึงการแจ้งเหตุฉุกเฉินผ่านสายด่วน 1669 ค่ะ

รีบทุบกระจกเพื่อนำเด็กออกมาให้เร็วที่สุด

การช่วยเหลือเด็กที่ติดอยู่ในรถว่า ก่อนอื่นควรรีบทุบกระจกเพื่อนำเด็กออกมาให้เร็วที่สุด เพราะส่วนใหญ่เด็กที่ติดอยู่ในรถไม่ได้เสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจ แต่เสียชีวิตเพราะความร้อนที่อยู่ในรถ โดยเวลาเพียง 5 นาที อุณหภูมิในรถจะเพิ่มสูงขึ้นจนเด็กไม่สามารถอยู่ได้ และยิ่งนานเกิน 10 นาที ร่างกายของเด็กจะแย่ลง และภายใน 30 นาทีเด็กอาจหยุดหายใจ และอวัยวะทุกอย่างหยุดทำงานจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ จึงรีบทุบกระจกและนำเด็กออกจากรถให้เร็วที่สุดค่ะ

โทรแจ้งสายด่วน 1669

เมื่อพาเด็กออกมาจากรถได้แล้ว รีบตั้งสติและโทรแจ้งสายด่วน 1669 แล้วให้ข้อมูลว่าเกิดเหตุอะไรมีผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บในลักษณะใด บอกสถานที่เกิดเหตุเส้นทางจุดเกิดเหตุให้ชัดเจน บอกเพศ ช่วงอายุ อาการจำนวนผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บ บอกระดับความรู้สึกตัวของผู้ป่วย บอกความเสี่ยงที่อาจเกิดซ้ำ เช่นอยู่กลางถนนหรือรถติดแก็ส บอกชื่อผู้แจ้งเบอร์โทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้ ช่วยเหลือเบื้องต้นตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ รอทีมกู้ชีพมารับผู้ป่วยเพื่อนำส่งโรงพยาบาล

นำไปอยู่บนพื้นราบที่อากาศปลอดโปร่ง

ในระหว่างที่รอต้องรีบนำเด็กออกมาจากรถ และนำไปอยู่บนพื้นราบที่อากาศปลอดโปร่งพร้อมกับทำการช่วยฟื้นคืนชีพ แต่ทั้งนี้หากเด็กเกิดอุบัติเหตุจนอาจได้รับอันตรายที่กระดูกสันหลังให้ยกเว้นการเคลื่อนย้าย หรือปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่

ช่วยฟื้นคืนชีพ

โดยการฟื้นคืนชีพในเด็กนั้น จะต่างกับผู้ใหญ่เล็กน้อย คือให้วางส้นมือข้างหนึ่งไว้ตรงกลางหน้าอก ระดับราวนมและใช้มืออีกข้างหนึ่งวางบนหน้าผากของเด็กพยายามให้เด็กหงายหน้าขึ้นเพื่อเปิดทางเดินหายใจ จากนั้นกดหน้าอกให้กดลงไประหว่าง 1/3 ของความลึกของหน้าอก ซึ่งการกดหน้าอกจะต้องทำ 30 ครั้ง กดแต่ละครั้้งต้องเร็วและไม่มีการหยุด ทั้งนี้ให้ทำไปจนกว่าเจ้าหน้าที่รถพยาบาลจะเข้ามาให้ความช่วยเหลือและนำเด็กส่งต่อไปยังโรงพยาบาล

แนวทางป้องกันไม่ให้เกิดเหตุดังกล่าว

อย่างไรก็ตามกันไว้ดีกว่าแก้แน่นอนค่ะ สิ่งสำคัญคือไม่ควรทิ้งเด็กอยู่ลำพังภายในรถ เพราะเด็กอาจเล่นซุกซน หรือเล่นเกียร์ขณะรถสตาร์ทอยู่ จนทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ หรือเด็กอาจเผลอไปกดกระจกไฟฟ้าเล่นแล้วเกิดพลาดหนีบอวัยวะได้รับบาดเจ็บหรืออาจเสียชีวิต หรืออาจไปกดล็อกแล้วติดค้างอยู่ในรถ

เมื่อรู้วิธีรับมือและป้องกันแล้ว ก็จะช่วยให้เด็กรอดและปลอดภัยได้ในยามคับขันได้ค่ะ

ที่มา – komchadluek