Parents One

NEWS: เด็กไทย 13 ล้านคนติดมือถือหนัก สนใจโลกออนไลน์จนหลงลืมคนในครอบครัว

จากงานเสวนา “พิทักษ์เด็ก พิทักษ์อนาคตชาติ ด้วยสังคมก้มหน้าได้จริงหรือ” ได้มีการพูดคุยกันเกี่ยวกับการใช้โซเชียลมีเดียของคนในครอบครัวที่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ จึงต้องพูดคุยให้พ่อแม่ หรือผู้ปกครองได้เกิดการรับรู้และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการเลี้ยงดู ให้อยู่ในสังคมโซเชียลมีเดีย นำไปใช้ให้ถูกทางและเกิดประโยชน์ ให้เด็กและเยาวชนเติบโตเป็นอนาคตของชาติอย่างมีคุณภาพ

พิภพ ธงไชย เลขาธิการมูลนิธิเด็ก กล่าวว่า ตอนนี้เป็นยุคที่สังคมถูกย่อขนาดให้อยู่ในสมาร์ทโฟนที่สะดวกสบาย พบว่ามีกลุ่มเด็กและเยาวชนกว่า 13 ล้านคน ที่ก้าวเข้าสู่สังคมก้มหน้า ติดเกม เสพความบันเทิง หรืออื่นๆ นำไปสู่ปัญหาสมาชิกในครอบครัวสนใจสิ่งที่อยู่ในโลกออนไลน์ แม้จะอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน จนทำให้เกิดภาวะพลัดพรากซึ่งๆ หน้า

อีกทั้งข้อมูลจากทางสำนักสถิติแห่งชาติปี 2560 พบว่าในประชากรอายุ 6 ปีขึ้นไป มีการใช้มือถือร้อยละ 88.2 คอมพิวเตอร์ 52.9 และอินเตอร์เน็ต 30.3 โดยในกลุ่มอายุ 6-14 ปี ใช้ 60% อายุ 15-24 ปี ใช้ถึง 80% ซึ่งถือว่ามากที่สุดในกลุ่ม และในกลุ่ม 25-34 ปี วัยที่เป็นพ่อและแม่ ใช้ถึง 60%

โดยผู้ที่เป็นพ่อแม่สามารถเลี้ยงลูกให้อยู่กับเทคโนโลยีได้ แต่ก็ต้องคอยดูอยู่ใกล้ๆ ด้วย เพื่อให้คำแนะนำสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในโซเชียล เพื่อให้เด็กได้รู้จักสิ่งที่ถูกสิ่งที่ผิด และไม่นำไปลอกเลียนแบบ ที่สำคัญคือพ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ลูกด้วย

พญ.เบญจพร ตันตสูติ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น เจ้าของเพจ เข็นเด็กขึ้นภูเขา ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า สัมพันธภาพที่ดีของครอบครัวจะต้องสร้างตั้งแต่เด็กเกิดมา โดยใช้หลัก 2 ร. คือ ร.ความรัก แต่ต้องไม่รักจนขาดสติ ต้องมีเหตุผล เพื่อให้เด็กรู้จักควบคุมความต้องการ ไม่เกิดอาการก้าวร้าว โวยวาย ส่วนอีก ร. คือ ร.ระเบียบ ควรสอนให้ลูกมีระเบียบวินัยตามช่วงวัยที่เหมาะสม แต่อย่างไรก็ดี ทั้ง 2 ร. ต้องสมดุลกัน เพื่อทำให้ลูกเชื่อฟังมากขึ้น

อ้างอิงจาก