Parents One

NEWS: ภาวะโรคนอนกรนในเด็ก ส่งผลร้ายต่อลูกในอนาคต

หากลูกนอนกรนคงไม่ใช่เรื่องที่ดีแน่ เพราะสุขภาพการนอนของเด็กถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ถึงแม้ว่าภาวะการนอนกรนในเด็กจะพบในแบบที่ไม่เป็นอันตรายน้อยกว่า แต่ในปัจจุบันพบแบบที่เป็นอันตรายเพิ่มมากขึ้นถึง 10% มักพบในช่วงอายุก่อนวัยเรียนและอนุบาล หากลูกนอนกรนแล้วมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ก้าวร้าว ควบคุมตัวเองไม่ได้ หงุดหงิดง่าย สมาธิสั้น ควรพาไปพบแพทย์โดยด่วน

พญ.ภัสสรา เลียงธนสาร แพทย์กุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า อาการนอนกรน (Obstructive Sleep Apnea Syndrome (OSAS) คือ ความผิดปกติของระบบการหายใจที่เกิดขึ้นในขณะหลับ เกิดจากทางเดินหายใจมีการอุดกั้นบางส่วน หรืออุดกั้นอย่างสมบูรณ์ ซึ่งมักเกิดเป็นพักๆ ในขณะหลับ จึงทำให้เกิดการรบกวนต่อระบบการระบายลมหายใจและระบบการนอนหลับ

ทั้งนี้แพทย์จะต้องวินิจฉัยเด็กที่นอนกรนในลักษณะอันตรายเพราะอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่นเกิดร่วมกับภาวะการหายใจที่ลดลงหรือหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งภาวะเสี่ยงอาการหยุดหายใจในขณะหลับมีสาเหตุหลักจากต่อมทอนซิลและอะดีนอยด์โต เนื่องมาจากการอักเสบซ้ำๆ จากโรคภูมิแพ้หรือเด็กที่เป็นหวัดบ่อยๆ อีกทั้งเด็กที่เป็นโรคอ้วนก็มีโอกาสเกิดภาวะนี้ได้เช่นกัน

นอกจากนี้ภาวะนอนกรนหรือหยุดหายใจขณะหลับ ยังส่งผลให้มีอาการง่วงนอนในเวลากลางวัน ทำให้เรียนหนังสือไม่เต็มที่ จะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของเด็กและมีปัญหาโรคหัวใจในอนาคต พ่อ-แม่สามารถสังเกตอาการเด็กได้ เช่นการนอนกรนเกิดขึ้นเป็นบางช่วงของการหลับ, นอนกรนเป็นประจำแต่อาจไม่ถึงกับทุกคืน, นอนอ้าปากหายใจ หายใจแรง หายใจสะดุดหรือหายใจเป็นเฮือกๆ มีอาการไอ หรือมีอาการสำลักตอนนอน อาการร่วมอื่นๆ เช่น หลังจากตื่นนอนอาจมีปวดศีรษะ สมาธิสั้น ควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมของตนเองได้ไม่ค่อยดี บางคนอาจปัสสาวะรดที่นอนหรือเดินละเมอ เป็นต้น

สำหรับการตรวจ Sleep Test ตรวจหาความผิดปกติของการนอนหลับ เพื่อวินิจฉัยและประเมินระดับความรุนแรงของโรค โดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการนอนหลับในเด็ก สามารถเข้ารับการบริการหรือขอคำปรึกษาได้ ที่ศูนย์ตรวจการนอนหลับและศูนย์ลมชัก โรงพยาบาลกรุงเทพ โทร.1719

อ้างอิงจาก