Parents One

NEWS: กรมอนามัยเตือน เด็กเล็กไม่ควรใช้จอเด็ดขาด เสี่ยงพัฒนาการช้า

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในปัจจุบันเทคโนโลยีและการใช้หน้าจอเข้ามามีบทบาทอย่างมากในการเลี้ยงลูก เราคงเคยเห็นเด็กตัวเล็กๆ นั่งดูไอแพด สมาร์ตโฟนแล้วอยู่นิ่ง ไม่ร้องงงอแง จนคิดไปว่าการหยิบยื่นหน้าจอให้ลูกคือสิ่งที่ถูกต้อง ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว การที่เด็กใช้หน้าจอก่อนวัยคือตัวการที่อาจทำให้ลูกเสี่ยงพัฒนาการล่าช้าได้ 

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การหยิบยื่นสื่อเทคโนโลยีให้เด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปีเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะในเด็กวัยต่ำกว่า 2 ปี ไม่ควรเล่นหรือดูสื่อเหล่านี้เด็ดขาด เพราะมีผลทำให้พัฒนาการล่าช้า เพราะเด็กแรกเกิดถึง 3 ปี เป็นช่วงเวลาทองที่สมองจะพัฒนาสูงสุด จากสิ่งแวดล้อมโดยรอบที่จะกระตุ้นส่งเสริมพัฒนาการทางด้านสมอง ไม่ใช่จากสมาร์ตโฟนหรือแท็บเล็ต

โดยการปล่อยให้เด็กดูแบบไม่กำหนดเวลา รวมไปถึงเลือกสื่อที่ไม่เหมาะสม จะส่งผลเสียหลายด้าน คือ 

1) พูดช้า พูดไม่ชัด ขาดความคิดสร้างสรรค์ และ การจ้องมองจอภาพเป็นเวลานานจะส่งผลเสียกับดวงตาได้ เช่น ทำให้สายตาสั้น ดวงตาแห้ง 

2) ขาดการเคลื่อนไหวออกกำลังกายตามที่ควรจะเป็นหรืออาจส่งผลให้เป็นเด็กขี้เกียจได้ 

3) ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ เพราะเด็กแยกแยะโลกของอินเทอร์เน็ตกับความจริงไม่ได้ หงุดหงิดง่าย ใจร้อน รอคอยไม่เป็น เด็กขาดสมาธิไม่จดจ่อหรือตั้งใจทำกิจกรรมใด

4) มีพฤติกรรมคล้ายออทิสติก คือดื้อ ต่อต้าน โลกส่วนตัวสูง สื่อสารกับคนอื่นน้อย

ดังนั้นพ่อแม่ไม่ควรให้เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ใช้หน้าจอทุกชนิด สำหรับเด็กอายุ 2-5 ปี ให้จำกัดเวลาการใช้สื่อมีจอ ไม่ควรเกินวันละ 1 ชั่วโมง และควรเลือกโปรแกรมหรือแอปพลิเคชันที่มีคุณภาพให้เหมาะสมกับวัยและใช้ไปด้วยพร้อมกันกับเด็ก ที่สำคัญที่สุดคือไม่ควรให้หน้าจอเป็นพี่เลี้ยงลูกเพราะเห็นว่าลูกใช้แล้วอยู่นิ่ง ไม่โวยวายเด็ดขาด

อ้างอิงจาก

https://multimedia.anamai.moph.go.th/news/031163-01/