Parents One

5 สาเหตุที่ลูกไม่อยากไปโรงเรียน

เป็นเรื่องธรรมดาของเด็กๆ เกือบทุกคน ที่จะรู้สึกไม่อยากไปโรงเรียน แต่ก็ยังไม่ได้โดยไม่ร้อง ไม่ดื้อ แต่กับเด็กบางคนแสดงออกด้วยการร้องไห้ บางคนเก็บสะสมความเครียดเรื่องไม่อยากไปโรงเรียนจนทำให้ตัวเองเจ็บป่วย เช่น ปวดท้อง ปวดหัว ซึ่งเป็นกลไกการต่อต้านทางร่างกาย คุณพ่อคุณแม่อย่าเพิ่งคิดไปว่าลูกโกหกหรือแกล้งป่วย ก่อนอื่นเราต้องหาสาเหตุก่อนค่ะ ว่าทำไมกันลูกของเราถึงไม่อยากไปโรงเรียน วันนี้ทาง Parents One ได้รวบรวมสาเหตุของเด็กที่ไม่ยอมไปโรงเรียนและวิธีแก้ไขของปัญหานี้มาฝากกันค่ะ

1. ติดคุณพ่อคุณแม่

เด็กตั้งแต่เด็กแรกคลอดเรื่อยมาจนถึงวัยประมาณ 3 ปี สังคมแรกคือบ้าน ซึ่งมีแต่พ่อแม่ญาติพี่น้องเท่านั้น เด็กยังไม่คุ้นเคยกับสังคมนอกบ้านเท่าใดนัก แต่พอเข้าระยะ 3 ขวบเศษๆ เริ่มที่จะเข้าโรงเรียนเตรียมอนุบาล โรงเรียนคืออะไร หน้าตาเป็นอย่างไร ครูเป็นอย่างไร เด็กไม่เคยรู้จักมักคุ้นมาก่อน เป็นวัยที่มีความกังวล หวั่นใจ เป็นอย่างมากต่อการที่ต้องแยกจาก คุณพ่อ คุณแม่หรือคนที่คุ้นเคย แม้ว่าการไปโรงเรียนจะเป็นการแยกกันชั่วคราวก็ตาม แต่เด็กก็เกิดความกลัวกังวล ทำให้ไม่อยากไปโรงเรียน แต่แท้ที่จริงแล้ว เป็นการกลัวต่อการที่ต้องแยกจากคุณพ่อ คุณแม่ต่างหาก

วิธีแก้ไข : ไปรับลูกตรงเวลา ทำให้ลูกมั่นใจว่า เขามาโรงเรียนเพื่อทำกิจกรรมในช่วงเวลาเดียวเท่านั้น ไม่ได้ถูกทิ้ง เดี๋ยวแม่ก็มารับแน่นอน แค่นี้ทุกเช้าหนูก็ไม่หวิวใจกับการไปโรงเรียน และพร้อมให้แม่จูงมือไปส่งแล้วค่ะ

2. หนูกลัวคุณครู  

คุณครู เป็นผู้ที่มีอิทธิพลทางใจสำหรับนักเรียนอย่างมาก คำพูดหรือท่าทีของครูส่งผลต่อเด็กเสมอ บางครั้งการลงโทษหรือการคาดโทษของคุณครู อาจสร้างความกดดันให้เด็ก ทั้งที่คุณครูไม่ได้มีเจตนาให้เด็กเครียดขนาดนั้น เราจึงต้องช่วยอธิบายให้ลูกฟังเพื่อคลี่คลายความกังวลของลูก และถ้าบางครอบครัวได้เคยใช้โรงเรียนเป็นเครื่องมือในการขู่เด็กด้วยว่า เช่น “ระวังนะ จะส่งให้ครูตี ” “ดื้อนัก เดี๋ยวจับส่งโรงเรียนเสียเลย” ถ้าได้มีการพูดถึงโรงเรียนเป็นเรื่องน่ากลัวดังกล่าวแล้ว ก็จะทำให้เด็กวาดภาพเอาว่า โรงเรียนเป็นสิ่งน่ากลัว เป็นสิ่งไม่น่าเข้าใกล้ ผลจะทำให้เด็กลังเล กังวล หวั่นใจในการที่จะต้องไปโรงเรียน

วิธีแก้ไข : ลองชวนลูกคุยเรื่องโรงเรียนในทางที่ดี สนุก ถ้าลูกเริ่มเล่าเรื่องที่รู้สึกอึดอัด ให้ชวนคุยเนียนๆ ถามความรู้สึกและกำลังใจลูก เมื่อได้ข้อมูลจากลูกแล้ว สิ่งที่ควรทำคือ ปรึกษากับทางโรงเรียนและคุณครู เพราะทุกโรงเรียนมี “ฝ่ายแนะแนว” ที่พร้อมช่วยประสานความเข้าใจที่ดีให้เกิดขึ้นกับทั้งนักเรียน ครู และผู้ปกครอง เพียงเล่าข้อมูลที่เป็น “ความจริง” อย่าง “สุภาพ” ทุกฝ่ายก็พร้อมช่วยกันทำให้โรงเรียนเป็นที่ที่เด็กๆ เลิฟได้อีกครั้ง

3. นอนไม่พอ

ปัญหาที่ไม่ควรมองข้ามเลยคือ ปัญหาของเด็กที่เล่นจนดึกดื่น ทำให้นอนไม่พอ ปกติเด็กๆ ควรนอน 8-10 ชั่วโมง ถ้านอนไม่เต็มอิ่มจะทำให้เด็กๆ งอแง ไม่อยากลุกขึ้นอาบน้ำ แปรงฟัน ในตอนเช้า

วิธีแก้ไข : จัด “เวลาเข้าห้องนอน” ที่ชัดเจน เมื่อใกล้ถึงเวลา ลูกต้องไปแปรงฟันเพื่อพร้อม “อ่านนิทานก่อนนอน” ด้วยกัน นี่คือจุดขายเล็กๆ ที่ทำให้ลูกรู้สึกว่า การเข้านอนไม่ได้แปลว่า เดินจ๋อยๆ เข้าห้องนอน ห่มผ้า แล้วก็ปิดไฟข่มตานอน แต่มันคือ การซุกตัวในผ้าห่ม ฟังนิทานที่แม่เล่า แล้วก็นอนหลับฝันดีต่างหากนอนอิ่มแบบนี้ ตอนเช้าก็พร้อมตื่น ไม่โยเย อารมณ์ดีสุดๆ

4. ถูกเพื่อนแกล้ง

เด็กอาจถูกเพื่อนที่โรงเรียนแกล้ง อาจมีเพื่อนบางคนที่ไม่ชอบ ไม่อยากคบหาสมาคมด้วย การมีเพื่อนน้อย หรือการที่เด็กไม่มีเพื่อนเลย เด็กอาจรู้สึกกังวล จนทำให้เกิดปัญหาลูกไม่อยากไปโรงเรียน ซึ่งในช่วงวัยเด็กนี้ เรื่องการถูกเพื่อนแกล้งเป็นปัญหาใหญ่ อาจส่งผลต่ออารมณ์และจิตใจของเด็กในอนาคต

วิธีแก้ไข : ปรึกษาคุณครู ควรให้คุณครูช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่เด็กว่า เด็กจะปลอดภัยเมื่ออยู่ที่โรงเรียน เมื่อเด็กรู้สึกถูกคุกคามเมื่อไปโรงเรียน เพราะถูกเพื่อนแกล้ง หรือสภาพแวดล้อมของโรงเรียนดูไม่เป็นระเบียบ และไม่ปลอดภัย ครูควรหาวิธีทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัยให้ได้มากที่สุด โรงเรียนหลายๆ โรงเรียนมีโปรแกรมต่อต้านการกลั่นแกล้งกันในโรงเรียน ซึ่งมีการสอนนักเรียนเกี่ยวกับวิธีการรับมือเมื่อถูกแกล้ง หรือถูกคุกคาม

5. หนูไม่อยากกิน

เด็กบางคนกินยาก เลือกกิน หรือจะกินเฉพาะอาหารหรือนมที่ชอบเท่านั้น เด็กๆ หลายคนไม่ชอบอาหารที่โรงเรียนเลยพาลไม่อยากไปโรงเรียนด้วย หรืออาจจะเบื่ออาหารทำให้ได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน มีปัญหาต่อการเรียนอีก คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรละเลยนะคะ

วิธีแก้ไข : เรื่องนี้ช่วยได้อย่าละเลยเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยๆ เพราะการจะเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างอาจจะต้องค่อยเป็นค่อยไป ต้องปรับเรื่องอาหารการกินเพื่อให้ลูกคุ้นเคย หรือนำอาหารประจำตัวที่ลูกคุ้นเคยไปให้ลูกรับประทานที่โรงเรียนก็เป็นตัวช่วยอีกทางหนึ่งค่ะ

หากลูกแสดงความกังวลเกี่ยวกับการเริ่มเปิดภาคการศึกษาใหม่ คุณพ่อคุณแม่ก็ควรตามลูกไปที่โรงเรียน และเข้าพบกับครูก่อนการเริ่มเรียน ขอความช่วยเหลือจากโรงเรียนเพื่อทำให้เด็กรู้สึกเป็นกังวลน้อยลงก็เป็นวิธีที่ช่วยได้มาก โดยขอความช่วยเหลือจากครู ในการสนับสนุนให้ลูกเอาชนะความกังวลต่างๆ อย่าละเลยความกังวลของลูก ควรให้ความเชื่อมั่นแก่ลูก เช่นพูดกับลูกว่า “พ่อรู้ว่าลูกกลัวว่าพ่อจะไม่ไปรับ แต่ไม่มีเหตุผลที่ลูกต้องกังวลเลย พ่อจะไปรับลูกแน่นอน” เป็นต้น เพื่อให้ลูกมีความสุขกับการไปโรงเรียนในทุกๆ วันค่ะ

ที่มา :