Parents One

10 คำแนะนำเพื่อปกป้องลูกจากอันตราย


ก่อนจะปล่อยให้ลูกๆ ออกไปใช้ชีวิตในโลกกว้าง ควรมั่นใจก่อนว่าพวกเขาจะปลอดภัย เรามีคำเเนะนำเล็กน้อยไว้ใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อหลีกเลี่ยงจากอันตรายค่ะ

1. อย่าเขียนชื่อลูกบนสิ่งของส่วนตัว

ไม่ควรเขียนชื่อติดไว้บนของส่วนตัวของเด็กๆ ไม่ว่าจะเป็น กระเป๋าเป้ กล่องข้าว หรือของใช้อื่นๆ เราไม่ควรให้คนเเปลกหน้ารู้ข้อมูลส่วนตัวของเด็กๆ เพราะเมื่อคนแปลกหน้ารู้ชื่อเด็กก็อาจทำให้เด็กหลงไว้ใจคนนั้นได้ คำแนะนำคือควรเขียนเบอร์โทรศัพท์ลงบนสิ่งของเเทน และวิธีนี้ก็มีประโยชน์มากเวลาทำของหายด้วย

2. วิ่งหนีจากรถไปด้านตรงข้าม

การสอนให้เด็กไม่ขึ้นรถไปกับคนแปลกหน้าเป็นเรื่องสำคัญ เเต่เด็กๆ ควรเรียนรู้เพิ่มเติมด้วยว่าถ้ามีรถยนต์ที่ดูไม่น่าไว้ใจมาจอดใกล้ๆ หรือถ้าถูกขับรถตาม เด็กควรจะวิ่งหนีไปทิศทางตรงกันข้ามกับที่รถวิ่ง การทำแบบนี้ช่วยซื้อเวลาเพื่อตะโกนขอความช่วยเหลือได้

3. สร้าง password ส่วนตัวของครอบครัว

ถ้ามีคนมาชวนลูกคุณให้ไปด้วยกันเเล้วบอกว่า “เดี่ยวพาไปหาพ่อ/แม่” อย่างแรกที่ควรให้ลูกเรียนรู้ที่จะถามเลยนั้นคือ “พ่อ/แม่ หนูชื่ออะไร?” และ “password ของครอบครัวคืออะไร?” เราขอแนะนำให้คุณคิดค้นรหัสลับไว้ใช้กับลูกๆ โดยเฉพาะในสถานการณ์ฉุกเฉิน (หรือเมื่อต้องฝากคนรู้จักไปรับลูกๆ ที่โรงเรียน) เเละรหัสลับที่ตั้งก็ควรเป็นสิ่งที่ดูเฉพาะเจาะจง คาดเดาได้ยาก เช่น โพนี่สีชมพู ปุกปุยน่ารัก

4. ใช้แอปติดตาม

ฟังก์ชัน GPS เป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมมาก การใช้แอปสามารถติดตามได้ว่าลูกของคุณอยู่ที่ตำแหน่งไหนได้อย่างแม่นยำ นอกจากนั้นแอปบางตัวยังบอกเปอร์เซ็นต์แบตเตอรี่บนมือถือของเด็กๆ ได้ด้วย

5. ตะโกนดังๆว่า “หนูไม่รู้จักเขา!!”

บอกให้ลูกของคุณทำแบบนั้นเมื่อถูกลักพาตัวจากคนแปลกหน้า ซึ่งการทำแบบนี้ค่อนข้างได้ผลมากกว่าการเตะ กัด ข่วน หรือพยายามเรียกร้องความสนใจ เเละหากสถานการณ์เริ่มเลวร้ายขึ้น เด็กๆ ก็ควรตะโกนให้ดังยิ่งขึ้นว่า “ผม/หนู ไม่รู้จักเขา” และ “เขาพยายามลักพาตัวหนู”

6. ใส่อุปกรณ์ที่มีปุ่มฉุกเฉิน

อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีปุ่มฉุกเฉินอย่าง นาฬิกาข้อมือ พวงกุญเเจ สร้อยคอ มักมีแอปพลิเคชันให้คุณพ่อคุณแม่ไว้เชื่อมต่อ เพื่อดูตำแหน่งของลูกน้อยผ่านโทรศัพท์มือถือ เเละเมื่อกดปุ่มก็จะส่งสัญญาณให้พ่อแม่ ตำรวจได้รับ

 

7. หยุดการสนทนาเเละทิ้งระยะห่าง

เด็กๆ ควรรรู้ว่าพวกเขาไม่ควรพูดคุยกับคนแปลกหน้า ดังนั้นถ้าเกิน 5-7 วินาทีเเล้ว ก็ควรจะถอยออกมาจากการสนทนานั้น เเละควรยื่นห่างประมาณ 6.5-8 ฟุต จากคนแปลกหน้า ถ้าคนแปลกหน้าพยายามเข้ามาใกล้ขึ้นๆ เด็กๆ ก็ควรที่จะก้าวถอยหลังไป ซึ่งคุณพ่อคุณเเม่ควรฝึกฝนให้เด็กทำแบบนี้ไว้เพื่อรับมือสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น

8. หลีกเลี่ยงการใช้ลิฟต์กับคนแปลกหน้า

สอนให้ลูกของคุณรู้จักรอลิฟต์ด้วยการเอาหลังแนบกับผนังไว้ เนื่องจากจะทำให้เด็กเห็นทุกๆ คน ถ้ามีคนแปลกหน้าพยายามชวนลูกของคุณเข้าไปในลิฟต์ ก็ควรมีข้ออ้างเพื่อไม่เข้าไปในลิฟต์ตัวนั้น เช่น บอกว่าลืมของไว้ในกล่องไปรษณีย์ หรือ “พ่อ/แม่ บอกให้หนูรอเพื่อขึ้นลิฟต์คนเดียวหรือขึ้นไปพร้อมกับเพื่อนบ้าน”  และหากคนแปลกหน้าพยายามที่จะลากเข้าไปในลิฟต์ เด็กๆ ก็ต้องเรียนรู้ที่จะต่อสู้ ขัดขืน เพื่อรอจนกว่าผู้ใหญ่จะมาช่วย

9. อย่าให้คนแปลกหน้ารู้ว่าพ่อเเม่ไม่อยู่บ้าน

อธิบายให้เด็กๆ รู้ว่าถ้ามีคนมาเรียกที่ประตูเเล้วไม่ยอมบอกว่าเป็นใคร ก็ไม่ควรที่จะเปิดประตูให้เข้ามาอย่างเด็ดขาด นอกจากนี้ก็ไม่ควรปล่อยให้คนแปลกหน้ารู้ว่าพ่อแม่ของเด็กๆ ไม่อยู่บ้าน หรือหากคนแปลกหน้าอ้างว่าเป็น เพื่อน คนรู้จัก เพื่อนร่วมงาน เด็กก็ควรโทรศัพท์ไปตรวจสอบกับพ่อแม่ก่อนเพื่อความปลอดภัย

10.ไม่นัดเจอกับคนที่รู้จักกันทางออนไลน์

เตือนเด็กๆ ว่าเดี๋ยวนี้มีคนตกเป็นเหยื่อจากอาชญากรรมทางอินเตอร์เน็ตมากมาย โดยอาชญากรอาจจะบอกว่าเป็นเด็กชายอายุ 10 ขวบที่อยู่บ้านหลังถัดไป แต่ความจริงหลังคีย์บอร์ดอาจเป็นใครก็ได้ ลูกของคุณจึงควรระลึกไว้ว่าไม่ควรให้เบอร์โทรศัพท์ ส่งรูปถ่ายตัวเองเเล้วบอกว่าอยู่ที่ไหน หรือออกไปพบเพื่อนที่รู้จักกันทางอินเตอร์เน็ต

คำแนะนำเหล่านี้ช่วยทำให้ลูกๆ ของคุณปลอดภัยมากขึ้น เเต่สิ่งสำคัญที่สุดคือควรใช้เวลากับลูกๆ คอยบอก ฝึกฝน ให้เขาเรียนรู้ เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์อันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก: Brightside