Parents One

13 กลยุทธ์แก้ปัญหาโลกแตก “พี่อิจฉาน้อง” ที่พ่อแม่ต้องรีบแก้ปัญหาด้วยความรัก

เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่หลายคนที่มีลูกเกิน 1 คน คงหนีไม่พ้นกันทุกครอบครัวที่ต้องเคยเจอกับปัญหาพี่อิจฉาน้อง ปัญหาโลกแตกที่ทำให้พี่น้องทะเลาะกันเอง จนคุณพ่อคุณแม่ต้องกลุ้มใจกันไปตามๆ กัน วันนี้เราจึงภูมิใจเสนอ 13 กลยุทธ์ที่ช่วยแก้ปัญหา “พี่อิจฉาน้อง” ที่พ่อแม่ต้องรีบแก้ปัญหาด้วยความรักกันค่ะ อย่ารอช้า!! ไปรับมือกับลูกน้อยกันเลย

1. สร้างความผูกพัน ให้พี่พูดคุยกับน้องตั้งแต่อยู่ในครรภ์แม่

ให้ลูกได้คุ้นเคยกับน้องในท้องของแม่ โดยการให้ลูกได้สัมผัสท้อง ลูบท้องและชวนเขาพูดคุยกับน้องเป็นประจำ เป็นการบ่มเพาะความรักความผูกพันระหว่างพี่และน้องไว้เนิ่นๆ ก่อนที่จะได้เจอหน้ากัน และถือเป็นการปลูกฝังทัศนคติที่ดีต่อน้องให้กับพี่ไปในตัว

2. เล่าย้อนอดีต คุยกับลูกเมื่อยังเป็นทารก

เล่าความหลังให้ลูกฟังบ่อยๆ ว่าตอนเด็กลูกมีนิสัยเป็นอย่างไร เหมือนหรือแตกต่างกับน้องไหม? ร้องไห้บ่อยรึเปล่า ดื้อไหม พร้อมกับอธิบายว่าน้องที่เกิดใหม่ยังพูดไม่ได้จึงร้องไห้แทน พ่อแม่เลยต้องเอาใจใส่น้องมากเป็นพิเศษ พอน้องโตขึ้นแล้วก็จะเลิกร้องไห้ไปเอง และเติบโตเป็นเด็กที่ดีแบบลูก

3. ให้ความสำคัญกับคนพี่มากพอๆ กับน้อง

หากคุณแม่เพิ่งกลับมาจากหลังคลอดน้องเสร็จ จงให้ความสนใจกับคนพี่มากๆ เพราะเขาก็รอเรากลับมาบ้านเช่นกัน ลูกอาจรู้สึกเหงาและคิดถึงแม่ที่หายหน้าไปคลอดน้องนานจึงควรเข้าไปโอบกอดด้วยความรัก และแนะนำน้องให้เขาได้รู้จักอย่างเป็นทางการค่ะ เขาจะภูมิใจว่าได้เป็นพี่คนแล้ว

4. พูดคุยกับพี่คนโตบ่อยๆ

ระหว่างให้นมลูกคนเล็ก ให้พี่ช่วยลูบเท้าหรือขาน้อง คุณอาจจะคุยและถามเรื่องทั่วๆ ไป หรือให้เขาทำกิจกรรมที่ตัวเองชอบ อย่าปล่อยให้ลูกนั่งทำตาปริบๆ อยู่ข้างๆ เพราะลูกอาจทำตัวไม่ถูก ยิ่งจะทำให้เขาอึดอัดจนไม่อยากอยู่ในสถานการณ์แบบนี้อีก

5. ทำกิจกรรมร่วมกันด้วยความรัก

หากคุณกำลังวุ่นอยู่กับการเปลี่ยนผ้าอ้อมของน้องคนเล็ก ก็เรียกให้คนพี่มาช่วยเป็นลูกมือได้ ซึ่งเขาจะรู้สึกดี เมื่อมีคนไว้ใจให้เขาช่วยเปลี่ยนผ้าอ้อมน้อง และอย่าลืมที่จะบอกเขาให้หาหนังสือนิทานมาสักเล่มให้คุณอ่านให้เขาฟังก่อนนอน การทำกิจกรรมร่วมกันจะทำให้เขารู้สึกว่ายังมีความสำคัญสำหรับคุณอยู่

6. มอบหมายหน้าที่ให้ช่วยดูแลน้อง

โดยการที่คุณพ่อคุณแม่ทำลิสต์งานเลี้ยงน้องที่ง่ายๆ เช่น

ให้เขาได้เลือกและจัดการด้วยตัวเขาเอง ยิ่งเขาทำสำเร็จ จะยิ่งเกิดความภูมิใจว่าตัวเองก็สามารถเป็นพี่ที่ดี เป็นที่พึ่งของคุณพ่อคุณแม่ได้ และสามารถปกป้องดูแลน้องได้ หากเขาทำหน้าที่นี้ได้ดี เราควรขอบคุณลูกด้วยความจริงใจที่ช่วยแบ่งเบาภาระงานเลี้ยงน้องไปได้เยอะ

สำหรับเด็กแล้ว การมีโอกาสได้เลือก และมีส่วนร่วมทำกิจกรรมกับคุณพ่อคุณแม่ ถือเป็นสิ่งที่ทำให้เขารู้สึกมีตัวตน ได้รับการยอมรับ และได้รับการเคารพในการตัดสินใจ ซึ่งเทคนิคนี้นอกจากจะช่วยตอบสนองความต้องการพื้นฐานทางจิตใจอย่างเต็มที่แล้ว ยังช่วยปลูกฝังทักษะงาน และความรับผิดชอบให้ลูกอีกด้วย ส่งผลให้ลูกเปิดใจรับน้องแบ่งปันความรักและความอบอุ่นนี้ให้น้องได้ง่ายขึ้น

7. ให้ของขวัญแก่พี่คนโตและน้องคนเล็ก

คุณควรจะให้ญาติสนิทที่มาเยี่ยมให้ซื้อของขวัญสัก 1-2 ชิ้น ฝากลูกคนโตด้วย แล้วบอกว่านี่คือรางวัลที่หนูช่วยพ่อแม่ดูแลน้อง จากนั้นให้คุณก็เล่าให้ญาติฟังว่าพี่คนโตช่วยดูแลคุณและน้องก่อนคลอดอย่างไรบ้าง เท่าที่วัยอย่างเขาทำได้ พร้อมชมเชยเขาด้วยความจริงใจและออกสื่อ

8. ตามใจพี่คนโตบ้าง

เช่น การที่เขาอยากได้ของเล่นอะไรสักอย่าง ก็ซื้อให้เขาแล้วบอกว่าเป็นรางวัลที่ช่วยพ่อและแม่เลี้ยงน้อง เขาจะยิ่งมีกำลังใจและรักในการเลี้ยงน้องมากขึ้น ให้เขาได้เลือกของด้วยตัวเอง จะทำให้มีความคิดเป็นของตัวเอง มั่นใจในตัวเอง และกล้าแสดงออกเพิ่มมากขึ้นค่ะ

9. แบ่งเวลาให้ลูกคนโต 20/7

คือ การใช้เวลาคุณภาพอยู่ตามลำพังกับลูก 20 นาทีทุกวัน โดยที่ไม่มีน้องเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมครั้งนี้  โดยให้ลูกคิดกิจกรรมต่างๆ ที่เขาอยากทำกับคุณในแต่ละวัน ให้เวลาเขาอยู่กับคุณอย่างเต็มที่โดยไม่มีน้อง และไม่ใช้อุปกรณ์สื่อสารใดๆทั้งสิ้น เน้นการพูดคุย การเล่น และการมีปฏิสัมพันธ์กับลูกคนโต

“เราจะทำอะไรด้วยกันก็ได้ตามที่ลูกต้องการ ขอให้ลูกคิดไว้เลยว่า เมื่อถึงเวลา 20 นาทีนี้แล้ว ลูกอยากจะทำอะไร ?”

10. ใช้สติ ห้ามใช้อารมณ์

อาจจะมีบางครั้งที่คุณมีอารมณ์โกรธ หรือโมโห เพราะเขาอาจจะทำบางอย่างผิดไป เช่น เผลอเล่นกับน้องแรงเกินไป แต่เขาไม่ได้ตั้งใจ อย่าเพิ่งด่วนสรุป ดุหรือลงโทษเขาแรงๆ แต่ให้ใช้สติ ควบคุมอารมณ์ตัวเองให้พูดคุยกับลูกด้วยเหตุผล พร้อมถามสาเหตุ รวมทั้งให้เขาเล่าเหตุการณ์ทั้งหมดให้เราฟังว่าเกิดอะไรขึ้น

คุณพ่อคุณแม่ควรอธิบายเหตุผลที่ไม่ควรเล่นกับน้องแรงๆ ให้เขาฟังด้วยท่าทีสงบแต่จริงจัง ข้อสำคัญ คุณแม่ต้องอดทน ลูกจะค่อยๆ เข้าใจมากขึ้นได้ตามวัยของเขาเอง
เขาต้องเข้าใจว่า ถึงจะไม่พอใจกันสักแค่ไหนก็ต้องทน พยายามควบคุมอารมณ์และทำดีต่อกันให้ได้ ห้ามรังแกให้อีกฝ่ายเจ็บตัวหรือเจ็บใจเด็ดขาด

11. อย่าใช้!! คำพูดที่กระทบต่อจิตใจลูก

คำพูดทุกคำที่คุณพ่อคุณแม่พูดออกมา ลูกจะจำไม่ลืม ยิ่งเป็นคำด้านลบ มันจะฝังใจเขา ทำให้ลูกคิดติดลบได้ และห้ามพูดพูดเปรียบเทียบน้องกับพี่ และไม่ควรดุว่าหรือลงโทษพี่รุนแรง เช่น

12. เข้าใจความรู้สึก และเห็นอกเห็นใจลูกคนโต

หากเกิดปัญหาพี่อิจฉาน้องไปแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรทำความเข้าใจกับปัญหา และแสดงความเห็นใจพี่ที่มีความรู้สึกว่าน้องมาแย่งทุกอย่างไป คุณพ่อคุณแม่ควรพูดคุยกับพี่ ให้เขาได้ระบายความรู้สึกอึดอัดใจออกมา ขณะเดียวกันก็ประคับประคองจิตใจ และเห็นใจลูกคนโตที่ต้องทำหน้าที่พี่ ซึ่งเป็นผู้เสียสละที่แท้จริง

13. กอดลูกแน่นๆ พร้อมหน้ากันทั้งครอบครัว

แสดงความรักผ่านสื่อสัมผัสทางกายทั้งกับพี่และน้องพร้อม ๆ กัน เช่น กอดลูกทั้งสองคนพร้อมกัน โดยให้พี่เอามือโอบกอดน้อง เป็นการกอดกันเป็นวงกลม หรือให้ลูกคนโตนั่งตักคุณแม่และอุ้มน้องคนเล็กไว้ด้วย ลูกจะรู้สึกเป็นพิเศษว่าได้นั่งตักคุณแม่ ลูกจะรู้สึกว่าน้องไม่ใช้เวลาของคุณแม่ไปหมดคนเดียว แต่ยังมีเวลา และที่พิเศษกับตัวเองด้วย ลูกจะรู้สึกถึงความรักนั้นได้ค่ะ

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ สำหรับ 13 กลยุทธ์ไม่ให้พี่อิจฉาน้อง เราหวังว่าทุกครอบครัวจะนำไปปรับใช้กันในชีวิตจริงๆ กันนะคะ รับรองว่า ต้องช่วยให้ลูกคนโตรักน้อง และรักคุณพ่อคุณแม่เพิ่มมากขึ้นแน่นอนค่ะ

ที่มา : amarinbabyandkids
kapook Baby
rakluke