Parents One

5 ความคิดที่ทำให้สัมพันธภาพในครอบครัวเกิดรอยร้าว

ความสัมพันธ์เป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน ยิ่งเป็นความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวด้วยแล้วก็ยิ่งต้องดูแลและประคับประคองให้ดี แต่ถึงแม้ว่าเราจะดูแลความสัมพันธ์ได้ดีแค่ไหน แน่นอนว่าก็ต้องมีบ้างที่บางความคิดทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวเกิดรอยร้าว เราไปดูกันดีกว่าค่ะว่าความคิดเหล่านั้นจะมีอะไรบ้าง

คิดว่าคนในครอบครัวคือคนกันเองจะทำยังไงก็ได้

ความเคยชินอาจทำให้เรามองข้ามความสำคัญของคนที่อยู่ข้างๆ ตัวเรา การคิดว่าคนในครอบครัวเป็นคนกันเองแล้วเราจะทำตัวไม่น่ารัก พูดจาทำร้ายจิตใจ ไม่ใส่ใจ ไม่สนใจกันอาจเป็นเรื่องที่ทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวเกิดความขัดแย้งได้ สงสัยไหมว่า ทำไมเราถึงถนอมน้ำใจคนอื่น มากกว่าคนในครอบครัว ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว คนในครอบครัวหรือคนใกล้ตัว คือคนที่เราต้องให้ความสำคัญ ใส่ใจในความรู้สึก ถนอมน้ำใจกันให้มากที่สุดแท้ๆ 

คิดว่าเรื่องเงินคือสิ่งสำคัญที่สุด

แน่นอนว่าเงินถือเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต แต่ว่าเงินก็ไม่ใช่ทุกอย่าง เพราะเงินไม่สามารถซื้อความอบอุ่นหรือความรักระหว่างคนในครอบครัวได้ คงมีไม่น้อยที่พยายามทำงานหนัก เพื่อหาเงินมาเลี้ยงดูครอบครัวแต่ไม่มีเวลามาอยู่กับลูกหรือคนที่รัก เพราะคิดว่าสามารถใช้เงินทดแทนเวลาที่หายไปได้ แต่จริงๆ แล้ว “เงิน” ไม่ใช่พ่อแม่หรือสามีภรรยาที่ดีนักหรอกค่ะ คนทุกคนล้วนต้องการความเอาใจใส่จากคนที่รักด้วยกันทั้งนั้น

คิดว่าเรื่องของคนในครอบครัวไม่สำคัญ

การเอาใจใส่กันคือเรื่องสำคัญมากๆ ในการดูแลความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวทั้งพ่อแม่และลูก อย่ามองว่าปัญหาของคนในครอบครัวคือเรื่องของใครของมัน จริงอยู่ว่าเราคงไม่สามารถแก้ปัญหาให้กับทุกคนได้ แต่ก็ไม่ควรให้คนที่เรารักเผชิญหน้ากับปัญหาคนเดียว ควรให้กำลังใจและถามไถ่ความเป็นไปของแต่ละคนในครอบครัว แต่ก็ไม่ควรมากเกินไปจนเหมือนกลายเป็นการจับผิดกัน

คิดว่าตัวเองทำเพื่อครอบครัวอยู่คนเดียว

ครอบครัวคือสิ่งที่คนสองคนพยายามสร้างขึ้นมาให้กลายเป็นอันหนึ่งอันเดียว เปลี่ยนจากคำว่า “เธอ” และ “ฉัน” เป็นคำว่า “เรา”  ซึ่งจะต้องใช้การร่วมแรงร่วมใจของคนสองคน ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่ง แต่ถ้าหากมีใครคนหนึ่งกำลังเริ่มรู้สึกว่าสิ่งที่ตัวเองทำนั้นเป็นการพยายามทำเพื่อครอบครัวอยู่ฝ่ายเดียวอาจเป็นเพราะว่าในบางทีเราอาจจะรู้สึกเหนื่อยเกินไป จนมองข้ามว่าอีกฝ่ายก็กำลังทำหน้าที่ที่แตกต่างเพื่อครอบครัวอยู่เช่นกัน ดังนั้นก็ควรที่จะต้องหันหน้าเข้ามาคุยกันถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นว่าเป็นเพราะอะไร ต้องคุยกันโดยที่ห้ามใช้อารมณ์ โทษอีกฝ่ายหรือโทษตัวเองเด็ดขาด เพราะการใช้อารมณ์มีแต่จะทำลายความรู้สึกของกันและกัน

คิดว่าไม่จำเป็นต้องพูดเวลาไม่เข้าใจกัน

เวลาที่คนสองคนเข้าใจผิดหรือเข้าใจไม่ตรงกันหากไม่ทะเลาะก็คงจะใช้ความเงียบเข้ามาควบคุมสถานการณ์ ซึ่งการเงียบก่อนก็เป็นสิ่งที่ดี เพราะจะทำให้แต่ละคนสงบสติอารมณ์และใจเย็นมากขึ้น แต่การเงียบตลอดก็มีผลเสียเหมือนกัน เพราะปัญหาหรือความเข้าใจผิดนั้นจะไม่ถูกแก้ไข แต่กลับกลายเป็นการซุกปัญหาไว้ใต้พรม ดังนั้นจริงๆ แล้วเมื่อคนเราไม่เข้าใจกันก็ควรที่จะหันหน้าคุยกันมากกว่าเงียบใส่กัน แต่ว่าต้องเลือกใช้คำพูดที่คิดถึงใจอีกฝ่ายให้มากๆ อย่าให้อารมณ์มาอยู่เหนือเหตุผล และการประชดประชันไม่ใช่คำพูดที่ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นเลยสักนิด

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก