Parents One

6 คำพูด ทำร้ายจิตใจลูกโดยไม่รู้ตัว

เราต่างต้องการสิ่งที่ดีให้กับลูกของเรา แต่บางครั้ง สิ่งที่พ่อแม่แสดงออก จะด้วยการกระทำหรือคำพูดที่ไม่ได้ตั้งใจก็ตาม อาจกลายเป็นสิ่งที่ทำร้ายใจลูกโดยไม่รู้ตัวเลยก็ได้นะคะ

คำพูดต่อว่า ต่อหน้าคนอื่น

ช่วงปีที่ 3 ของชีวิต คือช่วงเรียนรู้สังคม เด็ก จะพยายามสร้างภาพลักษณ์ตัวเอง เพื่อเป็นที่ยอมรับ ทำให้บางครั้งอาจทำผิดไปแบบไม่ตั้งใจ ยังไม่สามารถแยกแยะได้ว่าสิ่งไหนควรทำ ไม่ควรทำ และเมื่อถูกต่อว่าต่อหน้าคนอื่น จึงเท่ากับเป็นการทำร้ายจิตใจ และทำลายความพยายามที่เขาสร้างมา 

ข้อคิด : การต่อว่าลูก ไม่ได้ทำให้เขาทำตัวดีหรือเข้าใจอะไรได้มากขึ้น แต่ทำให้เขาไม่เชื่อใจเรา การชี้แนะลูกด้วยถ้อยคำที่อ่อนโยน ด้วยความรัก คือวิธีที่ดีที่จะช่วยให้ลูกเปิดใจรับฟังเสียงพ่อแม่ และยอมรับข้อเสียของเขาเองด้วย

คำพูดว่าอย่า

เมื่อถึงวัยที่เขาเดินได้ พูดได้ เขาก็อยากทำอะไรได้เองอย่างอิสระ อยากทำตามความคิดตัวเอง แต่พอได้ยินคำว่าอย่าของผู้ใหญ่ จึงเป็นเหมือนเสียงกระตุ้นสัญชาตญาณ ให้เกิดการต่อต้าน ไม่ทำตาม และทำให้เรารู้สึกว่า ลูกต่อต้านคำสั่งพ่อแม่

ข้อคิด : หลีกเลี่ยงหรือเปลี่ยนประโยคคำว่าอย่าเป็นถ้อยคำที่บอกเขาตรง ว่า อยากให้เขาทำอะไร เช่น แทนที่จะบอกว่า อย่าตีน้องสิ ให้ลองพูดว่า ลูบหัวน้องเบาๆ นะ, หรือแทนที่จะพูดว่า อย่าปีนหน้าต่าง ให้ลองบอกว่า มาเล่นใกล้ แม่ ตรงนี้กว้างกว่านะ

คำข่มขู่ของพ่อแม่

เวลาที่ลูกดื้อหรือไม่เชื่อฟัง พ่อแม่หลายคนใช้วิธีข่มขู่ เช่นถ้าไม่ยอมกินข้าว จะเรียกตำรวจมาจับซึ่งมักจะได้ผล ที่จริงเขาแยกไม่ได้ว่า สิ่งที่ผู้ใหญ่พูดเป็นคำเกินจริง เพราะรู้สึกว่า พ่อแม่คือคนใกล้ชิดที่สุดที่เขาไว้วางใจได้ ซึ่งการข่มขู่ลูก (เป็นประจำ) อาจทำให้เขารู้สึกกลัว รู้สึกได้ถึงความไม่ปลอดภัย ไม่ไว้วางใจ

ข้อคิด : เมื่อเราใช้คำพูดเกินจริงบอกเขา เพื่อให้เขาทำตามคำสั่งสอน อาจได้ผลเพียงระยะหนึ่ง แต่เมื่อเขาโตขึ้น แยกแยะเรื่องราว วิเคราะห์ความจริงได้ เขาอาจต่อต้าน และไม่เชื่อฟังคำพูดของเรา

คำเปรียบเทียบ

ด้วยเจตนาให้ลูกแก้ไข ปรับปรุง ชี้ถึงข้อด้อยคอยเปรียบเทียบกับคนอื่น ซึ่งไม่ก่อประโยชน์อะไรเลย เพราะเป็นการทำลายความเชื่อมั่น ความกระตือรือร้น ทำให้เขาคิดว่าตัวเองไม่มีคุณค่า เพราะพ่อแม่รักคนอื่นมากกว่า

ข้อคิด : ในโลกนี้มีสองด้านเสมอ ฉะนั้น เราต้องมองเห็นคุณค่าในตัวลูก ยอมรับในความแตกต่าง หากจะเปรียบเทียบ ให้เขาเปรียบเทียบกับตัวเองดีกว่า เพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะสร้างสรรค์และพัฒนาตัวเอง

คำขู่เข็ญ และคาดหวัง

หากพ่อแม่ตั้งเป้าหมาย เขี่ยวเข็ญ คาดหวังให้ลูกทำอะไรมากเกินไป เขาจะรู้สึกว่าถูกบังคับ ว่าเขาต้องทำให้สำเร็จ เกิดความกังวล กลัวการพ่ายแพ้ จนในที่สุดเป็นคนปิดตัวเอง ไม่กล้าที่จะพิสูจน์ตัวเองหรือทำอะไร

ข้อคิด : เราควรเชื่อใจ ยอมรับในตัวตนของลูก และช่วยให้เขาเป็นตัวของตัวเอง ทำในสิ่งที่เขาอยากทำตามสมควร แล้วเขาจะให้การยอมรับและให้ความร่วมมือ ยินดีที่จะทำในสิ่งที่เราเสนอให้ทำอย่างเต็มใจ🙂

คำพูดที่ออกมาด้วยอารมณ์

เวลาเห็นลูกทำผิดหรือทำไม่ได้ตามที่เราสอน แล้วเรามักหงุดหงิด หัวเสีย ดุว่าด้วยอารมณ์ รู้ไหมคะว่าคำพูดเหล่านั้นจะค่อย บั่นทอนความมั่นใจและการเห็นคุณค่าในตัวเองของลูกได้

ข้อคิด : เป็นไปไม่ได้ที่ลูกจะเชื่อทุกคำพูดของเราในทุกเรื่องโดยไม่มีความคิดเห็นของตัวเอง ดังนั้น หากมีอะไรไม่ได้ดั่งใจเรา ให้พยายามควบคุมอารมณ์ของตัวเองให้ได้เสียก่อน ใจเย็น ค่อย หาสาเหตุและแก้ไขปัญหา ให้ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับลูกเป็นความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันจะดีกว่า