Parents One

7 คำถามที่จะทำให้รู้จักการศึกษาแบบ Homeschool มากขึ้น

โฮมสคูล (Homeschool) เป็นระบบการศึกษาทางเลือกที่คุณพ่อคุณแม่หลายคนสนใจ แต่ก็ยังคงมีอีกหลายคำถามที่ผุดขึ้นมาในหัว ว่าระบบการศึกษาแบบนี้จะตอบโจทย์การเรียนรู้ของลูกขนาดไหน ต้องใช้เงินมากไหม เด็กที่เรียนโฮมสคูลจะสามารถกลับเข้าระบบการศึกษาแบบปกติได้รึเปล่า วันนี้เราจึงรวม 7 คำถามที่พ่อแม่สงสัยเกี่ยวกับโฮมสคูลมาฝากค่ะ บางทีอ่านแล้วก็จะทำให้เราตัดสินใจเกี่ยวกับการศึกษาในอนาคตของลูกได้ชัดเจนมากขึ้น


Homeschool คืออะไร ?

Homeschool คือ การจัดการเรียนโดยบ้าน ผู้จัดการเรียนการสอนก็คือ คุณพ่อคุณแม่ โฮมสคูลไม่ได้หมายความว่าเด็กอยากจะเรียนอะไรตามใจตัวเอง แต่พ่อแม่จะต้องวางตารางให้เขาว่าเขาต้องทำอะไรบ้างในแต่ละวัน ซึ่งจะต้องมีหลักสูตรมากประกอบ โดยดึงความสนใจของลูกออกมา ลูกเลยต้องเข้าใจตัวเองว่าเขาชอบทำอะไร อยากทำอะไร แล้วในแต่ละภาคการศึกษาก็จะมีโปรเจกต์ของลูก ที่จะได้เรียนรู้ไปพร้อมกันกับพ่อแม่

และจริงๆ แล้วการจัดการเรียนโดยบ้าน ไม่ได้แปลว่าการจัดการเรียนที่บ้าน แต่ว่าจะเป็นการจัดการเรียนตามวัฒนธรรมของบ้าน ซึ่งจัดด้วยหลักคิดต่างๆ กัน เพราะฉะนั้นแต่ละบ้านก็มีวิธีการต่างกัน อย่างการพาลูกออกไปดูหรือเรียนรู้นอกบ้านก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นเดียวกัน

การทำ Homeschool ต้องมีเงินเยอะไหม ?

เรื่องนี้เป็นเรื่องของวัฒนธรรมของบ้าน ว่าแต่ละบ้านมีการจัดสรรงบประมาณยังไง แต่จริงๆ แล้วการทำโฮมสคูลก็ไม่จำเป็นต้องใช้เงินเยอะ หากเรารู้จักวิธีสอดแทรกความรู้ลงไปในเรื่องที่เด็กสนใจ เช่น หากลูกชอบกินขนมปัง เราก็ลองทำขนมปังกินเอง แน่นอนว่าก็ต้องถูกกว่าซื้ออยู่แล้ว โดยเราสามารถนำการทำขนมปังมาเป็นกระบวนการเรียนรู้ของลูกเราได้ ในเรื่องเคมีของแป้ง เคมีของน้ำ เคมีของยีสต์ 

หรือถ้าชอบเล่นแป้งโดว์ เราก็ทำกันเองได้ โดยจัดให้มีการทดลองขึ้น ให้ลูกไปลองค้นคว้าข้อมูลว่าต้องการทำแป้งโดว์ลักษณะไหน จะต้องใช้วัตถุดิบอะไรบ้าง แล้วมาทดลองทำ ซึ่งเราก็สามารถกำหนดงบให้เขาได้ ในเรื่องนี้ก็จะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการสอนได้หลายอย่าง ดังนั้นเรื่องค่าใช้จ่าย ก็ขึ้นอยู่กับการจัดสรรของแต่ละบ้านมากกว่า

เด็กเรียน Homeschool จะไม่มีเพื่อน ?

ถ้าคุณพ่อคุณแม่คิดว่าเด็กที่เรียนโฮมสคูลอาจไม่มีเพื่อน ก็คงไม่ใช่ทั้งหมด เพราะจริงๆ แล้ว เด็กที่เรียนโฮมสคูลก็มีเพื่อนค่ะ แต่จะไม่ได้มีเพื่อนในปริมาณเยอะขนาดนั้น โดยเด็กที่เรียนโฮมสคูลก็จะมีสังคมของเขา ซึ่งพ่อแม่ก็จะพาลูกมาเจอกัน มาเล่นกัน พาไปดูนิทรรศการหรือไปทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน ดังนั้นกลุ่มเด็กโฮมสคูลจึงมีความหลากหลายมากๆ ทั้งรุ่นพี่ รุ่นน้อง ไม่ได้มีแค่เด็กรุ่นเดียวกัน ซึ่งนั่นทำให้เด็กรู้จักการวางตัวว่าควรจะทำตัวแบบไหน เมื่ออยู่ในกลุ่มคนที่มีหลากหลายอายุ 

อีกอย่างหนึ่งที่เด็กโฮมสคูลจะแตกต่างกับการเข้าโรงเรียนคือ โรงเรียนก็เป็นคอมมูนิตี้ที่พ่อแม่ออกแบบได้น้อย ในขณะที่เด็กเรียนที่บ้านเราออกแบบได้ทุกอย่าง เช่น เรื่องการไม่ใช้ความรุนแรง ห้ามทำร้ายตัวเอง ไม่ทำร้ายคนอื่น ไม่ทำลายข้าวของ หรือการบูลลี่เป็นการสร้างความเจ็บปวด 

สิ่งที่ยากในการทำ Homeschool ?

อย่างแรกก็คือความพร้อมของพ่อแม่ ทั้งเรื่องของความมุ่งมั่นในการทำหน้าที่ครูให้แก่ลูก เพราะเราต้องให้เวลาในการเรียนรู้ของลูกอย่างเต็มที่ รวมไปถึงเรื่องของการเป็นนักจัดการที่ดี เพราะอย่างที่บอกว่าเราเป็นคนที่ต้องวางแผนการเรียนของลูก ต้องมีการจัดสภาพแวดล้อมของบ้านให้เอื้อต่อการเรียนรู้ 

นอกจากนี้จะมีเรื่องของความยากลำบากตรงที่ พ่อแม่ที่ทำโฮมสคูลเองจะต้องไปหาหลักสูตรที่จะนำมาใช้กับลูก โดยหลักสูตรนั้นจะต้องเป็นหลักสูตรที่ทางกระทรวงศึกษาธิการยอมรับเพื่อไปจดทะเบียนกับเขต ซึ่งในส่วนนี้ พ่อแม่ก็ต้องทำการบ้านหนักหน่อยค่ะ

สถานที่ที่ช่วยพ่อแม่ทำ Homeschool ?

จริงๆ รูปแบบของการทำโฮมสคูลไม่ได้มีเพียงแค่ทำเดียวๆ บ้านใครบ้านมันเท่านั้น แค่จะมีสถานที่ที่เป็นเหมือนคอมมูนิตี้ให้พ่อแม่มาช่วยกัน รวมกันหลายๆ ครอบครัวในการดูแลเด็กๆ ซึ่งมีอยู่สถานที่หนึ่งที่เรารู้จัก คือ ศูนย์การเรียน นวัตกรรมเพื่อความสุข โดยจะเป็นเหมือนโรงเรียนเล็กๆ ที่มีพ่อแม่มาช่วยกันดูแล หรือแบ่งปันทรัพยากรร่วมกัน เช่น บ้านใครมีไร่มีนา ก็สามารถพาเด็กๆ ในศูนย์การเรียนไปเรียนรู้ และลงมือทำจากสถานที่จริงๆ ได้

ดังนั้นจึงเป็นสถานที่ที่ช่วยกำหนดแนวทางในการเรียนการสอนของเด็กที่เรียนโฮมสคูล เพราะ จะมีเป้าหมาย มีกรอบ การจัดการศึกษาที่ชัดเจน และเป็นกรอบที่รัฐบาลยอมรับ ซึ่งศูนย์การเรียนก็จะมีหลักสูตรกลางตามแบบความต้องการที่ค้นหาร่วมกันว่าเด็กจะพัฒนาเป็นอะไร มีวิธีการประเมิน มีบุคลากร มีทรัพยากรที่พร้อมสำหรับการช่วยพ่อแม่  อีกอย่างหนึ่งคือมีหน้าที่ประเมินร่วมกับพ่อแม่แทนเขต และออกใบจบได้เหมือนราชการ

อนาคตทางการศึกษาของเด็ก Homeschool ?

หากวันนึงเด็กที่เรียนโฮมสคูลรู้สึกว่าเขาอยากลองไปโรงเรียนดู ก็สามารถไปโรงเรียนได้ตามปกติ เพราะเขาได้เตรียมความพร้อมจากที่บ้านไปแล้ว โดยหลักสูตรที่พ่อแม่ใช้ในการจัดการเรียนโดยบ้าน จะต้องมีการขมวดรวมสิ่งที่เรียนว่ากลุ่มประสบการณ์ ที่ใส่สาระวิชา 8 วิชาลงไปในนั้น เลยทำให้เด็กที่เรียนโฮมสคูล ก็สามารถทรานส์เฟอร์ไปเรียนที่โรงเรียนได้ หากมีการเข้าร่วมการศูนย์การเรียนด้วยแล้ว ทางศูนย์การเรียนก็จะช่วยเทียบเกรดให้ ออกใบประเมินให้ แล้วเด็กอยากจะไปสอบที่ไหนก็สามารถใช้ใบประเมินนี้ได้

สิ่งที่พ่อแม่ต้องคิดให้ดีเกี่ยวกับการศึกษาของลูก ?

คนสำคัญที่สุดคือพ่อแม่  ที่เป็นคนเลือกและเป็นคนตัดสินใจว่าจะให้ลูกได้รับการศ฿ฏษาแบบไหน หากเห็นว่าการเรียนที่โรงเรียนเหมาะกับลูก ก็ส่งให้ลูกเข้าโรงเรียน แต่ถ้าลองแล้วรู้สึกว่ายังไม่เหมาะ ก็ต้องหาแนวทางที่ใช่และตอบโจทย์การเรียนรู้ของลูกมากที่สุด

แต่ที่สำคัญพ่อแม่ต้องมั่นใจว่า การเลือกของเราจะไม่ตัดโอกาสในการเรียนรู้ของลูก พ่อแม่ต้องเลือกว่าจะใช้เป้าหมายแบบไหน เอาแนวไหนในการพัฒนาลูก อีกเรื่องคือตอนนี้โลกหมุนไปข้างหน้าเรื่อยๆ ถ้าพ่อแม่คิดเรื่องการศึกษาของลูกในแบบเดิมๆ ก็อาจจะใช้การไม่ได้ อาจจะไม่ประสิทธิภาพมากพอ ที่จะรองรับโลกในอนาคตให้แก่ลูกเราแล้วค่ะ