Parents One

ทำความรู้จักกับ 7 ผด-ผื่น ปัญหาผิวหนังของทารก พร้อมวิธีรักษา

ปัญหาผิวของเจ้าตัวเล็กอย่างผดหรือผื่น คงจะสร้างความกังวลให้คุณพ่อคุณแม่ไม่น้อย เพราะอยู่ดีๆ ผิวหนังนุ่มนิ่มของลูกกลับมีเม็ดอะไรไม่รู้ขึ้นมาเต็มไปหมด แต่คุณแม่ไม่ต้องกังวลไปค่ะ เพราะผื่นเหล่านี้กว่า 70% สามารถหายได้เอง วันนี้เราจึงรวบรวมปัญหาผิวที่มักจะเกิดกับทารกรวมไปถึงวิธีการรักษาเบื้องต้นมาฝากทุกคนค่ะ  แต่อย่างไรก็ดีเพื่อความปลอดภัยและสบายใจก็ควรพาลูกไปหาคุณหมอนะคะ

ผดร้อน

เกิดจากการอุดตันของท่อระบายเหงื่อเพราะผิวหนังของเด็กยังพัฒนาไม่เต็มที่ มักเกิดในช่วงที่มีอากาศร้อน ซึ่งมี 3 ชนิดตามความลึกของท่อระบายเหงื่อที่อุดตันในชั้นผิวหนัง

โดยบริเวณที่มักจะเกิดผดร้อนจะเป็นบริเวณผิวหนังที่มีท่อระบายเหงื่อจำนวนมากเช่น บริเวณหน้าผาก หน้าอก หลัง คอ  ข้อพับ ขอบเอว และบริเวณเสียดสีกับเสื้อผ้าบ่อยๆ อาจพบอาการคันร่วมด้วย

การรักษา

ส่วนใหญ่หายได้เองเมื่ออยู่ในอากาศเย็นสบาย ควรให้ลูกสวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี หลีกเลี่ยงการทาครีมในส่วนที่เป็นผด

ผื่นแดง

เป็นผื่นแดงขนาด 1-3 ซม. โดยมีตุ่มน้ำใสหรือตุ่มหนองขนาด 1-3 มม. อยู่ตรงกลาง พบได้ตามใบหน้าและลำตัว แขน ขา แต่ไม่ค่อยพบที่ฝ่ามือฝ่าเท้า มักเกิดในเด็กแรกเกิดจนอายุประมาณ 14 วัน

การรักษา

จะยุบหายไปเองใน 1 สัปดาห์ ผื่นแดงนี้ไม่ก่อให้เกิดอันตรายใดๆ ต่อลูก

ผื่น Milia

เป็นจุดหรือตุ่มที่ผิวของลูก มีขนาดเล็ก 1-2 มิลลิเมตร สีขาวหรือออกเหลือง พบบ่อยบนใบหน้าบริเวณแก้ม จมูก คาง หน้าผาก และอาจพบที่เหงือกหรือกลางเพดานปากได้ด้วย เกิดจากการฝังตัวตกค้างของสาร เคอราตินที่ผิวชั้นบนสุดของหนังกำพร้า ซึ่งเคอราตินเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของหนังกำพร้า เล็บและผม

การรักษา

ส่วนใหญ่จะหลุดหายไปเองภายใน 1-2 เดือน และจะไม่ทิ้งรอยแผลเป็นใดๆ แต่ถ้าเป็นนานแล้วแต่ตุ่มยังไม่หายไป อาจต้องมาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคทางพันธุกรรมบางโรคค่ะ

ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง

จะมีอาการผิวหนังสากแห้ง แดงอักเสบ มีตุ่มน้ำเม็ดเล็กๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะขึ้นบริเวณหน้าผาก แก้ม แขนและขา จะแสดงอาการภายในอายุ 2-5 ปี ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย เช่น พันธุกรรม ความอ่อนแอของผิวหนัง ทำให้ขาดชั้นไขมันในผิวหนัง ผิวหนังจึงแห้ง แม้ว่าผื่นนี้จะหายไปเมื่อรักษา แต่ก็สามารถกลับมาเป็นอีกครั้งคราว

การรักษา

รักษาโดยการทายาสเตียรอยด์ ซึ่งต้องปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้และพยายามทำให้ผิวของลูกชุ่มชื้น โดยการทาสารให้ความชุ่มชื้นลงบนผิวของลูกภายใน 2-3 นาทีหลังอาบน้ำเสร็จ

ผื่นผ้าอ้อม

ผิวหนังลูกระคายเคืองจากการใส่ผ้าอ้อมที่อับชื้นเป็นเวลานาน ผิวหนังเด็กจะเป็นตุ่มหรือปื้นแดงเป็นมัน คันและระคายเคืองบริเวณที่นูนสัมผัสกับผ้าอ้อม เช่น ต้นขาด้านใน ก้น

การรักษา

ควรเปลี่ยนผ้าอ้อมบ่อยๆ อย่าบล่อยให้ก้นของลูกอับชื้น เมื่อเริ่มเป็นผื่น ควรมาขี้ผึ้งหรือครีมเพื่อป้องกันการเสียดสีที่เกิดขึ้น

ผื่นแพ้ต่อมไขมัน

เป็นผื่นแดงมีสะเก็ดเหลืองของไขมันปกคลุม มีลักษณะเป็นขุยหรือสะเก็ดเหนียวสีเหลืองที่ศีรษะ อาจเป็นผื่นแดงบนใบหน้า หลังหู คอ อาการเริ่มในช่วงอายุ 3-12 สัปดาห์

การรักษา

ส่วนใหญ่หายได้เอง โดยอาจทาเบบี้ออยล์หรือน้ำมันมะกอกที่สะเก็ด ทิ้งไว้ก่อนสระผมให้ลูกสัก 15-20 นาที เพื่อให้สะเก็ดนุ่ม จากนั้นใช้แปรงขนนุ่มแปรงเบาๆ

สิวฮอร์โมน

มีลักษณะเป็นตุ่มแดงหรือตุ่มหนอง พบเฉพาะที่ใบหน้าโดยพบบ่อยบริเวณแก้ม แต่อาจพบได้ที่ศีรษะเช่นกัน สิวฮอร์โมนพบได้ตั้งแต่อายุ 3 สัปดาห์ ซึ่งไม่ทราบสาเหตุว่าเกิดจากอะไร อาจเกิดจากฮอร์โมนเพศชายที่ค่อนข้างสูงจากแม่หรือตัวเด็กเองไปกระตุ้นการทำงานของต่อมไขมัน

การรักษา

ส่วนใหญ่จะหายได้เอง ไม่ควรทาโลชั่นหรือน้ำมันใดๆ เพราะจะไปอุดตันรูขุมขนมากขึ้น

ข้อมูลอ้างอิงจาก