Parents One

7 เทคนิค พูดยังไงให้ลูกฟัง

ก่อนมีลูก ตุ๊กเคยคิดว่าการเลี้ยงเด็กคนนึงคงไม่น่าเป็นเรื่องยากอะไร แต่พอมีลูกเองถึงรู้ว่าแค่การพูดยังไงให้ลูกยอมฟังเรา โดยเฉพาะเด็กวัย 2-5 ขวบ กลับกลายเป็นเรื่องที่ยากพอดู 7 เทคนิคพูดยังไงให้ลูกฟัง ที่อยากมาแชร์กันในวันนี้ เป็นวิธีที่เคยใช้ที่บ้านแล้วไม่ต้องแลกมาด้วยน้ำตาและไม่มีดราม่าเลยค่ะ

1. พูดให้สั้น เข้าใจง่าย และกระชับที่สุด

เด็กเล็กยังไม่สามารถเข้าใจหรือลำดับเรื่องราวต่างๆ ได้ดีเท่าเด็กโต ดังนั้นถ้าจะพูดหรืออธิบายอะไรสักอย่างให้เขาฟัง ให้อธิบายสั้นๆ ไม่ยืดเยื้อ และเข้าใจได้ง่ายที่สุด

2. เข้าใจและมองในมุมของลูกก่อน

การที่จะเข้าใจมุมของลูกได้ง่ายที่สุดคือ ให้ตัวเราลองมองย้อนกลับไปในช่วงที่เราอยู่ในวัยเดียวกับเขา ว่าตอนนั้นอะไรคือเรื่องใหญ่สำหรับเรา เราคิดและรู้สึกอะไรอยู่ในวัยนั้น เมื่อเราเข้าใจและเปิดใจ สิ่งที่เราพูด ลูกจะฟังมากขึ้นเพราะเขารู้สึกว่าแม่เข้าใจเขา

3. ไม่ต่อว่า สอน หรือตัดสินไปก่อน

เมื่อไหร่ที่เราพูดในเชิงต่อว่า สอน หรือตัดสินเขาไปก่อนแล้ว เช่น “ทำไมดื้อยังงี้ ทำไมไม่ฟังที่แม่พูดเลย” โอกาสที่ลูกจะฟังก็จะมีอยู่น้อย ถ้าเราต้องการที่จะสอนเขา ให้ฟังเรื่องราวในมุมของเขาก่อน เมื่อลูกรู้สึกว่าแม่ไม่ได้พยายามจะแก้ไขหรือตัดสินเขา การรับฟังในสิ่งที่เราต้องการที่จะให้เขาทำก็จะง่ายขึ้น

4. ไม่ตะโกนแต่เข้าไปพูดใกล้ๆ

แทนที่จะตะโกนให้ลูกทำอะไรสักอย่าง ให้เดินเข้าไปใกล้ๆ ลูก นั่งในระดับสายตาของเขาและบอกเขาด้วยน้ำเสียงเรียบๆ ไม่ใช้อารมณ์ ถึงสิ่งที่เราต้องการให้ลูกทำ วิธีนี้จะดีและได้ผลกว่าการที่เราตะโกนให้เขาทำอะไรสักอย่างนึง

5. พูดหรือเสนอสถานการณ์อื่นที่ทั้งเราและเขารับได้

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าลูกกำลังกระโดดบนเตียงและเราไม่อยากให้ลูกกระโดดเพราะกลัวลูกจะพลัดตกลงมา การที่เราพูดว่า “อย่ากระโดดนะ” ไม่ได้ทำให้ลูกหยุดกระโดด แต่การเสนอแนวทางหรือวิธีอื่นให้ลูก เช่น เรามากระโดดกันตรงนี้ดีกว่า หรือเรามาเล่นอันนี้ดีกว่า จะช่วยให้ลูกหยุดฟังและทำตามมากขึ้น เพราะการกระทำของเขายังคงได้รับการตอบสนองอยู่

6. ชมนำทาง

เคยสังเกตไหมว่าบางทีที่เราเผลอพูดออกไปว่า “ทำไมลูกงอแงยังงี้” ซึ่งตอนนั้นสถานการณ์จริงๆ อาจไม่ได้เกิดจากที่เขาเป็นเด็กที่งอแง แต่เกิดจากที่เขาหิวหรือง่วงก็ได้ แต่คำพูดของเราไปกำหนดลูกเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่าเขาเป็นเด็กที่ “งอแง” โอกาสที่ลูกจะงอแงไปตามคำพูดของเรา ก็จะเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าปกติ เช่นเดียวกันกับคำชม เมื่อไหร่ที่เราชมลูก ว่าเขาเป็นเด็กที่มีเหตุผล เป็นเด็กที่อดทน มีระเบียบวินัย โอกาสที่เขาจะเป็นไปตามสิ่งดีๆ ที่เราพูดเกี่ยวกับตัวเขา ก็จะมีมากขึ้น ฉะนั้นการชมก่อนจะพูดในสิ่งที่เราอยากจะให้ลูกทำ จะช่วยให้เขายอมทำในสิ่งที่เราต้องการได้มากขึ้น

7. ไม่ใช้อารมณ์

เมื่อไหร่ก็ตามที่เรายังมีอารมณ์หงุดหงิด ตวาดหรือเสียงดังใส่ลูก ไม่ว่าจะใช้วิธีไหนก็ตามในการพูดกับเขา ผลลัพธ์ที่ได้คือลูกมักจะไม่ฟังเรา ก่อนที่จะพูดยังไงให้ลูกยอมฟัง ตัวเราควรควบคุมอารมณ์ให้ได้เสียก่อน ให้คิดไว้เสมอค่ะว่า การสอนวินัยหรือการพูดให้ลูกยอมทำในสิ่งที่เราต้องการ เป็นสิ่งที่ต้องใช้ความเข้าใจ ใช้เวลา และใช้ใจที่เย็นพูดคุยกันค่ะ