Parents One

Do&Don’t 8 สิ่งที่ห้ามทำให้ลูกเคยชิน ถ้าไม่อยากให้ลูกเอาแต่ใจเมื่อโตขึ้น

การเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้ลูกเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ทุกคนย่อมอยากทำให้ลูกมีความสุขในแบบฉบับของตัวเอง ซึ่งในบางครั้งเราอาจหลงลืมความจริงที่ว่าเราอยู่กับลูกไปตลอดชีวิตไม่ได้ เพราะฉะนั้นการเลี้ยงดูให้ลูกรู้จักช่วยเหลือตัวเอง และไม่เป็นเด็กเอาแต่ใจจึงกลายเป็นสิ่งที่จำเป็น หากช่วยเหลือตัวเองได้ดีแล้ว ก็สามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้ดีเช่นกัน อย่ารอช้า!! เราไปดู Do&Don’t 8 สิ่งที่ห้ามทำให้ลูกเคยชิน ถ้าไม่อยากให้ลูกเอาแต่ใจเมื่อโตขึ้นกันเลย

1. เมื่อลูกร้องไห้

Don’t : ชี้นิ้วต่อว่าลูก
Do : พูดคุยกับลูกด้วยเหตุผล

เมื่อลูกร้องไห้ แสดงว่ามีสิ่งที่กระตุ้นให้เขารู้สึกไม่ดีอะไรบางอย่าง สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำมากที่สุดจึงไม่ใช่การบอกให้ลูกเงียบโดยการดุเพียงอย่างเดียว แต่ควรเป็นการถามไถ่ว่าเกิดอะไรขึ้น และพูดคุยให้คำแนะนำกับลูกด้วยเหตุผล ไม่พูดตอกย้ำเรื่องที่ทำให้ลูกรู้สึกไม่ดี

 

2. ผูกเชือกรองเท้า

Don’t : ผูกเชือกรองเท้าให้ตลอดเวลา
Do : ควรสอนให้ลูกรู้วิธีในการผูกเชือกรองเท้าเอง

การผูกเชือกรองเท้าได้เอง เป็นทักษะหนึ่งที่เด็กๆ ควรมีเมื่อต้องเข้าโรงเรียน ฝึกให้ลูกได้เรียนรู้การผูกเชือกซึ่งมีหลายแบบหลายสไตล์ นอกจากนี้ยังช่วยฝึกสมาธิให้ลูกไม่กลายเป็นเด็กสมาธิสั้น จดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นานขึ้นอีกด้วย

 

3. เมื่อลูกมีคำถามนึกสงสัย

Don’t : เป็นคนถามเเทนลูก
Do : ให้ลูกถามคำถามด้วยตัวเอง

ถ้าไม่อยากให้ลูกเป็นเด็กเอาแต่ใจเมื่อโตขึ้น อีกทักษะที่เราควรสอนให้ลูกได้เรียนรู้นั่นคือ การรู้จักพึ่งพาตัวเองให้มาก พึ่งคนอื่นให้น้อย เพราะสุดท้ายแล้วชีวิตของลูกจะดีขึ้นหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่ที่การกระทำของลูกเท่านั้น

เช่น หากลูกสงสัยในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง คุณพ่อคุณแม่ควรฝึกให้ลูกเป็นคนที่กล้าแสดงออกโดยการกล้าที่จะถามคำถามกับผู้อื่น และรู้จักการต่อบทสนทนา แต่ไม่ใช่ให้พ่อแม่ไปถามให้ หรือไปหาข้อมูลมาให้เสียทั้งหมด เพราะจะทำให้เจ้าเด็กเสียนิสัยได้นั่นเองค่ะ

 

4. เมื่อลูกอยากซื้อหนังสือ

Don’t : เลือกหนังสือให้ลูกอ่าน
Do : ให้ลูกได้มีโอกาสเลือกหนังสือที่เขาอยากอ่านด้วยตัวเอง

เมื่อเข้าร้านหนังสือ สิ่งแรกที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำ คือ การปล่อยให้ลูกได้เดินทัศนศึกษาร้านหนังสือ สำรวจโซนต่างๆ ทั่วร้าน เพื่อให้เขาได้ค้นพบสิ่งที่สนใจ และหนังสือเล่มโปรดที่อยากอ่านมากที่สุด การชวนลูกไปเดินเล่นในร้านหนังสือบ่อยๆ ก็เป็นการปลูกฝังพฤติกรรมให้เด็กรักการอ่านโดยไม่รู้ตัวเช่นกัน

ที่สำคัญ คือ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรบังคับให้เด็กอ่านหนังสือ แต่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีในการศึกษาหาความรู้เท่านั้นก็พอแล้วค่ะ อาจมีคำแนะนำเล็กๆ น้อยๆ แต่ไม่ควรยัดเยียดความคิด หรือปลูกฝังทัศนคติให้ลูกรู้สึกเหมือนกับที่เรารู้สึกนั่นเอง

 

5. ตอนทำงานบ้าน

Don’t : ทำงานบ้านให้ลูกทุกอย่าง
Do : ให้ลูกได้มีส่วนร่วมในการช่วยงานบ้านง่ายๆ

ต้องทำให้ลูกเข้าใจว่างานบ้านไม่ใช่หน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของทุกคนในครอบครัวที่ต้องช่วยกันรักษาดูแลความสะอาดภายในบ้าน ถ้าเราไม่ทำแล้วใครที่ไหนจะมาทำใช่ไหมล่ะคะ ดังนั้น เราจึงต้องฝึกฝนให้ลูกช่วยเหลืองานในบ้าน เริ่มต้นจากงานเล็กๆ น้อยๆ ให้เขาได้มีส่วนร่วมทำงานบ้านง่ายๆ เท่านี้เด็กก็จะรู้ว่าการทำงานบ้านแม้ว่ามันจะเหนื่อย แต่มันก็ทำให้เราสนุก และได้ภาคภูมิใจที่ได้ช่วยแบ่งเบาภาระของพ่อแม่ด้วย

 

6. เมื่อลูกทำความผิดมา

Don’t : พูดโทษลูก หรือพูดตำหนิด้วยถ้อยคำที่รุนแรง
Do : ไม่ชิงดุลูกก่อน แต่ควรถามเหตุผล เพื่อให้ในอนาคตเขาจะได้กล้าพูดกับเราตรงๆ โดยที่ไม่ต้องโกหก

การกล่าวโทษคนอื่น แล้วตำหนิด้วยคำพูดที่รุนแรง แม้ว่าคนนั้นจะทำผิดจริงๆ นอกจากจะไม่ช่วยให้มีอะไรดีขึ้นแล้ว ยังเหมือนเป็นการตอกย้ำความผิดให้เพิ่มระดับขึ้นอีกเท่าตัว โดยที่เราอาจจะไม่รู้ตัวว่ากำลังทำให้ลูกกลายเป็นเด็กเก็บกด หรือเป็นโรคซึมเศร้าได้ในขณะเดียวกัน

ทางแก้ไขที่ดีที่สุด เมื่อลูกทำความผิดมา นั่นคือ การมีสติ แล้วค่อยๆ พูดกับลูกด้วยเหตุผล ไม่ชิงดุลูกก่อน ไม่ทำให้ความผิดเล็กๆ กลายเป็นความผิดที่ใหญ่ขึ้นมา เพื่อให้ลูกกล้าที่จะเปิดใจ ยอมรับความผิดที่ตัวเองทำได้ ในอนาคตเมื่อลูกโตเป็นผู้ใหญ่ เขาจะได้ไม่โกหกเรา เพราะกลัวเราต่อว่าอีก

 

7. เมื่อลูกงอแงกลางห้าง

Don’t : ว่าลูกต่อหน้าคนเยอะๆ หรือพูดเสียงดัง ตะคอกใส่ลูก
Do : เข้าไปกอด ไม่ดุ และพูดด้วยน้ำเสียงอ่อนโยน

ลูก คือสิ่งที่เราไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าเขามีความคิดความอ่านอย่างไร? เป็นสิ่งที่เหนือความคาดหมาย ยิ่งถ้าอยู่ๆ ก็ร้องไห้งอแงกลางห้างซึ่งมีคนอยู่เยอะๆ แล้วเรายิ่งไปว่าลูกไม่ให้ร้องไห้ต่อหน้าคนเยอะๆ หรือพูดเสียงดัง ตะคอกใส่ลูก ยิ่งกลายเป็นเรื่องใหญ่เลยค่ะ

ทางที่ดีและง่ายที่สุด ก็คือ เข้าไปกอดลูก ถามดีๆ ว่าหนูร้องไห้เพราะอะไรคะ? ไม่ดุ และพูดด้วยน้ำเสียงอ่อนโยนค่ะ

 

8. เมื่อลูกทำการบ้านไม่ได้

Don’t : ปล่อยให้ลูกนั่งทำการบ้านอยู่เพียงคนเดียว
Do : เข้าไปนั่งช่วยเหลือข้างๆ ลูก พร้อมกับอธิบายให้เข้าใจ แต่ไม่ใช่ต้องทำให้ไปเสียหมด

ถ้าลูกทำการบ้านไม่ได้ คุณพ่อคุณแม่ควรเข้าไปนั่งข้างๆ ลูก พร้อมกับช่วยอธิบายให้ลูกเข้าใจ ให้ลูกได้คิดต่อ แต่ต้องไม่ใช่การทำการบ้านให้ลูก ที่สำคัญ คุณพ่อคุณแม่ต้องใจเย็นๆ ห้ามใช้อารมณ์เด็ดขาด เมื่อต้องสอนการบ้านลูกด้วยนะคะ เพราะเจ้าตัวเล็กจะถามซ้ำๆ ไม่หยุดเลยแหละ

นอกจากนี้ อย่าลืมถามลูกว่าเข้าใจในเนื้อหาที่สอนไปจริงๆ ใช่ไหม หรืออาจจะลองดัดเเปลงโจทย์ต่อไปเรื่อยๆ ให้ลูกได้ลองทำ เพื่อเช็คความเข้าใจนั่นเองค่ะ

เป็นอย่างไรบ้างคะ สำหรับเคล็ดลับเล็กๆ น้อยๆ ที่ช่วยให้ลูกไม่กลายเป็นเด็กเอาแต่ใจ ถือว่าเป็นสถานการณ์ใกล้ตัวที่เราพบเจอในชีวิตประจำวันกันทุกคนเลยใช่ไหมล่ะ

อย่างไรก็อย่าลืมนำทริคต่างๆ ไปปรับใช้ในการเลี้ยงลูกด้วยนะคะ เพื่อครอบครัวที่มีความสุขของเรานั่นเองค่ะ อดทนไว้นะคะคุณพ่อคุณแม่ Parents One ขอเป็นกำลังใจในการเลี้ยงลูกทุกคนค่ะ