Parents One

9 ไฮไลท์ เลี้ยงลูกให้ Happy มีสุขภาพดีทั้งกายและใจ ในงาน 1 วันสร้างสุขให้ลูกเปลี่ยน ปี 3

สำหรับคนเป็นพ่อเป็นแม่ คงมีไม่กี่อย่างที่จะทำให้เรามีความสุขได้มากๆ แม้ว่าเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องเล็กๆ ก็ตาม หนึ่งในนั้นก็คือ การได้เห็นครอบครัวแข็งแรงและมีความสุขทั้งด้านร่างกายและจิตใจ  เหมือนอย่างที่ “โครงการเนสท์เล่เพื่อเด็กสุขภาพดี” ได้เห็นถึงความสำคัญของครอบครัวเป็นที่ 1 เสมอมา จึงได้จัดกิจกรรมเวิร์คช็อปสุดสร้างสรรค์พร้อมปลุกแรงบันดาลใจดีๆ กับ กิจกรรม “1 วันสร้างสุขให้ลูกเปลี่ยน” ซึ่งจัดเป็นปีที่ 3  เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่เห็นถึงความสำคัญของการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีภายในครอบครัว ร่วมเรียนรู้เทคนิคดีๆ ในการเลี้ยงลูกให้คิดบวก เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเด็กไปในทางบวกอย่างยั่งยืนนั่นเองค่ะ

ซึ่งในงานมีกิจกรรมต่างๆ มากมาย แต่ที่สำคัญ คือ การให้ความรู้และเคล็ดลับดีๆ ในการเลี้ยงลูกให้เติบโตขึ้นมาเป็นเด็กสุขภาพจิตดี และมีพฤติกรรมเชิงบวก โดยมีคุณหมอโอ๋ พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น รพ.รามาธิบดี และอ.สิงห์ รณสิงห์ รือเรือง นักจิตวิทยาคลินิก ระดับชำนาญการพิเศษ สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จังหวัดเชียงใหม่ มาร่วมพูดคุยในงานครั้งนี้ด้วยนั่นเองค่ะ เราไปดูไฮไลท์สรุปข้อคิด และกิจกรรมต่างๆ กันเลยดีกว่าค่ะ ว่าจะมีอะไรที่น่าสนใจบ้าง

1. “ ตอนแรกเด็กเกิดมาเป็นเจ้าชายเจ้าหญิง จนกระทั่งเราเปลี่ยนเขาไปเป็นกบ ” เหมือนกับการถูกสาป เพราะถูกกำหนดชีวิตมากเกินไป   

เริ่มกันที่การพูดคุยและทำกิจกรรมไปกับ คุณหมอโอ๋ จิราภรณ์ ซึ่งพูดให้ข้อคิดกับคุณพ่อคุณแม่ที่มาปรึกษาปัญหาในการเลี้ยงลูกว่า “ ตอนแรกเด็กเกิดมาเป็น เจ้าชายเจ้าหญิง จนกระทั่งเราเปลี่ยนเขาไปเป็นกบ ” ประโยคบอกเล่าที่เหมือนนิทาน แต่มีความหมายลึกซึ้งมากกว่านั้น 

หากแปลความแล้วจะหมายถึง ช่วงเริ่มต้นของชีวิตลูกนั้น เป็นเหมือนชีวิตที่บริสุทธิ์ ขาวสะอาด เป็นเจ้าหญิงเจ้าชายตัวน้อยที่มีอิสระในชีวิต แต่เมื่อเวลาผ่านไปเขากลับต้องถูกสาปให้กลายเป็นกบ ด้วยกฎเกณฑ์ คำสั่ง และข้อบังคับต่างๆ ที่มีอยู่ในชีวิตจริง รวมถึงโดนกำหนดแนวทางของชีวิตโดยคุณพ่อคุณแม่ ผู้ที่รักและปรารถนาดีต่อเขาอย่างสุดหัวใจ ที่ต้องให้ลูกอยู่ในสายตาของตัวเองตลอด จะทำอะไรก็ต้องขออนุญาตก่อน หรือบางทีเราก็ไปห้ามไม่ให้เขาทำในสิ่งที่เขาชอบด้วยก็มี

ดังนั้น การถูกสาป จึงเหมือนกับกรงขังที่ให้ลูกอยู่ในร่างกบ หากไม่มีใครมาแก้คำสาปได้ เจ้าหญิงหรือเจ้าชายตัวน้อยคนนั้นก็จะอยู่ในร่างของกบตลอดไป หากคุณพ่อคุณแม่ไม่อยากให้ลูกของตัวเองต้องเป็นกบที่ถูกสาป ก็ต้องรู้จักการผ่อนหนักผ่อนเบาบ้าง อย่าตึงเครียดกับลูกมากเกินไป ข้อสำคัญคือ อย่ายึดชีวิตลูกมาเป็นชีวิตของตัวเองค่ะ

 

2. พ่อแม่ต้องช่วยพัฒนาลูก ไม่ใช่ลงโทษเมื่อลูกทำผิด

คุณพ่อคุณแม่ต้องทำความเข้าใจให้ได้ก่อนว่า สมองของลูกกับสมองของเรานั้นมีความแตกต่าง และถูกพัฒนาในระดับที่แตกต่างกัน โดยสมองส่วนหน้า มีหน้าที่คอยดูแลและควบคุมในเรื่องของอารมณ์และความรู้สึก ซึ่งสมองส่วนนี้กว่าจะพัฒนาเต็มที่ก็คือตอนอายุ 25 ปี แล้วนั่นเอง จึงไม่แปลกหากลูกจะคิดหรือทำสิ่งใดที่แตกต่างไปจากเรา โดยเฉพาะการตอบสนองเราด้วยอารมณ์และความรู้สึกมากกว่าการใช้เหตุผล

เมื่อลูกทำผิดเราจึงไม่ควรลงโทษ หรือพูดจาแรงๆ ใส่ ไม่ว่าคุณพ่อคุณแม่จะรู้สึกโกรธ หรือโมโหมากแค่ไหนก็ตาม หากเราทำความเข้าใจกับระบบการพัฒนาทางสมองของเด็กได้ เราก็จะเข้าใจลูกมากขึ้นว่าทำไมจึงไม่ควรใช้อารมณ์คุยกับลูก แต่ควรเป็นการพูดคุยเพื่อช่วยพัฒนาลูกมากกว่านั่นเองค่ะ

โดยสิ่งที่ลูกควรมีและควรเป็น ก็คือ ต้องนับถือตนเอง คิดเป็น ดื้อเป็น รู้จักลงมือทำ และตัดสินใจด้วยตนเองได้ พ่อแม่จึงต้องรู้จักสอนลูกด้วยเหตุผล และสอนตอนที่ลูกพร้อมจะฟังหรือสงบลงแล้วจากอารมณ์ต่างๆ เขาจะได้ค่อยๆ คิดตามในสิ่งที่เราสอนได้อย่างเปิดใจมากขึ้นค่ะ 

 

3. เด็กต้องการคนที่ฟังเขาเพื่อเข้าใจ ไม่ใช่คนที่ฟังเพื่อสั่งสอน 

สิ่งสำคัญของการเลี้ยงลูกให้มีความคิดบวก นั่นคือ “การฟังสิ่งที่ลูกพูด” ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ในปัจจุบันคิดว่าตัวเองนั้นฟังลูกเสมอ แต่ในความจริงแล้วคุณพ่อคุณแม่ฟังเพียงในระดับผิวเผินเท่านั้น เมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกเลิกคุยกับพ่อแม่ นั่นเเสดงว่าลูกมีความรู้สึกว่าพ่อแม่กำลังจะสอนเขาอยู่ โดยที่ไม่ได้เปิดใจตั้งใจฟังเขาจริงๆ เพราะเด็กต้องการคนที่ฟังเขาเพื่อเข้าใจไปถึงความรู้สึกลึกๆ ที่เขาต้องการจะสื่อ ไม่ใช่คนที่ฟังเพื่อสั่งสอนในแบบที่พ่อแม่เห็นว่าถูกต้องและเหมาะสมอย่างเดียว 

ซึ่งการฟังนั้นมีอยู่ 4 ระดับ ตามทฤษฎีตัว U นั่นคือ

ซึ่งระดับที่คุณหมอโอ๋อยากให้คุณพ่อคุณแม่ฟังถึง นั่นคือการฟังระดับที่ 3 ฟังเพื่อให้รู้ถึงความรู้สึกของลูก ไม่ใช่เพียงแค่การฟังเรื่องที่ลูกเล่าผ่านๆ แล้วบอกว่า “ไม่เป็นไร” แต่จริงๆ แล้วลูกไม่ได้ไม่เป็นไร ในบางทีลูกอยากขอความช่วยเหลือ อยากมีคนให้คำปรึกษา หรือแค่ต้องการที่ระบายความในใจ แต่ถ้าลูกรู้ว่าคุณพ่อคุณแม่ไม่ฟังเขา หรือฟังเพียงผ่านๆ เขาก็จะไม่อยากเล่าเรื่องอื่นๆ ให้เราฟังต่อไป และความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูกก็จะค่อยๆ ห่างเหินกันไปเรื่อยๆ ค่ะ

ดังนั้น เราจึงต้องตั้งคำถามชวนลูกพูดคุยเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง ต่อยอดให้ลูกได้ใช้ความคิด โดยการทำอย่างไรก็ได้ให้ลูกรู้สึกว่าคุยกับพ่อแม่แล้วสนุก สบายใจ จนอยากคุยต่อ เมื่อโตขึ้นเขาก็จะไม่มีเรื่องปิดบังเรานั่นเองค่ะ 

 

4. I Message ส่งสารบอกความรู้สึกจริงๆ ของพ่อแม่ออกไปให้ลูกได้รับรู้ด้วยความรัก

หลักการ I message คือการสื่อสารเพื่อให้รู้ถึงความต้องการและความรู้สึก จะเป็นการพูดถึงสิ่งที่กระทำมากกว่าการตำหนิที่ตัวบุคคลโดยตรง ไม่ว่าเราจะสื่อสารกับใคร การส่ง I message นั้นจะช่วยสร้างความสัมพันธ์กับคนรอบๆ ตัวที่ได้รับสารจากเรา ให้รู้สึกเปิดใจรับฟังและคิดได้ โดยที่ไม่ต้องใช้วิธีอะไรให้ยุ่งยาก เพราะความรู้สึกจริงๆ จากภายใน ถือเป็นการสื่อสารที่ทรงพลัง ไม่เพียงใช้แต่กับลูกเท่านั้นนะคะ แต่เรายังสามารถใช้  I message ได้กับทุกคนรอบตัวเรา เช่น

“พูดจาแบบนี้ได้ไง ฉันเป็นพ่อแกนะ” นี่ไม่ใช่ประโยค I Message แต่เป็น U Message แต่ถ้าเราจะเปลี่ยนเป็นประโยค I Message ก็สามารถทำได้ง่ายๆ เพียงแค่ส่งสารบอกความรู้สึกจริงๆ ของพ่อแม่ออกไปให้ลูกได้รับรู้ด้วยความรัก ด้วยประโยค “พ่อรู้สึกโกรธที่ได้ยินลูกพูดแบบนี้” นั่นเองค่ะ เพียงแค่เปลี่ยนวิธีการพูด และการเรียงประโยคเสียใหม่ ก็ทำให้เราสื่อสารออกมาได้ด้วยความหมายเดิม แต่กลับช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้ดีขึ้นได้ค่ะ

 

5. ทดสอบว่าลูกเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่? กับคำถามการกินก๋วยเตี๋ยว ว่าจะกินลูกชิ้นหรือกินเส้นก่อน

ภายในกิจกรรม “1 วันสร้างสุขให้ลูกเปลี่ยน ปี 3” ครั้งนี้ ยังมีเทคนิคการเลี้ยงลูกให้แฮปปี้ เป็นเด็กสุขภาพดี มีความสุข โดยคุณรณสิงห์ รือเรือง นักจิตวิทยาคลินิก ระดับชำนาญการพิเศษ สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จังหวัดเชียงใหม่  ซึ่งได้บอกเคล็ดลับในการพิสูจน์สภาวะความสุขของเด็กๆ และสามารถวัดความเป็นโรคซึมเศร้าของลูกได้ โดยใช้คำถามทางจิตวิทยา นั่นคือ 

“ถ้าลูกจะกินก๋วยเตี๋ยว ลูกจะกินลูกชิ้น หรือกินเส้นก่อน”

หากลูกตอบว่ากินลูกชิ้นก่อน นั่นถือว่าลูกมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้าได้ค่ะ เพราะลูกชิ้นเปรียบเสมือนความสุข คนเราจะชอบกินเส้นให้หมดก่อนแล้วจึงกินลูกชิ้น ซึ่งเป็นของอร่อยที่สุดไว้อย่างท้าย เป็นการเปรียบเทียบง่ายๆ ว่าเราต้องทุกข์ก่อนแล้วจึงค่อยสุข โดยใช้การรอคอย และความอดทนเป็นตัวแปรหลัก แต่ถ้าเมื่อไหร่เราเลือกที่กินลูกชิ้นก่อน พอถึงตอนกินเส้นแล้วเราก็จะรู้สึกอิ่มเกินกว่าจะกินเส้นได้หมด เพราะเส้นนั้นอืดหมดแล้ว คล้ายคนที่ชอบให้ความสุขมาก่อน แล้วค่อยเป็นทุกข์ทีหลัง ดังนั้น เมื่อเด็กถูกขัดใจโดยถูกบังคับให้ทำในสิ่งที่ไม่ชอบก่อน เขาจะรู้สึกเป็นทุกข์ทันที

เราจึงต้องสอนลูกให้รู้จักที่จะทุกข์ก่อนแล้วจึงสุขทีหลัง ฝึกให้ลูกอดทน ไม่งั้นเขาก็จะไม่รู้เลยว่า ความสุขที่ได้มานั้นมีค่ามากขนาดไหน 

 

6. เด็กก้าวร้าว มักรู้สึกถึงการถูกจับผิด จึงทำให้เด็กเกิดความรู้สึกเครียดและไม่ไว้ใจใคร

“การที่ลูกกลายเป็นเด็กก้าวร้าว ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ”

ต้องมาดูกันว่า ที่เด็กใช้อารมณ์เป็นใหญ่ และไร้เหตุผลนั้นเกิดจากสาเหตุใด เพราะถ้าเราไม่สามารถหาสาเหตุนั้นได้ เราก็จะไม่มีทางรู้เลยว่าลูกต้องการให้เราทำอะไร หรือเราอาจจะเผลอไปทำอะไรที่ลูกไม่ชอบรึเปล่า จนลูกกลายเป็นเด็กก้าวร้าวเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อลูกรู้ตัวว่าตัวเองทำไม่ดีจนถูกคนอื่นมองว่าก้าวร้าว ก็มักจะรู้สึกถึงการถูกจับผิดจากสายตาของคนอื่นๆ ที่มักจะคอยมองเขาแบบเจาะจงมากกว่าใครๆ อาจทำให้เด็กเกิดความรู้สึกเครียด และไม่ไว้ใจใคร แม้จะเป็นคุณพ่อหรือคุณแม่นั่นเองค่ะ

 

7. ทุกครั้งที่พ่อแม่โกรธหรือรู้สึกอารมณ์ขึ้น เรามักจะให้อารมณ์เข้าครอบงำ และตอนนั้นความคิดก็จะปิดลงแบบอัตโนมัติ

สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้เกี่ยวกับความคิดของเด็ก จะถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน นั่นคือ คิดเป็นเหตุเป็นผล, อารมณ์และความรู้สึก, การเอาตัวรอด ซึ่งส่วนใหญ่เด็กมักจะใช้อารมณ์เป็นใหญ่เสมอ 

ทุกครั้งที่คุณพ่อคุณแม่โกรธ หรือรู้สึกอารมณ์ขึ้น เรามักจะให้อารมณ์เข้าครอบงำ และตอนนั้นระบบความคิดของเราก็จะปิดลงแบบอัตโนมัติ เวลาใช้อารมณ์เราจะไม่คิดอะไรเลย เด็กๆ เองก็เช่นกัน 

ถ้าอยากให้ลูกเปลี่ยนพฤติกรรม คุณพ่อคุณแม่ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมก่อนค่ะ เพราะแม้สิ่งรอบตัวของเขาจะเปลี่ยนไปขนาดไหน แต่หากพ่อแม่ยังมีพฤติกรรมเดิมๆ อยู่ ลูกก็จะไม่มีวันเปลี่ยนให้ดีขึ้นได้แน่นอน เพราะ role model ที่มีอิทธิพลในสายตาลูกมากที่สุดอยู่เสมอ ก็คือ พ่อแม่ของเขา นั่นเองค่ะ 

 

8. สนุกกับสถานการณ์จำลอง “เล่นใหญ่” ได้ใจเด็ก

ไฮไลท์ที่ภูมิใจและอยากนำเสนอ ไม่แพ้สาระความรู้ด้านบน ก็คือ กิจกรรม “เล่นใหญ่” ได้ใจเด็ก ซึ่งเป็นการจำลองแก้ไขสถานการณ์ในบ้านผ่านละคร โดยการให้คุณพ่อคุณแม่ได้ขึ้นมามีส่วนร่วมในกิจกรรมครั้งนี้ ทำให้เราได้เห็นถึงความสำคัญของสถาบันครอบครัวในแง่มุมที่ต่างออกไปเลยค่ะ เพราะครอบครัวแต่ละครอบครัวก็มีวิธีการเลี้ยงลูกและสอนลูกที่แตกต่างกันนั่นเองค่ะ

เช่น สถานการณ์ลูกไม่ยอมกินผัก ซึ่งเป็นปัญหาในทุกครอบครัว โดยเฉพาะในยุคสมัยนี้ : ถ้าลูกไม่ยอมกินผักที่เราเตรียมไว้ให้ แล้วบอกว่าไม่ชอบ เพราะมันมีกลิ่นเหม็น พอลองก็อ้วกออก แต่สุดท้ายลูกก็กินผักได้ พ่อแม่จะมีวิธีการพูดกับลูกตอนไม่กินผักอย่างไรให้ลูกเปลี่ยนใจ? รวมทั้งมีวิธีการชมลูกเมื่อกินผักสำเร็จได้อย่างไร? นั่นเองค่ะ 

 

9. เสริมสร้างจินตนาการลูกผ่าน Food Art

กิจกรรมสุดท้ายที่เด็กๆ ชื่นชอบกันเป็นพิเศษ นั่นก็คือ กิจกรรม เสริมสร้างจินตนาการลูกผ่าน Food Art ที่ทางเนสท์เล่ได้เตรียมทั้งผัก และผลไม้แบบจัดเต็ม ให้คุณพ่อคุณแม่ และลูกๆ รวมใจกันเป็นหนึ่งเดียว สร้างสรรค์ผลงานศิลปะกินได้ด้วยวัตถุดิบง่ายๆ ที่อยู่รอบตัว ทั้งสนุกสนานและมีประโยชน์ เพราะลูกจะได้ฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็ก และทักษะความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงยังได้กระชับความสัมพันธ์กันในครอบครัวอีกด้วย 

รู้แบบนี้แล้ว รีบกดติดตามเพจ N4HKThailand ไว้เลยค่ะ จะได้ไม่พลาดเคล็ดลับการเลี้ยงลูกเชิงบวกและกิจกรรมดีๆ จากโครงการเนสท์เล่เพื่อเด็กสุขภาพดี 

เป็นอย่างไรบ้างคะ สำหรับ 9 ไฮไลท์ เลี้ยงลูกให้ Happy มีสุขภาพดีทั้งกายและใจ ในกิจกรรม “1 วันสร้างสุขให้ลูกเปลี่ยน ปี 3” ซึ่งจัดโดยโครงการเนสท์เล่เพื่อเด็กสุขภาพดี ที่ทีมงาน ParentsOne ของเรานำมาฝากกันแบบจุใจ สำหรับใครที่พลาดงานนี้ไม่ต้องเสียใจไป เพราะเนสท์เล่เขาเตรียมจัดกิจกรรมสนุกๆ แบบนี้ขึ้นตลอดปี พร้อมกับให้ความสำคัญกับโภชนาการและสุขภาพที่แข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจของเด็ก รวมทั้งกิจกรรมสร้างเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัวให้เด็กๆ มีส่วนร่วมกับพ่อแม่อยู่เสมอค่ะ 

ติดตามข่าวสาร กิจกรรมสนุกๆ และเทคนิคการเลี้ยงลูกเชิงบวกกันได้ที่เฟซบุ๊กเพจ : N4HKThailand