Parents One

9 ข้อคิดสอนเด็กเตรียมรับมือกับความสูญเสียจากหนังสือการ์ตูน “คุณปู่ หลังความตายเป็นอย่างไรกันนะ?”

เพราะความตาย…เป็นเรื่องธรรมดาของชีวิตมนุษย์

การสูญเสียคนที่รัก ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน พี่น้อง พ่อแม่ คนรัก หรือครอบครัว ไม่เว้นแม้กระทั่งสัตว์เลี้ยง ต่างก็ส่งผลกระทบต่อจิตใจอย่างแรงกล้าด้วยกันทั้งนั้น ยิ่งเป็นคนใกล้ตัวยิ่งเสียใจมาก ไม่มีใครที่จะมีชีวิตอมตะ หรือหลีกเลี่ยงความตายได้ การสูญเสียจึงเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ว่าจะมาเมื่อไหร่? ตอนไหน? เพราะฉะนั้น เราจึงต้องทำในสิ่งที่เราอยากทำให้ได้เร็วที่สุดในตอนที่ยังมีชีวิตอยู่นั่นเอง

แต่สิ่งที่สำคัญและยากกว่าการจากลาแบบไม่มีวันหวนกลับมาอีกครั้ง น่าจะเป็นการปลอบประโลมจิตใจคนที่ยังมีชีวิตอยู่มากกว่า โดยเฉพาะการอธิบายให้ลูกที่ยังเป็นเด็กเข้าใจถึงความตายและการสูญเสีย ซึ่งเป็นเรื่องที่อ่อนไหว และยากพอๆ กับการบังคับให้ลูกทานผัก

วันนี้ Parents One จึงได้ขอหยิบยกข้อคิดจากหนังสือการ์ตูน เรื่อง “คุณปู่ หลังความตายเป็นอย่างไรกันนะ?” จากผู้เขียนคุณ Pimm van Hest ที่สอดแทรกวิธีการสอนเด็กให้เตรียมรับมือกับความสูญเสียแบบไม่ใจสลายมาฝากกันค่ะ (ได้คำนำเสนอ โดย นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ด้วยนะ)

1. ความตาย…ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอย่างที่คิด

แต่มันกลับราบเรียบ นิ่งสงบ และเชื่องช้าจนน่าใจหาย ไม่ผิดที่บางคนจะกลัวความตาย เพราะเราทุกคนช่างมีความคิดที่แตกต่างกันเสมอ

จงพูดความจริงกับลูก แม้ว่ามันจะเจ็บปวดสักแค่ไหน แล้วอธิบายให้ลูกเข้าใจง่ายๆ ว่าความตาย คืออะไร? ด้วยท่าทีที่นิ่งสงบ ผ่อนคลาย และดูปกติ เช่น

“เมื่อตอนคุณปู่เสีย ร่างกายของคุณปู่ก็ไม่ทำงานอีกต่อไปแล้วนะลูก” หรืออาจจะเป็น “คุณปู่หมดเวลาจากโลกนี้แล้วนะลูก ท่านจะไม่ได้อยู่กับเราแล้ว”

เมื่อลูกเห็นเราสงบ นิ่ง มั่นคง ก็จะซึมซับและตอบสนองความสงบจากคุณพ่อคุณแม่มาได้เช่นกัน และเมื่อถึงเวลาที่พวกเขาเติบโตขึ้น แล้วเกิดเหตุการณ์ความสูญเสียครั้งใหญ่ พวกเขาจะยังคงประคองสติ นิ่งสงบ และสามารถใช้ชีวิตให้ดีต่อไปได้เรื่อยๆ นั่นเอง

 

2. การคุยเรื่องความตายกับลูก เพื่อให้เข้าใจเป็นเรื่องที่ดีมากกว่าการปิดบัง หรือเลี่ยงการพูดคุย

เมื่อมีการเสียชีวิตเกิดขึ้น และลูกจำเป็นต้องรับรู้ สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำ คือ การค่อยๆ เข้าหาลูก และพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องความตายอย่างเปิดเผย ไม่ปิดบัง เพื่อให้เด็กรู้สึกว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่สุดที่ทุกคนจะต้องพบเจอ และไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้ นั่นก็เพราะลูกมีสิทธิ์ที่จะรู้ และทำใจได้ง่ายกว่าการโดนปิดบังเรื่องความเป็นความตาย

ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้โดยการเปิดกว้างทางความคิด หยิบยกสถานการณ์ความสูญเสียต่างๆ ซึ่งอาจจะไล่จากความเสียใจเล็กๆ ไปจนถึงความเสียใจมากตามลำดับ เช่น

พูดคุยถึงเรื่องตุ๊กตาหายหรืออวัยวะชำรุดหลุด, สัตว์เลี้ยงตัวโปรดตาย ไปจนถึงเรื่องเพื่อนหรือญาติที่ใกล้ตัวเสียชีวิต

เมื่อเด็กๆ เริ่มเกิดการรับรู้ด้วยท่าทีที่ผ่อนคลาย ไม่ตื่นตกใจ เมื่อนั้นก็แสดงว่า การพูดคุยเรื่องความสูญเสียที่ร้ายแรงขึ้นก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

 

3. ไม่มีสิ่งมีชีวิตตนใดที่สามารถปฏิเสธความตายได้

“เพราะความตายและการสูญเสียเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต สุดท้ายแล้ว สิ่งมีชีวิตทุกชนิดล้วนต้องตายเหมือนกันทั้งนั้น โดยขึ้นอยู่กับตัวแปรสำคัญอย่างกาลเวลานั่นเอง”

หนังสือนิทานเล่มนี้ได้สรุปประเด็นหลักสำคัญๆ ของ “ความตาย” มาเพื่อให้คุณพ่อคุณแม่สามารถอ่านให้เด็กๆ ที่เริ่มโตแล้วเข้าใจได้ง่ายขึ้น และมองความตายให้เป็นเรื่องปกติที่สุด ซึ่งเด็กๆ จะได้รู้จักวิธีรับมือเรื่องความสูญเสียให้คุ้นชินเป็นนิสัย ซึ่งถือว่าเป็นตัวช่วยบรรเทาอาการไม่ให้เจ็บปวด และทรมานมากเกินไป

 

4. อย่ารอให้ใกล้ถึงเวลาตาย! แล้วจึงค่อยทำเรื่องสนุกๆ

เพราะเราไม่รู้ว่าเวลานั้นของเราทุกคนจะมาถึงเมื่อไหร่? แล้วทำไมถึงต้องรอให้ถึงเวลาใกล้ตายก่อน ถึงค่อยทำเรื่องสนุกๆ ด้วยล่ะ

ในตอนที่ยังมีแรงกาย และแรงใจจึงควรทำในสิ่งที่อยากทำ พูดในสิ่งที่อยากพูด แสดงความรู้สึกออกมาให้หมด ไปเที่ยวในที่อยากไป ไม่ต้องรอให้โตเป็นผู้ใหญ่ หรือมีเงินเยอะๆ เพียงแค่เราอยากทำอะไรก็ทำได้เลย

อย่าผัดวันประกันพรุ่ง เพราะชีวิตมันสั้น การใช้ชีวิตให้มีคุณภาพที่ดีจึงกลายเป็นเรื่องสำคัญ

 

5. ถึงแม้ว่าจะอายุน้อย ก็ตายก่อนได้เหมือนกัน

เพราะเรื่องความตายไม่เข้าใครออกใคร ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว และไม่มีสัญญาณใดๆ ที่จะมาบอกได้เลยว่าระหว่างพ่อแม่หรือลูกใครจะไปก่อนกัน

เพราะฉะนั้น การเตรียมตัวรับความผิดหวัง และความสูญเสียจึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน การทำทุกวันให้มีความสุข และรักอย่างเต็มที่ในครอบครัว พูดจาดีต่อกัน งดการทะเลาะ อย่าวางมาดใส่กัน แค่นี้ก็เพียงพอแล้วค่ะ

 

6. ไม่มีใครรู้ว่า…เมื่อตายแล้วไปไหนต่อ?

เมื่อความตายมาเยือน เด็กๆ มักจะถามคำถามที่คุณพ่อคุณแม่ไม่สามารถให้คำตอบได้ เหมือนที่คริสโตเฟอร์ เจ้าเด็กน้อยได้ถามกับคุณปู่ของเขาว่า “ปู่คิดว่าถ้าตายแล้วจะไปไหนครับ” “ปู่คิดว่าจะไปที่ที่ฝนตกเป็นช็อกโกแลตน่ะ”

ที่คุณปู่ตอบหลานไปแบบนั้น ก็เพราะว่า เด็กทุกคนจะได้เรียนรู้เรื่องความตายก่อนอายุ 12 ขวบแน่ๆ นั่นแปลว่าความคิดเชิงนามธรรมของพวกเขายังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ดังนั้น เวลาพูดคุยกับเด็กๆ เรื่องความตาย จึงควรพูดถึงสิ่งที่เป็นรูปธรรมให้ชัดๆ ไปเลย มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และจับต้องได้ หรือใช้วิธีเปรียบเปรย ซึ่งเป็นวิธีที่คุณปู่คุยกับหลานตลอดทั้งเล่มนั่นเอง

อีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน ก็คือ คุณพ่อคุณแม่ไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่องที่ลูกถามก็ได้ เพราะบางครั้งเราก็ไม่รู้จริงๆ ว่าคำตอบคืออะไร แต่เราสามารถย้อนถามลูกได้ว่าพวกเขาคิดอย่างไร? และสามารถช่วยกันหาคำตอบที่เหมาะสมที่ทำให้ทั้งคุณและลูกรู้สึกสบายใจได้ เหมือน “ฝนตกเป็นช็อกโกแลต” นั่นเองค่ะ

 

7. ความตายของแต่ละคนไม่เหมือนกัน

“หลานเอ๊ย ปู่เข้าใจนะ สิ่งที่พิเศษเกี่ยวกับความตายอาจจะเป็นการที่ไม่เคยมีใครรู้จริงๆ ว่ามันเป็นยังไง ก็เลยทำให้แต่ละคนมีแนวคิดเกี่ยวกับความตายแตกต่างกันไงล่ะ”

การตีความถึงนิยามของความหมายเรื่องความตายของคุณปู่อาจจะไม่เหมือนกับความคิดของหลาน แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะไม่เคยมีใครรู้ว่ามันคืออะไร จนกว่าจะได้เจอด้วยตัวเอง และแน่นอนว่าทุกคนย่อมมีสิทธิ์ในความคิดที่แตกต่างกันแน่นอน

 

8. หลังจากที่เราตาย อาจไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลยก็ได้

ถึงแม้ว่าคุณอาจจะยังคงคิดถึงเรื่องราวต่างๆ ที่อยู่บนโลก แต่ว่าเมื่อความตายมาถึง ทุกอย่างอาจจะยังเหมือนเดิมและไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปเลยก็ได้เช่นกัน

เพราะฉะนั้น ความตายจึงไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว แต่เป็นเพียงความนิ่ง เงียบ สงบ และกลายเป็นสิ่งที่สวยงามในหัวใจ ซึ่งบุคคลนั้นจะไม่มีวันเลือนรางหรือหายไปจากความทรงจำของพวกเราอย่างแน่นอน

 

9. จงยอมรับความสูญเสีย และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นให้ได้

อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด ไม่มีใครที่สามารถบังคับ หรือทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปได้ดั่งใจ แต่อยากให้ถือว่าทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกนี้คือบทเรียนชั้นดี เพราะมันช่วยสอนให้เราไม่ประมาท และเห็นคุณค่าของการมีชีวิต

เพราะฉะนั้น ความตายไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว แต่กลับเป็นสิ่งที่สวยงาม จงยอมรับกับความสูญเสีย และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นให้ได้เท่านี้ก็เพียงพอแล้วกับการเยียวยาจิตใจที่เกิดจากการสูญเสียคนสำคัญในชีวิต

การพูดเรื่องความตายเป็นเรื่องยาก เพราะผู้ใหญ่อย่างเราอาจจะคิดว่าเราควรปกป้องเด็กๆ จากความเศร้าโศกครั้งใหญ่อย่างความตาย แต่สุดท้าย ถ้าหากคุณพ่อคุณแม่กล้าที่จะเปิดใจพูดคุยถึงประเด็นนี้ ก็จะค้นพบได้ว่าเด็กๆ เขาเก่งเรื่องการปรับตัว ถ้าพวกเขาได้รับการให้ข้อมูลที่ดีมาก่อน แน่นอนว่าจะต้องเยียวยาจิตใจของตัวเองได้เร็วแน่นอนค่ะ

และที่สำคัญ คือ เรื่องความตายเป็นเรื่องที่อ่อนไหวมากในชีวิตของเด็กคนหนึ่ง เรื่องที่ควรระวัง! จึงมีเพียงการไม่ให้เด็กเห็นภาพที่น่ากลัวมากเกินไปหรือภาพเลือดก็ไม่ควรเช่นกัน เพราะอาจจะเกิดเป็นภาพจำฝังเข้าไปให้หัวได้ การปล่อยให้เขาไม่เห็นทั้งหมดแล้วหลงเหลือแต่เพียงบางส่วนให้เป็นจินตนาการบ้างเป็นเรื่องที่ดี

ดังนั้น ผู้ปกครองจึงต้องสร้างความเชื่อใจและมั่นใจของสายสัมพันธ์ จากนั้นจึงค่อยๆ อธิบายให้ลูกฟังทีละอย่างเหมือนข้างต้นที่กล่าวมานั่นเองค่ะ