Parents One

มาเช็กกัน! คุณกำลังทำ “พฤติกรรมซ้ำเติมลูก” แบบไม่รู้ตัวอยู่รึเปล่า?

“นิสัยไม่ดี ทำแบบนี้แม่ไม่รักแล้ว”

“บอกแล้วว่าอย่าทำ ไม่เชื่อ เป็นไงเดือดร้อนคนอื่นอีกจนได้”

“นิสัยแบบนี้ไปได้จากใครมา ดื้อรั้นจริงๆ!”

เคยไหมคะที่เวลาลูกเผลอทำผิดพลาดขึ้นมา คุณพ่อคุณแม่ก็ดันเผลอหลุดประโยคแง่ลบเหล่านี้กับลูกเสียจนได้ หลายคนอาจพูดจนลูกชินชา แต่รู้หรือไม่! ว่าประโยคเหล่านี้แหละที่ทำให้ลูกโตไปเป็นเด็กเกเร ชอบแกล้งเพื่อนที่โรงเรียน หรืออาจจะโตไปเป็นเด็กที่เก็บกด ชอบโกหก และไม่มั่นใจในตัวเองเลยก็ได้นะ

นั่นก็เป็นเพราะว่าประโยคเหล่านี้ได้กลายเป็นมีดที่แหลมคม และได้บาดเข้ามาในใจของลูก โดยคนที่พวกเขารักมากนั่นเอง จากเรื่องที่เล็กๆ ดันกลับกลายเป็นเรื่องใหญ่ และอาจเสี่ยงทำให้ลูกเกิดพฤติกรรมที่ไม่ดีในอนาคตได้

หลายครอบครัวไม่ได้เพียงแค่ใช้ “คำพูด” เป็นอาวุธเท่านั้น แต่กลับใช้ “กำลัง” สื่อสารกับลูกด้วย เช่น การตี หรือลงไม้ลงมือ ใช้ไม้แขวนเสื้อ หรืออุปกรณ์ต่างๆ ทำร้ายลูก จนเกิดเป็นภาพจำฝังในใจของลูกจนโต อยากลืมเท่าไหร่มันก็ไม่ลืมเสียที

คำพูดของคุณพ่อคุณแม่ที่พูดกับลูก จึงกลายเป็นสิ่งสำคัญที่ควรผ่านการคิด ไตร่ตรองออกมาเเล้วนั่นเอง ประโยคด้านบนจึงกลายเป็น “พฤติกรรมซ้ำเติมลูก” ของคุณพ่อคุณแม่ที่แสดงออกมายามเมื่อมีอารมณ์โกรธ โมโห หรือไม่พอใจที่ลูกทำอะไรไม่ได้ดั่งใจนั่นเอง

ประโยค “ซ้ำเติมความผิดพลาดลูก” แบบไม่รู้ตัว

เคยเผลอพูดประโยคเหล่านี้กันไหมเอ่ย?

 

เรียนรู้ และเข้าใจ “ความผิดพลาดของลูก” อย่างมีเหตุผล

Parents One จึงอยากมาให้ความรู้ในสิ่งที่ถูกต้อง เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ได้เข้าใจในพฤติกรรมด้านลบนี้เพิ่มเติมยิ่งขึ้น จะได้ไม่ไปเผลอใส่อารมณ์กับลูกอีกนะคะ

พฤติกรรมที่กล่าวมาข้างต้น นั้นมีชื่อเรียกว่า “พฤติกรรมการตอกย้ำความผิดพลาดของลูก”  ซึ่งส่วนใหญ่จะออกมาจากคำพูดมากกว่าการกระทำ และเราอยากให้คุณพ่อคุณแม่ทำความเข้าใจใหม่ ดังนี้

  • การที่เด็กคนหนึ่งทำผิดพลาด นั่นเป็นเพราะว่าเขาไม่ได้ตั้งใจที่จะอยากทำให้ผิดพลาด แต่เป็นเพราะไม่รู้ว่าสิ่งที่ถูกต้องนั้น เขาทำกันอย่างไร?
  • ถ้าหากเขารู้ว่าพ่อกับแม่ต้องดุแน่ๆ กับสิ่งที่เขาทำ จิตใจจะค่อยๆ หลอกร่างกายและสมองว่า “ฉันไม่ได้ทำ” เพื่อเป็นกลไกในการป้องกันความรู้สึกผิด และกลัวการโดนดุของตัวเอง จนอาจเกิดเป็นนิสัยชอบโกหก เลี่ยงการพูดความจริง เพื่อหนีความผิดที่ตัวเองทำ
  • นอกจากจะชอบโกหก และไม่กล้ารับความผิดแล้ว ยังชอบโยนความผิดให้คนอื่นด้วย
  • การใช้คำพูดที่รุนแรง และซ้ำเติมลูกซ้ำๆ เพื่อหวังให้เขารู้สึกสำนึกผิด คือความคิดที่ผิดหมันต์ เพราะจะยิ่งทำให้ลูกกลายเป็นเด็กเก็บกด รู้สึกฝังใจ กลัวความผิดพลาดจนกลายเป็นคนขี้ระแวง และที่สำคัญ คือ ลูกจะเกิดความรู้สึกเจ็บใจ โกรธ และไม่สำนึกมากกว่าเดิม
  • วิธีการดุ หรือว่ากล่าวลูกซ้ำๆ จึงไม่ใช่วิธีที่จะทำให้เด็กจดจำ และเรียนรู้ความผิดพลาดที่แท้จริง

 

สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำ เมื่อลูกเผลอทำผิดพลาด

1. ค่อยๆ พูดคุยกันด้วยเหตุผลที่ไม่ใส่อารมณ์ แม้ว่าข้างในใจจะร้อนแค่ไหน ให้ท่องไว้ว่า “ลูกไม่รู้ ลูกไม่ผิด”
2. ตักเตือนว่าสิ่งที่ลูกทำนั้นมันผิดอย่างไร? ใครได้รับผลกระทบบ้าง? แล้วสิ่งที่ถูกต้องเขาทำกันอย่างไร?
3. อย่าพูดประโยคแง่ลบ “ซ้ำเติมความรู้สึกของลูก” เด็ดขาด
4. ให้คำแนะนำที่ดี เช่น การไม่โทษลูกอยู่ฝ่ายเดียว แต่ให้บอกว่าเป็นความผิดร่วมกัน เช่น อาจจะบอกว่า “แม่ก็มีส่วนที่ผิด เพราะแม่บอกไม่ละเอียดเองว่าลูกต้องทำแบบไหน ไม่เป็นไรนะคะ เดี๋ยวเรามาลองทำกันใหม่วันหลังนะ”, “วันหลังลูกต้องระวังให้มากกว่านี้นะ จะได้ไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก”
5. หัดพูดคำว่า “ไม่เป็นไรนะลูก” ให้คุ้นชิน แล้วย้ำว่า พ่อกับแม่จะอยู่กับลูกเอง
6. มองโลกในแง่บวกว่าลูกไม่ได้ตั้งใจทำ
7. เมื่ออยากให้ลูกรีบทำอะไรให้ เพียงแค่นับ 1-10 เช่น ไปอาบน้ำได้แล้วค่ะ หนึ่งงงงง สองงงงง
คุณพ่อคุณแม่อย่าอารมณ์เสียใส่หนูบ่อยๆ เลยนะคะ ถึงหนูจะเป็นเด็ก แต่ก็เครียดเป็นนะ หากคุณพ่อคุณแม่ท่านใด ที่เพิ่งรู้ตัวว่าเผลอทำพฤติกรรมที่ไม่ดีใส่ลูกแล้วล่ะก็ ยังปรับเปลี่ยนนิสัยทันนะคะ ก่อนที่ลูกจะเติบโตไปมีพฤติกรรมแบบผิดๆ นั่นเอง ลองนำคำแนะนำเหล่านี้ไปปรับใช้ดูนะคะ รับรองว่าเจ้าเด็กจะต้องกล้ายืดอกรับความผิดพลาดที่ตัวเองไม่ได้ตั้งใจทำแน่นอน