Parents One

แบบทดสอบ คุณกำลังเลี้ยงลูกแบบพ่อแม่รังแกฉันอยู่รึเปล่า ?

“พ่อแม่รังแกฉัน” เป็นคำที่ได้ยินกันมาอย่างช้านาน และแน่นอนว่าคงไม่มีพ่อแม่คนไหนที่อยากเลี้ยงลูกแบบนั้นใช่ไหมคะ? แต่บางครั้งมันอาจแฝงอยู่กับพฤติกรรมการเลี้ยงลูกของเราแบบไม่คาดคิด วันนี้เราเลยทำแบบสอบถามมาให้คุณพ่อคุณแม่ลองทำกันดู จะได้สำรวจตัวเองว่ามีวิธีการเลี้ยงลูกแบบไหนที่เราเผลอทำร้ายลูกโดยไม่รู้ตัวรึเปล่าค่ะ

คำชี้แจง : จงเติม ✔ หน้าข้อที่คุณกำลังเป็น

❒ 1. คุณตามใจลูกจนเกินไป

พ่อแม่ที่ยอมให้ลูกทุกอย่าง ไม่ว่าลูกจะขออะไรก็ให้ไม่เคยขัด แม้ว่าสิ่งนั้นจะไม่เหมาะ ไม่ควรก็ตาม อีกทั้งยังไม่มีการจำกัดขอบเขตหรือข้อจำกัดใดๆ ทั้งสิ้น การทำแบบนี้จะทำให้ลูกกลายเป็นคนมีนิสัยเอาแต่ใจตัวเอง อยากได้อะไรต้องได้ ใครขัดใจไม่ได้ จึงทำให้เป็นคนมีนิสัยก้าวร้าว เห็นแก่ตัว

❒ 2. คุณไม่ให้ลูกลองทำอะไรด้วยตนเองบ้าง

พ่อแม่ย่อมรักและหวังดีกับลูกอยู่เสมอ ไม่อยากให้ลูกลำบาก จึงมีพ่อแม่บางคนที่คอยดูแล ทำทุกสิ่งทุกอย่างให้ลูกอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นป้อนข้าว เตรียมเสื้อผ้า จัดกระเป๋าหนังสือ หรือแม้แต่นั่งทำการบ้านให้ลูก ลูกแทบจะไม่ต้องทำอะไร เพราะพ่อแม่คอยทำให้ทุกอย่าง การทำแบบนี้จะทำให้ลูกกลายเป็นเด็กที่ไม่รู้จักช่วยตัวเอง มีแนวโน้มจะเป็นเด็กติดสบาย ขาดความมุ่งมั่น ขาดความพยายามในเรื่องต่างๆ อาจจะไม่มีความมั่นใจว่าจะทำอะไรได้เอง เพราะแทบไม่เคยมีโอกาสได้ทดลองทำด้วยตัวเอง

❒ 3. คุณเข้มงวดกับลูกมากเกินไป

การที่ให้ลูกอยู่ในกฎระเบียบ เชื่อฟังคำสั่งก็เป็นสิ่งที่ดี แต่หากว่ามากเกินไปนั่นอาจส่งผลเสียมากกว่าที่คิด เพราะการเข้มงวดกับลูก ลูกต้องทำทุกอย่างที่พ่อแม่สั่งเป๊ะๆ ตารางชีวิตแน่นเอียด ไม่ได้ออกไปเล่นหรือทำกิจกรรมสร้างสรรค์อื่นๆ เลย อาจทำให้เด็กปรับตัวเข้ากับสังคมได้ยาก และมีแนวโน้มเป็นเด็กขี้โกหกและขี้โกง เพราะมีแรงกดดันมาบีบบังคับให้เขาทำแบบนั้น ยิ่งเราบีบเขายิ่งหนี ย่อมไม่เกิดผลดีต่อทั้งสองฝ่าย

❒ 4. คุณจัดการแทนลูกทุกอย่าง

การที่จัดการแทนลูกทุกอย่าง วางแผนทุกอย่างให้ลูกไว้เรียบร้อย ลูกต้องทำแบบนั้น แบบนี้ ให้ลูกเดินตามเส้นทางที่มีกลีบกุหลาบโปรยไว้ ไม่ให้ลูกลองเจอกับความลำบากบ้าง เแล้ววันไหนที่ลูกจะโต? การทำแบบนี้เขาจะทำอะไรเองไม่เป็น คิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างได้มาแบบง่ายๆ ขาดความอดทนเมื่อเจอความยากลำบากในอนาคต

❒ 5. คุณตรวจสอบลูกตลอดเวลา

พฤติกรรมการสำรวจตรวจตราทุกสิ่งอย่างที่เข้ามาในชีวิตของลูก ไม่ว่าลูกไปไหน ทำอะไร พ่อแม่จะคอยโทรเช็กทุกๆ ชั่วโมง ดูเหมือนว่าไม่มีความเชื่อใจลูกเลยแม้แต่นิดเดียว การทำแบบนั้นจะทำให้ลูกรู้สึกอึดอัด ไม่มีความมั่นใจ ไม่อยากพูดความจริงกับพ่อแม่

❒ 6. คุณคาดหวังกับลูกมากเกินไป

ความคาดหวังที่มากเกินไป อาจทำร้ายทั้งเราและลูก พ่อแม่บางคนมีพฤติกรรมที่เคี่ยวเข็ญให้ลูกทำสิ่งต่างๆ ตามที่คนเป็นพ่อแม่คาดหวัง เช่น ให้ลูกเร่งรัดฝึกหัดสาระเรียนรู้ที่เร็วหรือก้าวหน้ากว่าระดับอายุสมองหรือวัยที่เหมาะสม อยากให้ลูกเรียนรู้ไวๆ จะได้อยู่นำหน้าคนอื่น ทั้งๆ ที่อาจเป็นสิ่งไม่จำเป็น หรือคาดหวังให้ลูกต้องเรียนในสิ่งที่เราต้องการ เพราะเห็นว่าเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดของลูก แต่ได้โปรดอย่าลืมว่าลูกไม่ได้เป็นตัวแทน “ความฝัน” ของใครนะคะ

❒ 7. คุณปล่อยปละละเลย ไม่สนใจลูก

มีพ่อแม่มากมายที่มุ่งแต่การทำงาน หรือเรื่องส่วนตัวของตนเองโดยไม่มีเวลามาสนใจลูกและลืมไปว่ามีคนตัวเล็กๆ คนนี้รอให้พวกเขาสนใจและใส่ใจอยู่เสมอ ซึ่งวิธีที่พวกเขาชดเชยเวลาที่เสียไปให้แก่ลูก คือการใช้เงินและสิ่งของในการแก้ปัญหา แต่จริงๆ แล้ว สิ่งที่ลูกต้องการที่สุดคือ “คุณ” ค่ะ การที่พ่อแม่ทอดทิ้ง ปล่อยปละละเลยลูกจะทำให้เขารู้สึกอ้างว้าง ขาดความอบอุ่น คิดว่าพ่อแม่ไม่รัก ซึ่งทำให้ลูกโตขึ้นมาเป็นคนขี้เหงา เข้ากับคนอื่นได้ยากและขาดความเชื่อมั่นในตนเอง

❒ 8. คุณให้เทคโนโลยีเป็นพี่เลี้ยงของลูก

ไม่ว่าจะทำอะไร หรืออยู่ที่ไหน คุณมักจะยื่นสมาร์ทโฟนหรือแทปเล็ตเป็นของเล่นให้ลูกรึเปล่า เพราะเห็นว่าพอลูกเล่นแล้วก็อยู่เฉยๆ นั่งอยู่หน้าจอได้นานเป็นชั่วโมงๆ ไม่ร้องไห้โวยวายหรือเรียกร้องอะไรเลย การที่คุณปล่อยให้เทคโนโลยีกลายเป็น ‘พี่เลี้ยง’ ของลูก จะทำให้คุณเสียใจอย่างแน่นอน เพราะผลเสียของการให้ลูกใช้เทคโนโลยีแต่เด็กจะส่งผลเสียต่อร่างกาย ทั้งดวงตา สมอง พัฒนาการด้านต่างๆ

จะดีกว่าไหม ถ้าเรากำหนดเวลาให้เขาเล่นเมื่อถึงวัยที่เหมาะสม และให้เขาใช้เวลาส่วนใหญ่ คลุกคลีอยู่กับเรา สร้างสายสัมพันธ์ของครอบครัวให้แนบแน่น

❒ 9. คุณเป็นแบบอย่างที่ไม่ดี เช่น พูดคำหยาบ โกหก ดื่มเหล้าสูบบุหรี่

พ่อแม่ก็เปรียบเสมือนกระจกสะท้อนเงาของลูก พ่อแม่เป็นอย่างไรลูกก็เป็นอย่างนั้น หากพ่อแม่เป็นแบบอย่างที่ไม่ดี เช่น พูดคำหยาบ ขี้โกหก ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ชอบใช้ความรุนแรง ลูกผู้ที่คลุกคลีกับพ่อแม่มากที่สุดก็จะซึมซับนิสัยเหล่านั้น จนกลายเป็นพฤติกรรมของตนเองโดยไม่รู้ตัว

ขอบคุณข้อมูลจาก