Parents One

คุณครูสามารถทำโทษเด็กได้ หากมีศิลปะการทำโทษอย่างสร้างสรรค์

เรียกได้ว่ากำลังเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากสำหรับข่าวของครูพี่เลี้ยงท่านหนึ่ง ที่ทำร้ายนักเรียนชั้นอนุบาล จนทำให้เด็กๆ หวาดกลัวไม่อยากไปโรงเรียนกัน จนผู้ปกครองได้ขอเข้าไปดูกล้องวงจรปิดกันเลย

วิธีการทำโทษในโรงเรียนถือเป็นเรื่องปกติ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่เองก็ผ่านช่วงวัยเด็กกันมา ก็คงจะคุ้นชินกับวิธีการทำโทษต่างๆ ทั้งดีและไม่ดีกันมาบ้างแล้ว แต่การทำโทษที่ดีก็สามารถทำได้เช่นกัน แต่คุณครูเองก็ต้องมีการทำโทษอย่างมีศิลปะกันด้วย จะเป็นยังไงไปดูกันเลย

วิธีการทำโทษอย่างสร้างสรรค์

วิเคราะห์เด็ก

เพราะเด็กแต่ละคนแต่ละช่วงวัยจะไม่เหมือนกัน ตัวของครูเองหากจะทำโทษนักเรียนสิ่งแรกเลยก็ต้องดูก่อนว่าเด็กที่เราจะทำโทษนั้นเขาอยู่วัยไหน อีกทั้งต้องวิเคราะห์ด้วยว่าเด็กๆ ได้รับการเลี้ยงดูมาแบบไหน เช่น พ่อแม่บางคนประคบประหงม ไม่เคยดุด่าลูกเลย หรือพ่อแม่บางคนก็เป็นสายฮาร์ดคอร์นั่นเอง

วิเคราะห์ความผิด

1.ความผิดของเด็กคืออะไร

คุณครูเมื่อเห็นนักเรียนทำผิด ควรพูดคุยและทำความเข้าใจเด็กก่อนและเคารพการตัดสินใจของเรียน และพยายามสอนเขาว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นเป็นสิ่งที่ไม่ดีและไม่ควรทำ โดยสิ่งสำคัญต้องไม่ใช้อารมณ์ในการตัดสินใจความผิดนั้นๆ

2.การลงโทษอย่างมีเป้าหมาย

วัตถุประสงค์หรือเป้าหมายในการลงโทษเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากการลงโทษหากใช้อารมณ์จะทำให้เด็กๆ ไม่ได้เกิดการสำนึกต่อสิ่งที่ทำผิด แต่จะเป็นการฝังใจในเรื่องที่ไม่ดีมากกว่า สิ่งที่ควรทำคือ เมื่อมีการลงโทษควรไตร่ตรองให้ดีก่อน เพราะสิ่งที่กระทำไปมีผลตามมากับเด็กๆ เสมอ เพราะการลงโทษเป็นการทำเพื่อประโยนชน์ของนักเรียน เพื่อให้เขามีนิสัยและความประพฤติที่ดีขึ้นนั่นเองค่ะ

3.รูปแบบการลงโทษที่ต้องใช้

การลงโทษก็เหมือนการสอนหนังสือ ที่นักเรียนแต่ละคนไม่สามารถรับรู้ได้เท่ากัน การสอนและการทำโทษก็เช่นกัน คุณครูเองก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนไปตามบุคคลด้วย ตัวอย่างการทำโทษ เช่น Time out แยกเด็กไปอยู่ตามลำพัง , รับผิดชอบและชดเชยในสิ่งที่ทำผิด , งดกิจกรรมที่ต้องการหรือที่ชอบ เป็นต้น

เริ่มลงโทษ

เมื่อเริ่มลงโทษคุณครูต้องพูดคุยกับเด็กก่อน พูดคุยถึงเรื่องราวและความรู้สึกที่เกิดขึ้น จากนั้นค่อยๆ ถามเขาถึงความผิดว่าเขาได้ทำผิดจริงหรือไม่ และยอมรับผิดนี้ไหม และถามถึงการทำโทษว่าคุณครูควรจะทำยังไงหรือลงโทษยังไงกับนักเรียนดี หากนักเรียนยอมรับและยอมให้เราทำโทษเพื่อสำนึกผิดก็สามารถทำโทษเด็กๆ ได้ แต่ทั้งนี้การลงโทษก็ควรที่จะเป็นการลงโทษแบบสร้างสรรค์ ไม่ใช่อารมณ์ เพราะจะทำให้เด็กๆ เกลียด กลัวคุณครูได้นั่นเอง

สะท้อนตัวเอง หลังการลงโทษเด็ก

เพราะการลงโทษในแต่ละครั้งคุณครูต้องหวังว่าเด็กๆ จะปรับพฤติกรรมให้ดีขึ้น และตระหนักถึงสิ่งที่ทำไปมากขึ้น ทำให้เมื่อเกิดการลงโทษแล้ว ต้องดูว่าเด็กๆ ตระหนักกับสิ่งที่ทำโทษไปหรือไม่ เด็กๆ แสดงพฤติกรรมก้าวร้าวอีกหรือเปล่า สิ่งที่ทำไปรุนแรง หรือเบาเกินไปไหม การทำเช่นนี้จะทำให้การทำโทษในแต่ละครั้งของคุณครูดูมีวัตถุประสงค์มากกว่า การทำโทษโดยใช้อารมณ์มาตัดสินนั้นเองค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก : Quan Srijomkwan