Parents One

แตกต่างแต่ไม่แตกแยก 6 เทคนิคการคุยที่เห็นต่างแต่ทำให้เข้าใจกันมากขึ้น

มีบ้านไหนเคยเจอปัญหานี้ไหมคะ คุยกันทีไรก็ทะเลาะกันทุกทีเพราะมีความเห็นที่ไม่ตรงกันตลอด ในช่วงแรกๆ ก็อยากพูดเพื่อปรับความเข้าใจแต่กลับไม่มีใครยอมใคร พอนานวันเข้าก็เลยปล่อยเลยตามเลย และพูดกันน้อยลง จนในที่สุดคนที่เคยคิดว่าเขาเข้าใจเราที่สุดในโลก กลับกลายเป็นคนแปลกหน้าที่เหมือนว่าเราไม่เข้าใจกันไปเลย ซึ่งจริงๆ เราสามารถคิดแตกต่างกันได้นะคะ แต่อยู่ที่ว่าเราจะทำยังไงให้ความแตกต่างนั้นช่วยให้เราเข้าใจกันมากขึ้น วันนี้เราจึงมีวิธีมาฝากค่ะ

เคารพในความคิดและความเชื่อของอีกฝ่าย

คนแต่คนคนย่อมมีความคิดและความเชื่อที่แตกต่างกัน และเราไม่มีทางที่จะบังคับให้อีกฝ่ายคิดเหมือนเราได้อย่างแน่นอน  ดังนั้นแต่ละฝ่ายจึงควรเคารพในความคิดและความเชื่อของคนอื่น อย่าไปพูดหลบหลู่หรือกระแนะกระแหน เพราะการทำแบบนั้นไม่มีอะไรดีขึ้น มีแต่จะสร้างความขุ่นข้องหมองใจให้กันและกัน หรือการบอกว่าสิ่งที่อีกฝ่ายเชื่อเป็นเรื่องที่แย่หรือไม่ถูกต้อง  เพราะบางทีเราอาจจะไม่ได้รู้เรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นจริงๆ หรือยังมองได้ไม่รอบด้าน บางครั้งก็อาจมีอคติบางอย่างแฝงอยู่ในใจโดยที่เราไม่รู้ตัวก็ได้ค่ะ

 

พูดด้วยเหตุผล ไม่ใช้อารมณ์

หากเราอยากจะหันหน้ามาพูดคุยในเรื่องที่คิดต่างหรือเข้าใจไม่เหมือนกัน ก็ควรพูดด้วยเหตุผลวางเรื่องอารมณ์ไปก่อน เพราะอารมณ์อาจทำให้สารที่เราต้องการจะสื่อมีความผิดเพี้ยนไป ถึงแม้ว่าบางเรื่องเราจะไม่เห็นด้วยแบบสุดๆ ก็ค่อยๆ ใช้เหตุผลในการอธิบาย อย่าใส่อารมณ์หรือทำเหมือนรำคาญเวลาที่อีกฝ่ายไม่เข้าใจนะคะ

 

ฟังให้จบ อย่าเพิ่งพูดขัดแม้ว่าไม่เห็นด้วย

หลายครั้งที่การสนทนามักจบลงอย่างไม่สวยนัก เพราะการพูดขัดจากความรู้สึกไม่ถูกใจในสิ่งที่อีกฝ่ายพูด ให้ลองคิดในมุมกลับกัน เป็นเราเราก็คงไม่ชอบให้ใครขัดในตอนที่กำลังพูด ดังนั้นจึงควรฟังให้มากกว่าพูด ฟังคนอื่นให้จบก่อนที่จะแสดงความคิดเห็นของตนเองกลับไป จริงๆ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ควรใช้ในทุกสถานการณ์ที่มีการพูดคุยกันค่ะ

 

เปิดใจรับฟังกันและกัน ฟังอย่างมี Emphathy

เดี๋ยวนี้คำว่า Emphathy เริ่มเป็นที่แพร่หลายมากขึ้น โดยคำว่า Emphathy นั้นคือการเข้าอกเข้าใจผู้อื่น ราวกับว่าเราได้สวมบทบาทเป็นเขา เรียกง่ายๆ คือเอาความรู้สึกของคนอื่นมาเป็นความรู้สึกของตัวเอง จะช่วยให้เราเข้าใจอีกฝ่ายได้เยอะมากๆ ว่าทำไม เพราะอะไร เขาถึงคิดหรือรู้สึกแบบนั้น ซึ่งพอเป็นแบบนั้นแล้ว เราก็จะเปิดในรับฟังอีกฝ่ายอย่างแท้จริง ฟังในสิ่งที่เขาคิดหรือรู้สึกจริงๆ เรื่องนี้อาจต้องใช้เวลาในการฝึกฝนสักหน่อยนะคะ แต่เชื่อว่าถ้าเราอยากเข้าใจอีกฝ่ายจริงๆ เรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะฝึกค่ะ

 

ใช้ภาษาดอกไม้ ไม่ใช้คำพูดแดกดัน

การเลือกใช้คำพูดหรือวิธีพูดนั้นสำคัญพอๆ กับสารที่เราต้องการจะสื่อออกไป การเลือกใช้คำพูดดีๆ นุ่มนวล มีความประนีประนอม ใช้น้ำเสียงที่เข้าอกเข้าใจก็จะช่วยให้อีกฝ่ายเปิดใจรับฟังเราได้พอสมควรเลยค่ะ แต่ในทางกลับกันถ้าเราเปิดเรื่องมาดูคำพูดแดกดัน กลไกป้องกันตนเองของคนเราก็จะตั้งป้อมขึ้นมาอัตโนมัติ ไม่ว่าจะพูดยังไงอีกฝ่ายก็คงปิดใจฟัง หนำซ้ำยังคงรู้สึกไม่ดีและเลือกหันหลังในการพูดคุยอย่างแน่นอนค่ะ

 

ให้คิดไว้เสมอว่าพูดเพื่อให้เข้าใจกัน ไม่ใช่เอาชนะ

การสื่อสาร คือสิ่งที่มนุษย์ทุกคนใช้เพื่อให้เกิดความเข้าใจกัน ซึ่งการที่เห็นต่างกันไม่ใช่เรื่องแปลก และการพูดคุยโต้เถียงหรือขัดแย้งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเช่นกัน เพราะบางครั้งการโต้เถียงก็อาจพาเราไปสู่มุมมองใหม่ๆ เห็นความจริงอีกด้านที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน และช่วยให้เราเข้าใจอีกฝ่ายมากขึ้น เพียงแต่ว่าเราต้องคิดไว้เสมอว่าการพูดคุยหรือโต้เถียงที่เกิดขึ้น มีเพื่อให้เราเข้าใจกันและกันมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องมีใครชนะในสงครามน้ำลาย เพราะบางทีชัยชนะนั้นอาจอยู่บนซากปรักหักพังของจิตใจอีกฝ่ายก็ได้