Parents One

DO&DON’T ไขข้อข้องใจ ป้อนยาลูกอย่างไรให้ถูกต้อง

“ผสมยาลงในขวดนมได้ไหม” “ลืมให้ยาก่อนอาหารทำไงดี” “ลูกแหวะออกมาหมดเลยหลังกินยา แบบนี้ต้องป้อนยาซ้ำหรือเปล่า”

ลูกป่วยทีไรหัวใจว้าวุ่น ถึงจะผ่านพ้นด่านการวัดไข้ และพบคุณหมอมาได้ก็ต้องเผชิญหน้ากับด่านสุดหินอย่างการป้อนยา เชื่อเลยว่าทุกครั้งที่จับกระบอกฉีด คว้าถ้วยป้อน มองลูกรักที่กำลังกอดอกทำท่าปั้นปึ่ง คุณพ่อคุณแม่คงจะมีคำถามเกิดขึ้นในใจมากมาย ทำอะไรได้บ้างไม่ได้บ้างสับสนไปหมด

วันนี้ Parents One รวบรวมทุกความสงสัยมาทำให้กระจ่าง เพื่อการป้อนยาที่คุณพ่อคุณแม่สบายใจหายเครียด ปลอดภัยไร้กังวล ถ้าพร้อมแล้วเรามาเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันเลยค่ะ

หากต้องผสมยากลบรสชาติ

✗ DON’T ผสมในขวดนม 

✓ DO ผสมน้ำหวาน หรือน้ำผึ้ง 

การผสมยาลงในขวดนมเป็นวิธีที่พ่อแม่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย สามารถสับขาหลอกเจ้าตัวน้อยได้แบบแนบเนียน แต่ในความเป็นจริงแล้ววิธีนี้เป็นวิธีที่ไม่ถูกต้องนะคะ เพราะแคลเซียมในนมจะไปจับตัวยา ทำให้ยาไม่ออกฤทธิ์ และหากเด็กๆ ดูดนมไม่หมด ยังจะได้รับปริมาณยาคลาดเคลื่อนอีกต่างหาก

ถ้าจำเป็นจะต้องผสมยาเพื่อแต่งรสให้ทานง่ายขึ้น แนะนำเป็นการใช้น้ำหวานหรือน้ำผึ้งจะดีกว่า และคุณพ่อคุณแม่ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าลูกยกดื่มจนหมดเกลี้ยงนะคะ  

  

✗ DON’T  ป้อนยาขณะเด็กดิ้นหรือร้องไห้  

✓ DO รอให้สงบ  

พ่อแม่บางท่านอาจเล่นทีเผลอ อาศัยจังหวะที่เด็กร้องไห้โยเย หรือดิ้นพล่านไปมาจับกรอกยาใส่ปาก วิธีนี้เป็นวิธีที่อันตรายมากค่ะ มีความเสี่ยงสูงที่เด็กจะสำลัก ควรรอให้ลูกสงบลงเสียก่อนแล้วจึงป้อนยา  

 

✗ DON’T  หลอกลูกว่ายามีรสหวาน  

✓ DO อธิบายด้วยเหตุผล  

รสชาติของยาเป็นอย่างไร เมื่อลูกกินยาเข้าไปก็จะรับรู้ได้ทันที ฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรหลอกว่ายามีรสหวานตั้งแต่แรก ถึงแม้จะทำให้ลูกยอมกินได้ในครั้งนี้ แต่ลูกจะเกิดความไม่ไว้วางใจ และไม่อยากจะกินยาอีกเลย ทำให้การป้อนยาครั้งต่อไปยุ่งยากมากกว่าเดิม ทางที่ดีควรนั่งพูดคุยกัน อธิบายด้วยเหตุผลว่าทำไมลูกถึงต้องกินยา  

 

เมื่อป้อนยาด้วยกระบอกฉีด

✗ DON’T ฉีดยาลงคอโดยตรง  

✓ DO ฉีดไปที่ข้างกระพุ้งแก้ม 

เวลาใช้กระบอกฉีด (Syringe) ป้อนยาควรฉีดตัวยาไปบริเวณกระพุ้งแก้ม ปล่อยให้ตัวยาไหลลงไปเอง ไม่ใช่ฉีดลึกลงไปในลำคอโดยตรง เพราะจะทำให้เด็กสำลัก กลายเป็นประสบการณ์ที่ไม่ดีในการกินยา คราวต่อไปอาจกลัว และไม่ยอมให้ความร่วมมือในการป้อนยาอีก  

 

เมื่อลืมป้อนยามื้อใดมื้อหนึ่ง

✗ DON’T ป้อนยาซ้ำเพราะลืมกินยา  

✓ DO ข้ามยามื้อนั้นไปก่อน  

ยาแต่ละชนิดมีการระบุช่วงเวลาที่ต้องกินอยู่ชัดเจน สำหรับยาก่อนอาหาร ถ้าเกิดว่าลืมป้อนยาลูกให้ข้ามยามื้อนั้นไปก่อนได้เลย และไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณการป้อนยาในครั้งถัดไป ส่วนยาหลังอาหาร ถ้ารับประทานอาหารมายังไม่เกิน 30 นาที สามารถป้อนยาได้ แต่ถ้าเกินไปกว่านี้ ควรรอมื้อถัดไป และไม่ต้องเพิ่มปริมาณการป้อนยาในครั้งถัดไป  

 

เมื่อลูกอาเจียนขณะป้อนยา

✗ DON’T ป้อนยาซ้ำเพราะลูกอาเจียน 

✓ DO พิจารณาระยะเวลาเสียก่อน ถ้าอาเจียนทันทีสามารถให้ซ้ำได้ แต่ถ้าอาเจียนหลังจากนั้น ควรข้ามไปก่อน  

การอาเจียนหลังกินยาเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง หากป้อนยาแล้วลูกอาเจียนให้พิจารณาระยะเวลาระหว่างเริ่มป้อนยากับตอนอาเจียน ถ้าอาเจียนทันทีหลังป้อนยาก็สามารถให้ยาซ้ำได้ แต่ถ้าลูกอาเจียนหลังจากนั้นสักพัก ให้ข้ามยามื้อนั้นไปก่อน เพื่อป้องกันการได้รับยาเกินขนาด  

  

เมื่อลูกต้องกินยาหลายขนาน

✗ DON’T ผสมยาทุกขนานรวมกัน  

✓ DO ป้อนยาทีละขนาน

“ไหนๆ กินยาก็ต้องลงไปรวมกันในท้องอยู่ดี แบบนี้ผสมยาทุกตัวที่ต้องกินรวมกันเลยได้ไหมนะ จะได้ไม่เสียเวลา ไม่ต้องสู้ไม่ต้องงัดกับลูกเพื่อป้อนยาหลายรอบด้วย” คำตอบคือไม่ได้เด็ดขาดเลยค่ะ เพราะยาอาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างกัน มีทั้งลดฤทธิ์ของตัวยา ทำให้กินยาเท่าไรก็ไม่ดีขึ้น และมีการเพิ่มฤทธิ์ของยาจนเป็นอันตรายร้ายแรงได้  

 

✗ DON’T ข่มขู่ ดุด่าจนลูกหวาดกลัว  

✓ DO ใจเย็น กล่าวชื่นชม อุ้มปลอบใจ  

ทุกครั้งที่ลูกดื้อ พูดไม่ฟัง แน่นอนว่าคุณพ่อคุณแม่จะต้องมีน้ำโห แต่ขอให้คุณพ่อคุณแม่อดทนเข้าไว้ ยิ่งเราแสดงความโกรธ ยิ่งใช้อารมณ์ก็มีแต่จะทำให้ลูกต่อต้าน พยายามที่จะเอาชนะมากขึ้นไปอีก คุณพ่อคุณแม่ควรใจเย็นๆ ใช้วิธีละมุนละม่อม ค่อยพูดค่อยจา และเมื่อลูกยอมกินยา ควรกล่าวชื่นชมทุกครั้งเป็นกำลังใจที่เขาสามารถก้าวข้ามผ่านความกลัวได้สำเร็จ 

 

✗ DON’T ซื้อยาให้ลูกเอง  

✓ DO ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร  

คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรซื้อยาให้ลูกกินเอง โดยเฉพาะกับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปี ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกชนิด รวมถึงไม่ควรตัดสินใจหยุดยา หรือเลิกใช้ยาเอง ควรกินยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด 

ด้วยความที่ระบบภูมิคุ้มกันของเด็กเล็กยังทำงานได้ไม่เต็มที่ ทำให้เด็กเล็กเป็นช่วงวัยที่เสี่ยงต่อการป่วยได้ง่ายที่สุด ในขณะเดียวกันก็เป็นวัยที่มีโอกาสจะเกิดอันตรายจากการกินยาได้ง่ายเช่นเดียวกัน จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่คุณพ่อคุณแม่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

นอกเหนือไปจากข้อปฏิบัติเหล่านี้ ยังมีรายละเอียดเกี่ยวกับปริมาณการให้ยา การใช้ยาในเด็กเล็กอีกมากที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องศึกษาเพิ่มเติม หรือปรึกษาคุณหมอ ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัย และสุขภาพร่างกายของเจ้าตัวเล็กเองนะคะ 

และถ้าหากว่ามีเกร็ดความรู้เรื่องใดที่น่าสนใจอีก รับรองว่า ParentsOne จะนำมาฝากคุณพ่อคุณแม่ทุกท่านอีกแน่นอนค่ะ

ที่มา :