Parents One

อย่าบ่นหนูเลย! ผลเสียที่เกิดกับลูกเมื่อพ่อแม่ขี้บ่นพร้อมเทคนิคแก้ไข

“ทำไมเล่นของเล่นแล้วไม่เก็บ รกเต็มบ้านไปหมดแล้ว คราวหลังแม่จะเก็บไปทิ้งให้หมดเลย อย่าคิดว่าจะได้เล่นอีกนะถ้าหนูเล่นแล้วไม่เก็บแบบนี้” ประโยคนี้อาจเป็นประโยคที่คุณพ่อคุณแม่หลายคนเคยใช้พูดกับลูกเพื่อให้ลูกทำตามที่ต้องการ แต่คุ้นๆ ไหมคะ ว่าประโยคเหล่านี้เหมือนเป็นคำพูดที่พ่อแม่ของเราเคย “บ่น” เราเด๊ะเลย ลูกก็คงรู้สึกไม่ต่างกันว่าคำพูดแบบนี้ คือ “การบ่น” กันชัดๆ เลยนี่นา และการบ่นลูก นอกจากจะทำให้ลูกรู้สึกรำคาญแล้ว ยังส่งผลเสียมากกว่าที่คิด ดังนั้นเราไปดูกันดีกว่าค่ะ ว่าการบ่นลูกจะส่งผลเสียต่อลูกยังไง แล้วเราจะทำยังไงให้ไม่กลายเป็นคนขี้บ่นแบบนี้ค่ะ

ทำไมถึงขี้บ่น

ถ้ามีแข่งขันการบ่น คุณพ่อคุณแม่หลายคนๆ อาจกลายเป็นแชมป์ไปแล้ว ทั้งๆ ที่ก่อนจะมีลูก เราอาจไม่ได้เป็นคนขี้บ่นแบบนี้ แต่ทำไมพอมีเจ้าตัวเล็กแล้ว อาการขี้บ่นกลับเพิ่มมากขึ้นซะงั้น เรื่องนี้มีเหตุผลค่ะ แต่ก่อนอื่นเรามาเช็กกันหน่อยว่าคุณพ่อคุณแม่มีอาการเหล่านี้รึเปล่า

ถ้ามีครบ นั่นหมายความว่าคุณแม่คุณแม่กลายเป็นคนขี้บ่นไปซะแล้วค่ะ ซึ่งการบ่นนั้น เกิดขึ้นจากหลายปัจจัยมากๆ แต่เหตุผลหลักๆ ก็คือ เป็นเพราะเราคาดหวังให้ลูกทำในสิ่งที่ต้องการ เช่น การเก็บของเล่นหลังเล่นเสร็จ แต่เราไม่ใช่แค่พูดธรรมดาๆ แต่มีการพูดใส่อารมณ์ พูดไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีข้อตกลงที่ชัดเจนตั้งแต่แรก หรือมีข้อตกลงแต่ว่าเราก็ไม่ได้จริงจังหรือเข้มงวดกับข้อตกลงนั้น รวมไปถึงไม่ได้มีการลงโทษชัดเจน เมื่อเป็นแบบนั้นนานเข้าลูกก็ไม่ได้รู้สึกว่าต้องทำตามที่เคยตกลงกันไว้ พ่อแม่ก็ทำอะไรไม่ได้ สุดท้ายก็เลยลงเอยที่ “การบ่น” นั่นเองค่ะ

 

ผลเสียต่อลูกเมื่อพ่อแม่ขี้บ่น

บ่นนานๆ ก็อาจจะบั่นทอนหัวใจ… ไม่ว่าใครก็ไม่ชอบการบ่นด้วยกันทั้งนั้น ทั้งตัวคนบ่นเอง และคนที่ถูกบ่น ซึ่งการบ่นนั้นนอกจากจะทำให้คนฟังรู้สึกรำคาญแล้ว ยังส่งผลเสียต่อเด็กมากกว่าที่คุณพ่อคุณแม่คิด โดยการที่เราพูดซ้ำซากๆ วนแต่เรื่องเดิมๆ พูดไปเรื่อยแบบยืดยาว จะทำให้เด็กจับประเด็นไม่ถูกว่าแม่กำลังพูดถึงเรื่องอะไร เด็กที่ถูกบ่นบ่อยๆ เลยมักจะมีปัญหาในเรื่องของพัฒนาการทางด้านอารมณ์ อีกทั้งพอลูกไม่เข้าใจหรือไม่ทำตาม พ่อแม่ก็อาจโมโหและดุหรือตี ก็จะส่งผลให้ลูกเกิดอาการดื้อต่อต้าน โมโห หงุดหงิดง่าย รวมไปถึงอาละวาดบ่อยเมื่อโดนดุมากเข้าค่ะ

 

ทำยังไงไม่ให้เป็นคนขี้บ่น

แน่นอนว่าการที่พ่อแม่บ่นย่อมหวังดี และใส่ใจลูก เพราะถ้าไม่สนใจจริงๆ ก็คงไม่เสียเวลามานั่งจ้ำจี้จำไช บ่นจนปากเปียกปากแฉะหรอกใช่ไหมคะ แต่การที่เราจะบอกให้ลูกทำตามที่เราบอกไม่จำเป็นต้องบ่นเสมอไปค่ะ เราสามารถปรับเปลี่ยนวิธีการพูด หรือสร้างข้อตกลงร่วมกันได้ ดังนั้นถ้าอยากเลิกเป็นคนขี้บ่นก็ลองทำตามเทคนิคเหล่านี้ได้เลย

อย่างแรกคือ เมื่อเห็นว่าลูกไม่ทำตามที่เราต้องการก็ขอให้ใจเย็นๆ และตั้งสติก่อนนะคะ อย่าเพิ่งพรั่งพรูคำพูดมากมายออกมา แต่ให้เราพูดเรื่องที่ต้องการให้ลูกทำแบบ “สั้นๆ” ขอเนื้อๆ ไม่เน้นน้ำ เช่น หนูช่วยเก็บของเล่นได้ไหมคะ และเสียงที่ใช้ต้องเป็นน้ำเสียงที่ไม่ดุดันหรือกระโชกโฮกฮาก หรือลองเปลี่ยนน้ำเสียงตามสถานการณ์นั้นๆ เช่น อยากให้ลูกไปอาบน้ำ ก็ทำเสียงสนุกๆ เหมือนว่าการอาบน้ำเป็นเรื่องสนุกดูค่ะ

นอกจากนี้ เราอาจจะเสนอทางเลือก แทนการสั่งให้ลูกทำ เช่น ถ้าลูกยังไม่ได้อาบน้ำและกินข้าว ก็อาจให้ลูกเลือกว่าเข้าอยากจะทำอะไรก่อน เพื่อให้เขารู้สึกมีส่วนร่วมในการตัดสินใจนั้นๆ และเป็นสิ่งที่เขาอยากทำเอง เราก็จะไม่ต้องพูดให้มากความ

อย่างสุดท้ายคือ ก่อนที่เราจะทำอะไร เราควรมีข้อตกลงกับลูกให้ชัดเจน และต้องพูดจริงทำจริง เช่น ข้อตกลงของเราคือ หลังเล่นของเล่นจะต้องเก็บให้เรียบร้อยทุกครั้ง ถ้าไม่เก็บ หนูจะอดเล่นของเล่นในวันพรุ่งนี้ หลังจากที่ลูกเล่นเสร็จ แล้วเขาไม่เก็บของเล่น ก็ให้เรา พูดสั้นๆ เพื่อเป็นการ “เตือน” ว่าเขายังไม่ได้ทำตามข้อตกลงของเรานะ ถ้าลูกยังไม่ทำอีก ก็พาเขามาช่วยกันเก็บ และบอกข้อตกลงของเราว่าวันนี้หนูไม่ได้เก็บเองตามที่เราตกลงไว้ งั้นพรุ่งนี้งดเล่น 1 วันนะคะ

การปรับเปลี่ยนนิสัยของเราและลูกอาจเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าเกิดตั้งใจว่าจะทำแล้ว และสิ่งนั้นจะเกิดผลดีมากกว่าการบ่น ก็ถือเป็นเรื่องที่ควรลองปรับดูนะคะ เพราะทั้งเราและลูกจะได้เข้าใจกัน รวมไปช่วยให้ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวดีขึ้นอีกด้วยค่ะ

 

ข้อมูลอ้างอิงจาก