Parents One

วิธีล้างจมูกให้ลูกง่ายๆ คุณแม่มือใหม่ก็ทำได้

 

ได้ยินคำว่าล้างจมูกขึ้นมา ไม่ใช่แค่เด็กๆ ที่กลัว ผู้ใหญ่บางคนยังกลัวค่ะ ว่ามันจะล้างได้ยังไง จะสำลักไหม อันตรายหรือเปล่า จริงๆ ถ้าทำได้ถูกวิธีจะง่ายและดีมากๆ ค่ะ เพราะจะช่วยให้ลูกที่มีน้ำมูกเยอะ จากการเป็นหวัดหายได้เร็วขึ้น ซึ่งคราวที่แล้วเราได้พูดถึงเหตุผลที่คุณแม่ควรล้างจมูกให้กับลูกไปแล้ว สามารถเข้าไปอ่านเพิ่มเติมได้ที่ 8 เหตุผลที่คุณแม่ควรล้างจมูกให้ลูก  ส่วนวันนี้เราจะมาสอนวิธีล้างจมูกให้ลูกกันค่ะ ว่าคุณแม่ต้องทำอะไร เตรียมอะไร อย่างไรบ้าง

สิ่งที่ต้องเตรียม

  1. น้ำเกลือความเข้มข้น 0.9% ซึ่งหาซื้อได้จากร้านขายยาทั่วไป (น้ำเกลือที่ใช้เหลือให้เททิ้ง ห้ามนำกลับมาใช้ใหม่)
  2. ถ้วยสะอาดสำหรับใส่น้ำเกลือ
  3. กระบอกฉีดยาพลาสติกขนาด 10-20 ซีซี (ถ้าเด็กเล็กจะเริ่มจาก 5 ซีซี ก่อนก็ได้)
  4. จุกต่อสำหรับล้างจมูก
  5. ภาชนะรองน้ำจมูกและเสมหะ
  6. ผ้าสะอาดไว้ห่อตัว และเช็ดน้ำมูก

วิธีการล้าง

1. ใช้ผ้าสะอาดห่อตัวลูก

ใช้ผ้าสะอาดห่อตัวลูก เพื่อไม่ให้เสื้อผ้าเลอะเทอะ

2. ดูดน้ำเกลือเข้ากระบอกฉีดยา

นอกจากนั้นต้องไม่ลืมบอกลูกก่อนว่าจะเริ่มล้างแล้วนะคะ เพื่อให้ลูกไม่ตกใจกลัวค่ะ

3. สอดปลายกระบอกฉีดยาเข้าไปในรูจมูก

โดยสอดเข้าไปในข้างที่จะล้าง(ทำทีละข้าง) โดยวางปลายกระบอกฉีดยาชิดรูจมูกด้านบน ควรให้ลูกก้มหน้าเล็กน้อย หรืออยู่ในท่าศีรษะตรง

4. ฉีดน้ำเกลือเข้าไปในจมูก

ให้ฉีดจนน้ำเกลือและน้ำมูกไหลออกทางปาก หรือไหลย้อนออกมาทางจมูกอีกข้าง

5. ให้ลูกสั่งน้ำมูกออกมาจนหมด

สั่งน้ำมูกพร้อมๆ กันทั้งสองข้าง (ไม่ต้องอุดรูจมูกอีกข้าง) และบ้วนน้ำมูก เสมหะที่ไหลลงคอทิ้ง ทำซ้ำหลายๆ ครั้งในแต่ละข้างจนไม่มีน้ำมูกออกมา เท่านี้ลูกน้อยก็หายใจได้สะดวกแล้วค่ะ

ข้อควรระวัง 

– ถ้าลูกไม่สบาย เป็นหวัด ควรนำน้ำเกลือมาอุ่นก่อนเพราะน้ำเกลือเย็นๆ จะทำให้เยื่อบุโพรงจมูกบวมกว่าเดิม วิธีการอุ่น ก็มีทั้งการเอาขวดน้ำเกลือ ไปแช่ในน้ำร้อนประมาณ 5 นาที หรือจะนำน้ำเกลือใส่ภาชนะสะอาด เข้าไมโครเวฟประมาณ 10 วินาที ก่อนนำมาใช้ต้องเช็คอุณหภูมิที่หลังมือเราก่อน ต้องไม่ร้อนมากจนเกินไป แค่พออุ่นๆ ให้หลังมือเราทนได้
– น้ำเกลือและอุปกรณ์ที่ใช้ล้างจมูกต้องสะอาดไม่ควรใช้ต่อเนื่องนานเกินไป โดยทั่วไปใช้ขวดละ 100 ซีซี เพื่อให้หมดเร็วจะได้ไม่เกิดการติดเชื้อได้ง่าย นอกจากนี้ ควรล้างจมูกเมื่อมีน้ำมูกเหนียวข้นจำนวนมาก (ถ้าน้ำมูกใส และมีจำนวนเล็กน้อยให้สั่งออกมา)
– หลังฉีดน้ำเกลือเข้าไปในโพรงจมูกให้สั่งน้ำมูกออกทันที ไม่ควรกลั้นหายใจเพื่อกักน้ำเกลือให้ค้างในจมูกนาน เพราะน้ำเกลืออาจจะไหลย้อนไปในไซนัส และการสั่งน้ำมูกให้สั่งเบาๆ และไม่ต้องอุดรูจมูกอีกข้าง เพราะอาจทำให้แก้วหูทะลุได้