Parents One

ทำไมผู้หญิงญี่ปุ่นถึงนิยมเป็น”แม่บ้านเต็มตัว”กันนะ ?

หลายๆ คนอาจจะสงสัยว่า เอ๊ะ ทำไมผู้หญิงญี่ปุ่นถึงเป็นแม่บ้านกันเยอะมากๆ หลังจากที่แต่งงานกันไปแล้วก็อยู่บ้านเลี้ยงลูก ทำงานบ้าน เป็นกิจวัตรที่วนเวียนไปอยู่ในทุกๆ วัน แตกต่างจากประเทศไทยนิดหน่อยที่บางครอบครัวนิยมที่จะให้คุณภรรยาทำงานไปด้วยเลี้ยงลูกไปด้วย แบ่งเบาภาระของกันและกัน แต่ที่ญี่ปุ่นนั้นมีความคิดที่แตกต่างออกไป

จากผลสำรวจจากเว็บไซต์ www.sirabee.com พบว่าจากผลสำรวจจะมีผู้หญิงที่ต้องการเป็นแม่บ้านเต็มตัวถึง 1 ใน 3 โดยผลสำรวจจากผู้หญิงอายุ 20-60 ปี หลังจากแต่งงานแล้วอยากจะเป็นแม่บ้านเต็มตัวและไม่อยากที่จะออกไปทำงานนอกบ้านเหมือนกับคุณผู้ชาย วันนี้เราเลยอยากจะมาสรุปเหตุผลที่ผู้หญิงญี่ปุ่นอยากเป็นแม่บ้านเต็มตัวมาให้ดูกัน

สะดวกสบาย

หน้าที่ของการเป็นแม่บ้านเต็มตัว หลักๆ คือ การทำงานบ้าน ดูแลลูกๆ คอยช่วยเหลือสามี ทำกับข้าว ซื้อของเข้าบ้าน ฟังดูแล้วอาจจะลำบากแต่ถ้าเฉลี่ยแล้วเวลาทำงานบ้านทั้งหมดจะกองอยู่ที่ช่วงเช้า ตั้งแต่ประมาณตี 4-8 โมงเช้า นั่นคือเวลาหลังจากสามีไปทำงานแล้วนั่นเอง เพราะหลังจากที่สามีออกไปทำงาน ก็เป็นหน้าที่ของแม่บ้านอย่างเราๆ ที่ต้องเก็บกวาดบ้าน ซักผ้า ตากผ้า กิจกรรมทุกอย่างของแม่บ้านจะเสร็จไม่เกินเที่ยง ฉะนั้นเวลาที่เหลือช่วงบ่ายถึงเย็นก็จะเป็นเวลาพักผ่อน หรือออกไปเที่ยวกับเพื่อนๆ

ได้ใกล้ชิดกับลูก

แม่บ้านบางคนเพิ่งจะมีลูกไม่นานยังไม่ได้เข้าอนุบาล ก็จะมีเวลาอยู่กับลูกทั้งวัน พาลูกไปเดินเล่นบ้าง ไปเที่ยวตลาดบ้าง พาไปเจอเพื่อนๆ บ้าง นับว่าได้ดูแลลูกแบบเต็มเวลาด้วย

มีรายได้

ผู้หญิงญี่ปุ่นถึง 5% ที่คิดว่าจะได้รายได้จากการเป็นแม่บ้านเต็มตัวถึง 2 ล้านเยนต่อปี (ประมาณเกือบ 6 แสนบาท/ปี = 50,000 บาท/เดือน) เพราะคิดว่าการเป็นแม่บ้านจะได้เงินจากคุณสามีบ้างในแต่ละเดือนแต่ก็ไม่ใช่เป็นแบบนั้นเสมอไป เป็นความคิดส่วนหนึ่งของผู้หญิงที่คิดจะเป็นแม่บ้านเต็มตัวเท่านั้น เพราะที่ญี่ปุ่นร้านค้ามากมายที่ต้อนรับแม่บ้านเต็มตัวในการทำงาน Parttime ด้วย แม่บ้านบางคนก็เลือกที่จะช่วยสามีในการแบ่งเบาภาระเรื่องค่าใช้จ่ายโดยการไปหางานพิเศษทำในระหว่างที่ลูกไปโรงเรียนก็มีนะคะ

ไม่อยากไปทำงาน

เพราะสังคมการทำงานของญี่ปุ่นการเป็นเพศหญิง บางครั้งก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้รู้สึกกดดันจากเจ้านาย ได้ทำงานเป็นเลขาบ้าง ได้เป็นพนักงานทั่วไปแต่กลับต้องไปชงกาแฟ และรับใช้เจ้านายนอกเหนือหน้าที่บ้าง ทำให้รู้สึกอึดอัดในการทำงาน และไม่อยากไปทำงานจึงเลือกที่จะอยากเป็นแม่บ้านเต็มตัวมากกว่า

มีสังคมเป็นของตัวเอง

ในญี่ปุ่นด้วยความที่เป็นประเทศที่ไม่ใหญ่มาก ส่วนมากบ้านก็จะเป็นบ้านที่อยู่ไม่ไกลกัน ในยามเย็นส่วนมากก็จะพาลูกๆ ไปเล่นที่สวนสาธารณะ ไปเดินซื้อของทำกับข้าวที่ตลาดบ้าง จึงเป็นเรื่องไม่ยากที่จะได้พบกับคนที่เป็นแม่บ้านเต็มตัวด้วยกัน และได้ใช้เวลาว่างร่วมกันทำกิจกรรมที่เหมือนกัน พาลูกไปเที่ยวด้วยกันบ้าง ไปตลาดด้วยกันบ้าง เป็นสังคมเล็กๆ ที่ได้ทำอะไรด้วยกันด้วย

 

ที่มา 幼児教育ママ , sirabee และ cinema