Parents One

ทำไมผู้ชายต้องเป็นสีฟ้า ผู้หญิงต้องเป็นสีชมพู? เมื่อความชอบของลูกไม่จำเป็นต้องอยู่ในกรอบของเพศ

เป็นค่านิยมที่เราคุ้นเคยกันเป็นปกติว่าผู้ชายต้องใช้สีฟ้าผู้หญิงต้องใช้สีชมพูรวมกับกิจกรรมและความชอบต่างๆที่ถูกเหมารวมว่าเป็นของเพศใดเพศหนึ่งเท่านั้นอาจฟังดูเป็นเรื่องปกติแต่ที่จริงแล้วการจำกัดกรอบของเพศให้แก่ลูกน้อยนั้นนอกจากจะเป็นการจำกัดทางเลือกให้กับตัวเด็กแล้วยังให้โทษมากกว่าประโยชน์แก่ตัวเขาในอนาคตอีกด้วย

ความชอบของเด็กนั้นไม่จำเป็นต้องมีกรอบของเพศมากำหนดเลย เราทุกคนมีอิสระที่จะทำในสิ่งที่ชอบโดยไม่ต้องปิดบัง และไม่ต้องคำนึงถึงว่าผู้หญิง/ผู้ชายเขาไม่ทำกันนี่นาอีกต่อไปกันแล้วค่ะ

วันนี้ ParentsOne เลยอยากมาเล่าให้ฟังว่าค่านิยมของเพศนั้นมาจากไหน ทำไมสัญญะอย่างสีถึงถูกนำมาผูกกับเพศ กับค่านิยมของเพศและทำไมเราถึงไม่จำเป็นต้องยึดตามนั้น จะเป็นยังไงกันบ้าง เราไปดูกันดีกว่าค่ะ!

สีฟ้าของผู้หญิง สีชมพูของผู้ชาย?

เด็กทารกชายก็ต้องใส่เสื้อสีฟ้า เด็กทารกหญิงก็ต้องใส่เสื้อสีชมพู เป็นสัญญะทางเพศที่ยากจะเลี่ยงเพราะสีเหล่านี้ถูกปลูกฝังลงในส่วนหนึ่งของชีวิตเราไปเรียบร้อยแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เมื่อถามเด็กๆ ว่าชอบสีอะไร เขาก็จะตอบสีฟ้า สีน้ำเงิน ในขณะที่เด็กผู้หญิงจะตอบว่าชอบสีชมพู สีแดง สีม่วง

รู้หรือไม่ว่าในอดีตนั้น สีฟ้าเคยถูกจำกัดไว้ว่าเป็นสีของเด็กผู้หญิง เพราะเป็นสีที่อ่อนโยน นุ่มนวลกว่า และในแง่ศาสนาแล้วนั้นถือเป็นสีเดียวกับผ้าคลุมของพระแม่มารีในขณะที่สีชมพูนั้นถูกมองว่าเป็นสีที่แข็งแกร่งกว่า สื่อถึงการรบ ชัยชนะเหมือนสีแดง จึงถูกตีว่าเหมาะกับเด็กผู้ชายมากกว่า

จุดเริ่มต้นของสีบอกเพศ

แต่แล้วความเชื่อเหล่านี้ก็ถูกเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ เมื่อการตลาดเสื้อผ้าแฟชั่นของประเทศสหรัฐอเมริกาได้ส่งเสริมแนวคิดว่าสีฟ้าเป็นของเด็กผู้ชาย สีชมพูเป็นของเด็กผู้หญิงซึ่งปรากฎการณ์นี้ได้มาเป็นระลอกๆ ในช่วงยุค Baby Boomer (~.. 1940) ก่อนจะหายไปเมื่อมีการเคลื่อนไหวของสิทธิสตรีในช่วงค.. 1970 เมื่อสังคมตื่นรู้เรื่องความเสมอภาคทางเพศและส่งเสริมแฟชั่นแบบ unisex มากขึ้น

แต่แล้วความคิดนี้ก็กลับมาอีกครั้งอย่างเป็นถาวรเมื่อช่วงปีค.. 1980 บวกกับเทคโนโลยีอัลตราซาวด์ที่สามารถทำให้คุณพ่อคุณแม่สามารถรู้เพศของลูกได้ตั้งแต่ก่อนคลอด บริโภคนิยมจึงฉวยโอกาสใช้การค้นพบใหม่นี้ส่งเสริมการตลาด ผลักดันให้สีของเพศนั้นยิ่งรุนแรงขึ้นไปอีก

อ่านมาถึงจุดนี้แล้ว เราอาจจะเริ่มสงสัย ว่าความชอบของเรานั้นถูกหยิบยื่นให้โดยการตลาดตั้งแต่เริ่มเลยหรือเปล่านะ?

 

เด็กและเพศสภาพ

ก่อนจะเข้าใจข้อเสียของการจำกัดกรอบความชอบของลูกให้อยู่ในเพศของตัวเอง ควรเข้าใจพัฒนาการของเพศสภาพและเพศภาวะในตัวเด็กก่อน แม้ว่าในวัยทารกนั้นเจ้าหนูอาจจะยังไม่เข้าใจ แต่เมื่อเขาโตขึ้น เขาจะค่อยๆ เรียนรู้และเข้าใจว่าตัวเองเป็นใคร ชอบอะไรค่ะ ซึ่งแบ่งเป็นขั้นๆ ดังนี้:

2-3 ปี: เด็กเข้าใจว่าตัวเองเป็นเพศอะไร และผู้ชายกับผู้หญิงแตกต่างกันอย่างไรบ้าง

4-5 ปี: จุดยืนของเพศเริ่มคงตัว ถึงแม้ว่าสามารถเปลี่ยนได้ในอนาคต เด็กเริ่มรู้ว่าของเล่นชนิดไหนเหมาะสำหรับเพศอะไร บางคนถึงขั้นแสดงเพศสภาพของตัวเองชัดเจน

6-7 ปี: เริ่มเข้าใจจุดยืนในเพศสภาพของตนเอง ในวัยนี้จะเริ่มเลือกของเล่น หรือชุดที่ตัวเองชอบ ไม่แสดงเพศสภาพชัดเจนจนเกินไปด้วยรู้ว่าผู้อื่นสามารถรู้เพศของตัวเองได้แล้ว แต่สำหรับเด็กที่เพศสภาพและเพศของตัวเองนั้นไม่ตรงกัน อาจจะเริ่มมีความรู้สึกวิตกกังวลเพราะตนเองไม่เหมือนกับเพื่อนๆ หรือรู้สึกแตกต่างจากเด็กคนอื่น

8 ปีขึ้นไป: วัยแห่งการค้นหาและเรียนรู้ เด็กบางส่วนปักหลักกับเพศที่ตนเลือกแล้ว บางส่วนจะเริ่มค้นหาเพศสภาพที่ใช่สำหรับตนเอง เด็กในวัยนี้สามารถรับอิธิพลจากรอบข้างเพื่อพัฒนาความชอบและเพศสภาพของตนผ่านครอบครัว สังคม และเพื่อนฝูงค่ะ

ซึ่งในวัย 8 ปีขึ้นไปนั้น คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรผลักดันความชอบในกรอบของคำว่าเพศ แต่ควรเสนอตัวเลือกต่างๆ ให้เขาได้เรียนรู้และค้นหาตัวตนโดยไม่ถูกปิดกั้นค่ะ

จะเป็นอะไรไหม ถ้าลูกชายชอบเล่นตุ๊กตา ลูกสาวชอบเล่นหุ่นยนต์?

แน่นอนว่าคุณพ่อคุณแม่อาจจะกังวลเป็นเรื่องปกติถ้าเห็นลูกน้อยเล่นของเล่น หรือชื่นชอบสิ่งที่ไม่ตรงกับเพศสภาพ แต่อันที่จริงแล้วไม่จำเป็นต้องกังวลเลยค่ะ ในทางกลับกัน ควรส่งเสริมให้ลูกน้อยได้รู้จักและเล่นกับของเล่นหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นตัวต่อ ตุ๊กตา หุ่นยนต์ รถของเล่น รวมไปถึงสีสันในสิ่งของหรือเสื้อผ้าที่เขาใส่ ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่การได้เล่นของเล่นหลากหลายและทำความรู้จักกับสิ่งของที่ไม่ตรงกับเพศสภาพนั้น นอกจากจะทำให้ตัวลูกน้อยได้เข้าใจความแตกต่าง และยังให้เขามีสิทธิ์ในการเลือกสิ่งที่เขาชอบอีกด้วยค่ะ

เมื่อโตขึ้น เขาจะไปในทางที่เขาชอบเอง ซึ่งนั่นอาจจะหมายความว่าลูกน้อยจะชอบในสิ่งที่ตรงกับเพศสภาพของเขาหรือไม่ตรงก็ได้ และมันไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติเลยแม้แต่นิดเดียว อย่าลืมว่าความสุขของลูกนั้นเป็นความสำคัญอันดับแรก หน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่คือการให้ความรัก ความเข้าใจ ส่งเสริมให้เขาทำในสิ่งที่ชอบไม่ว่าจะตรงกับค่านิยมที่สังคมกำหนดเกี่ยวกับเพศสภาพหรือไม่ ให้เขาเติบโตต่อไปได้ด้วยจิตใจที่แข็งแรงค่ะ