Parents One

อยากให้คนเก่งยิ้มได้ทุกวัน ต้องทำอย่างไร

” ยิ้มให้กล้องหน่อยสิลูก ”

” ทำไมชอบทำหน้าบูดหน้าบึ้ง ไม่รับแขกเลย ”

” เก็บตัวอยู่คนเดียวอีกแล้วนะ โกรธอะไรอีกล่ะ ”

” มีเพื่อนบ้างรึเปล่าเนี่ย มีใครคบไหม ทำไมชอบทำตัวมีปัญหา ”

เคยไหมคะที่พอคนเก่งของบ้านเข้าสู่วัยประถมจนถึงวัยรุ่นมัธยมจะเริ่มแยกตัวออกห่าง, เริ่มมีโลกส่วนตัวสูง ไม่เอาใคร, บุคลิกเริ่มเปลี่ยนไป จากที่เคยสดใสร่าเริง ชางพูดช่างคุย ถ้าแต่แรกเริ่มด้วยบุคลกลูกเป็นคนเก็บตัวและพูดน้อยก็คงไม่รู้สึกต้องห่วงอะไรแต่ถ้าเมื่อไหร่ที่จากช่างฉอเลาะ ช่างเจรจาเริ่มแสดงอาการต่างๆ ออกมาว่ากำลังไม่มีความสุขหรือกำลังมีเรื่องเก็บเงียบไว้ในใจจนทำให้ไม่ยิ้มแย้มหรือปลีกตัวออกห่างจากครอบครัวตลอดเวลา พ่อแม่แบบเราเองก็คงรู้สึกไม่ดีไปด้วยแน่ๆ อยากจะเข้าใจและอยากช่วยเหลือทุกทาง

เรามาเรียนรู้สาเหตุและหาทางออกที่จะช่วยให้คนเก่งของบ้านมีความสุขและยิ้มได้ไปด้วยกันนะคะ

 

ช่วงวัยเปลี่ยนไปแต่ใจยังเหมือนเดิม

ความสดใสและความไร้เดียงสาเป็นปัจจัยหลักสำคัญที่ทำให้พฤติกรรมของเด็กแต่ละคน ยิ่งเขาได้เรียนรู้ว่าโลกภายนอกเป็นอย่างไรก็จะยิ่งทำให้ยิ้มยากขึ้นในทุกๆ วันเพราะรอบตัวนั้นเต็มไปด้วยเรื่องที่ดีและไม่ดี ปะปนกัน ยิ่งเจอเรื่องที่ทำให้ทุกข์หรือยิ่งรู้จักกับสิ่งที่เรียกว่าความรับผิดชอบจนขาดความเดียงสาในวัยเยาว์ ก็ยิ่งทำให้รอยยิ้มนั้นน้อยลงไปเรื่อยๆ ซึ่งกว่าอาการของความทุกข์จะเริ่มแสดงผลจนคนเป็นพ่อเป็นแม่จับสังเกตได้ คนเก่งของเราก็สะสมความทุกข์เหล่านั้นขึ้นมาในระดับที่มากเกินจะช่วยเหลือซะแล้ว

คำว่าขอพื้นที่เล็กๆ ให้ยังเป็นเด็กไปนานๆ มันคือเรื่องจริงที่เด็กทั้งหลายกำลังประสบแต่ไม่รู้ตัวและผู้ปกครองเองก็เช่นกัน

 

สังคมที่เปลี่ยนไวแต่วิ่งไล่ไม่ทัน

ทุกคนย่อมมีการปรับตัวเมื่อเข้าไปอยู่ในสถานที่หรือองค์กรใหม่ๆ กับเด็กเองก็ต้องมีการปรับตัวเพื่อให้เขากลายเป็นผู้ใหญ่หรือต้องไปพบเจอกับเพื่อนใหม่ บางครั้งความอึดอัดใจหรือความประหม่าก็จะถ่าโถมเข้ามาจนไม่ทันได้ระวัง รู้ตัวอีกทีก็กลายเป็นเด็กที่ไม่มีความกล้าที่จะเข้าสังคมกับคนอื่น เก็บเนื้อเก็บตัว ไม่ต้องการที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับใครซึ่งในจังหวะเดียวกัน หากคุณพ่อคุณแม่ไม่ได้ทำความเข้าใจและทำการตักเตือนหรือฝืนบังคับให้เขาต้องพบเจอกับสิ่งที่หนีรึต่อต้านเพราะรู้สึกเป็นสิ่งที่ควรทำจนไม่ทันได้ใส่ใจความรู้สึกของลูกว่าต้องการหรือไม่ต้องการ

ความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนหรือถูกปิดกั้นก็จะไม่จบเพียงกับสังคมรอบข้างแต่ภายในบ้านเองก็คงจะถูกเปลี่ยนไปด้วยอย่างแน่นอนเพราะเขารู้สึกเราไม่ใช่พวกเดียวกัน

 

มีคนอยู่รอบกายแต่ไม่มีใครเข้าใจจริงสักคน

หากว่าการเดาใจคู่ชีวิตว่ายากแล้ว การเดาใจลูกนี่น่าจะยากยิ่งกว่า แม้เราจะเรียนรู้และดูแลมาตั้งแต่ยังแบเบาะแต่ต้องไม่ลืมว่าสิ่งที่เราเลี้ยงเขาได้นั้น อาจมีเพียงร่างกายแต่ความคิดหรือจิตใจนั้นเป็นสิ่งที่สัมผัสหรือแตะต้องได้ยากกว่ามากนัก ความทุกข์ใจของลูกคนเป็นพ่อเป็นแม่มักจะรู้เป็นคนสุดท้ายเสมอเวลาเกิดปัญหาใดๆ ขึ้น

เหตุอาจเกิดจากความไม่ไว้ใจ , ระยะห่างของวัยรึแม้แต่ประสบการณ์ที่ได้ใช้ร่วมกันอาจไม่มากพอ ทำให้ลูกไม่มีความกล้ามากพอที่จะปรับทุกข์หรือบอกทุกสิ่งให้เราได้รับรู้

 

ครอบครัวพร้อมหน้าแสนอบอุ่นแต่ความจริงไม่ใช่อย่างที่ฝัน

นอกจากปัจจัยภายนอกแล้วกับเรื่องภายในบ้านเองก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยและอาจส่งผลต่อความรู้สึกได้มากยิ่งกว่า ในบางครั้งการปะทะกันของตัวคุณพ่อคุณแม่เองไม่ว่าจะเป็นเพียงเรื่องเล็กๆ ไปจนเรื่องใหญ่ๆ คนที่สะท้อนความหวาดกลัวและความเศร้าได้ดีที่สุดก็คงไม่ใช่ใครอื่นนอกจากลูก พอสะสมมากก็ส่งผลให้ลูกรู้สึกไม่ปลอดภัยและอยากจะหนีให้ไกลจากภาพที่ติดตาอยู่ทุกวัน สุดท้ายก็กลายเป็นคนยิ้มยาก เก็บตัวไม่ชอบสุงสิงไม่ว่ากับพ่อหรือแม่

 

วิธีช่วยให้รอยยิ้มของคนเก่งกลับมา

สิ่งแรกที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องทำเป็นอันดับต้นคือการสังเกตพฤติกรรมและความชอบของลูกว่าเป็นไปในแนวทางไหนแล้วเลือกที่จะปฏิบัติตามลักษณะที่เหมาะสมกับเขา เพราะเด็กทุกคนนั้นแตกต่าง การเรียกรอยยิ้มหรือความไว้เนื้อเชื่อใจให้กลับมาก็ย่อมแตกต่างกันออกไป มาดูกันเลยค่ะ

เรียนรู้ปัญหาของลูกและไม่มองข้ามความรู้สึก

สิ่งแรกที่เราทำให้ได้คือ ไม่คิดแทนว่าปัญหาที่เขาพบเจออยู่หนักหรือเบาเท่าไหร่ ไม่ติดใช้คำว่า ” แค่นี้เอง ” ,  ” ไม่เห็นจะเป็นอะไรเลย ” , “สมัยพ่อ/แม่ลำบากกว่านี้อีก ” เพราะการมองปัญหาของเขาและเราไม่เท่ากัน  เช่นนั้นแล้วคุณพ่อคุณแม่จะต้องไม่ตีกรอบปัญหาของเขาว่าใหญ่หรือเล็กแต่ให้มุ่งไปถึงปัญหาที่เกิดว่าเกิดจากอะไรและพ่อแม่จะมีส่วนร่วมช่วยได้อย่างไรบ้าง ซึ่งการเข้าหาเพื่รับฟังนั้นต้องมีขั้นตอน

  1. สอบถามปัญหาด้วยความอดทน แม้ลูกจะไม่ยอมพูดก็ต้องค่อยๆ พูดถามด้วยไมตรีต่อไป
  2. ในระหว่างรับฟังปัญหา ไม่ขัดจังหวะตอนลูกเล่าแต่เลือกที่จะฟังให้จบก่อนตัดสินใจให้ความเห็นโดยคำนึงอยู่เสมอว่า ไม่ว่าปัญหาจะเป็นอะไรต้องไม่แสดงความเห็นเชิงลบเช่น ” ลืมๆ ไปเถอะ “, ไม่เห็นมีอะไรเลย คิดมาก “
  3. เมื่อรับฟังแล้วให้ลองพูดคุยเพื่อถามลูกก่อนว่าอยากให้ผลออกมาในทางไหนและช่วยแก้ไขแต่ต้องไม่ยัดเยียดให้ทำตามทุกอย่างที่คิด เพราะสิ่งหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องให้ความสำคัญที่สุดคือการเชื่อมั่นในสิ่งที่ลูกคิดและสนับสนุนให้มันดีขึ้นหรือไปในทางที่ถูกต้อง
เป็นพวกเดียวกับลูกไม่ว่าจะในทางตรงหรือทางอ้อม

หากมีสุภาษิตที่ว่าอยากได้ลูกเสือก็ต้องเข้าถ้ำเสือ การจะพิชิตใจลูกก็ต้องเข้าไปอยู่ในใจลูกเช่นกัน ซึ่งพอได้ยินแบบนี้คงจะรู้สึกท้อแล้วแน่ๆ ขนาดพยายามคุยอยู่ทุกวันลูกยังไม่ยอมคุยด้วยจะทำได้อย่างไร มาลองดูวิธีเหล่านี้ค่ะ

  1. ทำกิจกรรมหรือเล่นเกมส์เดียวกันกับลูก เพราะบางครั้งการที่เราต่างมีโลกเป็นของตัวเอง อาจทำให้เราเข้าหาและเข้าถึงตัวของลูกได้ยาก ดังนั้นหากได้ลองทำกิจกรรมร่วมกัน ความสัมพันธ์ก็จะดีขึ้น
  2. ลองดูภาพยนตร์หรือการ์ตูนที่ลูกชอบเพื่อที่จะได้มีประเด็นในการพูดคุยบนโต๊ะอาหารหรือเวลาขับรถมากขึ้น เมื่อมีสิ่งที่รับรู้ร่วมกัน การสนทนาก้จะคล่องตัวมากขึ้น
  3. สังเกตสิ่งที่ลูกชอบทำเช่น ทำอาหาร กีฬาชนิดที่โปรดหรือแม้แต่การทดลองทำสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ และลองเรียนรู้ถึงสิ่งเหล่านั้นเพื่อที่จะได้เข้าใจถึงความชอบของเขารวมไปถึงการเตรียมความพร้อม, ส่งเสริมในสิ่งที่เขาชอบอย่างจริงจัง
  4. เมื่อได้รับรู้แล้วว่าสิ่งใดที่เป็นปัญหาของลูก ต้องหาทางพูดคุยที่แสดงให้เห็นถึงความห่วงใยและจริงใจ เช่นอาจจะยกกรณีของตัวเองขึ้นมาว่าก็เคยประสบและรู้สึกแย่เช่นกัน ” ไม่แปลกใจที่ลูกจะมองว่าปัญหานี้เป็นปัญหาที่มองข้ามไม่ได้ “, ” พ่อ/แม่เข้าใจลูกมากๆ มีอะไรก็บอกได้นะ พร้อมฟังลูกเสมอ
ส่งต่อความรู้สึกด้วยการกอด

หลายบ้านเมื่อลูกเริ่มโตหรือเข้าสู่วัยที่มีโลกส่วนตัว สัมผัสจากการกอด, การหอมก็จะน้อยลงไปตามอายุที่สวนทางซึ่งในความจริงแล้ว การกอดหรือหอมไม่ว่าจะวัยไหนก็ทำให้ลูกได้เสมอ เพราะอย่าลืมว่าในวัยที่ลูกยังเล็กทุกครั้งที่เขาร้องไห้หรือเสียใจก็มีเพียงสองแขนของพ่อแม่นี่ล่ะที่ปลอบประโลมและคอยช่วยให้ลูกรู้สึกปลอดภัยและอุ่นใจอยู่เสมอ ดังนั้นเมื่อลูกรู้สึกไม่ดีหรือกำลังมีปัญหากอดและแสดงความเป็นห่วงได้ไม่ต้องเขินอายไปกับการแสดงความรัก แต่จังหวะการกอดก็ต้องมีช่วงขอมันนะคะ ถ้าลูกยังอยู่ในช่วงไม่พร้อมก็รอเวลาสักนิดแล้วจึงค่อยเข้าไป

ใช้ความสุขในการเลี้ยงลูกให้เป็นเรื่องปกติ

ในบางครั้งการมีความสุขหรือช่วงเวลาดีๆ มักจะเกิดขึ้นในช่วงพิเศษเท่านั้น เช่นวันเกิด, วันเรียนจบ, วันสอบติดซึ่งจริงๆ แล้วคุณพ่อคุณแม่สามารถสร้างความสุขหรือสร้างความรู้สึกพิเศษได้ทุกวันโดยไม่ต้องรอให้ถึงเทศกาลที่จำเป็นให้มีความสุข อาทิ วันนี้เราได้กลับมาทานข้าวกันพร้อมหน้าเลยมื้อที่มีกับข้าวหรืออาหารที่หลากหลายกว่าทุกวัน, ลูกสามารถอาบน้ำหรือนอนคนเดียวได้แล้วก็ให้รางวัลด้วยขนมสุดโปรดหรือให้คำชื่นชม

ใช้ความชอบและความรู้สึกดีๆ ในการเลี้ยงจะช่วยให้ลูกเรียนรู้ที่จะมองทุกอย่างด้วยพลังบวกและใช้ความสุขในการขับเคลื่อนอารมณ์ต่างๆ ของตน

 

ที่มา : th.wikihow , today.line