Parents One

ฟังด้วยใจไม่ใช่แค่หู เทคนิคฟังยังไงให้รับรู้ด้วยใจจริงๆ

การฟัง เป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกๆ คนจะต้องเรียนรู้ทักษะนี้ แต่รู้ไหมคะว่าจริงๆ แล้ว การฟังเหมือนเป็นเรื่องง่าย แต่จริงๆ ไม่ง่ายเลย หากเราต้องฟังด้วยใจ ไม่ใช่แค่หูเพียงอย่างเดียว ซึ่งการฟังด้วยใจคือ เอาใจจดจ่ออยู่กับเรื่องที่ผู้เล่ากำลังเล่าให้เราฟัง หลายครั้งที่เราเหมือนจะละเลยคนรอบตัว คู่ชีวิต รวมไปถึงลูกๆ แบบไม่รู้ตัว เพียงเพราะว่าเราฟังแบบผิวเผิน วันนี้เรามาเปิดใจฟังกันให้มากขึ้นดีกว่าค่ะ

ต้องฟังแบบไม่มีอคติ

“อคติ” เป็นสิ่งแรกที่ทำให้สารเล่าไปไม่ถึงผู้ฟัง เพราะคนที่ฟังมักจะมีกำแพงในใจต่อสิ่งที่ผู้อื่นกำลังเล่า หากเรื่องนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ตรงกับความรู้สึกหรือความคิดของคนฟัง ซึ่งพอเรามีอคติต่อเรื่องนั้นๆ แล้ว เราก็จะปิดหู ปิดตา ไม่ยอมรับฟังในสิ่งที่อีกฝ่ายกำลังพูด โดยที่ไม่ทันได้เปิดใจฟัง หรือวิเคราะห์สิ่งที่ได้ฟังเสียก่อนก็ปฏิเสธไปแล้ว

ดังนั้นเวลาที่เราจะรับฟังใครก็ควรวางอคติลงและเปิดใจรับฟัง ลองฟังมุมมองของคนเล่าดูบ้าง ก็จะทำให้เข้าใจกันมากขึ้น

อย่าใจลอยเวลาฟัง

เวลาที่เราเล่าอะไรให้คนอื่นฟัง ก็คงจะรู้สึกไม่ดีใช่ไหมคะ ถ้าผู้ฟังไม่สนใจในสิ่งที่เรากำลังพูด ไม่ว่าจะเป็นการทำตาล่อกแล่ก นั่งเล่นโทรศัพท์มือถือ หรือดูก็รู้ว่าใจลอยไปไหนต่อไหน ไม่ได้ตั้งใจฟังจริงๆ เช่นเดียวกันกับเวลาที่มีคนมาเล่าอะไรให้เราฟัง เราก็ควรที่จะรับฟังเขาอย่างจริงๆ จังๆ ไม่ใช่ฟังไปแบบผ่านๆ ให้จำไว้เสมอว่าการที่เขามาเล่าให้ฟัง นั่นหมายความว่า เขาเลือกแล้วว่าเราเป็นคนที่เขาไว้ใจที่สุด

เพราะการทำเป็นฟังทั้งๆ ที่ไม่ได้รับฟังจริงๆ อาจทำให้ผู้พูดรู้สึกแย่มากกว่าที่คิด

ปลดธงที่ปักไว้ในใจลงก่อนฟัง

คนที่มีธงในใจ จะคิดไปล่วงหน้าอยู่แล้วว่าคนที่เล่ากำลังเล่าอะไร และเรื่องนี้จะมีผลลัพธ์แบบไหน หลายครั้งเลยมักจะพูดแทรกเวลาที่คนอื่นกำลังเล่าอะไรให้ฟัง เพราะคิดว่าตัวเองรู้สิ่งที่กำลังเล่าจึงมีคำตอบที่คิดไว้ในใจ และพูดสิ่งที่ตัวเองคิดโดยไม่ได้คำนึงว่าผู้เล่ากำลังรู้สึกอะไรอยู่ เช่น คุณพ่อเล่าว่าวันนี้ทำงานเหนื่อยมาก แต่คุณแม่กลับพูดประมาณว่า ทำงานก็ต้องเหนื่อยสิ ทำงานบ้านก็เหนื่อยเหมือนกัน แทนที่จะได้รับฟังปัญหากัน กลับเพิ่มความรู้สึกไม่อยากเล่าขึ้นมาแทน

ดังนั้นการจะรับฟังด้วยใจและเข้าใจคนรอบตัวเราให้มากขึ้น จึงจำเป็นที่จะต้องปลดธงที่เราปักไว้ในใจลงเสียก่อน และรับฟังในสิ่งที่คนรอบตัวเราเล่า เพื่อที่จะได้รับสารที่เขาต้องการสื่อจริงๆ

อย่าเพิ่งให้คำแนะนำ

ในหลายๆ ครั้ง คนเราก็เพียงต้องการแค่คนรับฟัง เพื่อบอกกล่าวความรู้สึกหรือเล่าปัญหาที่ตัวเองเจอมาให้คนอื่นฟัง โดยที่ไม่ได้ต้องการคำแนะนำอะไรมากนัก แต่เป็นคนฟังนี่แหละ ที่มักสวมบทเป็นคนช่างแนะโดยมักจะชอบเอาตัวเองมาแทนความคิดหรือความรู้สึกของผู้อื่น เลยมักจะชอบให้คำแนะนำหรือพูดว่า “เรื่องแค่นี้เอง เราเคยเจอมาแล้ว ลองทำอย่างนี้สิๆ” พอเป็นแบบนั้นคนที่อยากจะเล่าก็จะรู้สึกว่า สิ่งที่เล่าไปไม่ได้มีความสำคัญ และทำให้การพูดคุยในครั้งนั้นจบลงด้วยความรู้สึกไม่สบายใจ

ดังนั้นหากมีใครมาเล่าปัญหา หรือต้องการระบายความรู้สึกบางอย่าง คนรับฟังก็ควรฟัง ปล่อยตัวเองให้เป็นโหลว่างๆ ไม่ต้องนึกหรือคิดแทนคนอื่น รวมไปถึงเก็บคำแนะนำเอาไว้ใช้เมื่อเขาร้องขอ ก็จะดีกว่าให้คำแนะนำอยู่ตลอดเวลา